น.พ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงผลความคืบหน้าจากที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ซึ่งมี น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน โดยยืนยันชัดเจนว่าแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ หรือไวต์แอสเบสตอส ที่ยังคงมีการใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนของวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง มีอันตรายเท่ากับแร่ใยหินประเภทอื่นๆที่ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ทางกรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อสรุปทั้งหมดนำส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมยื่นผลสรุปของคณะกรรมการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงนามรับรองผลการประชุม
โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน ก่อนจะยื่นให้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีการพิจารณายกเลิกการใช้อย่างถาวรต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังตั้งคณะกรรมการเพื่อเฝ้าระวัง เก็บข้อมูลเชิงลึกผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาระบบการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน
พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพิษภัยจากแร่ใยหินให้กับประชาชนทั่วไป และเฝ้าระวังการบริโภคแร่ใยหินที่มีอยู่ในท้องตลาดในเวลานี้ ซึ่งเหลืออยู่เพียงชนิดเดียวคือไครโซไทล์ หรือไวต์ แอสเบสตอส หรือแร่ใยหินขาวที่ยังคงมีอยู่ในท้องตลาด โดยการแจ้งเตือนผ่านฉลากผลิตภัณฑ์ และเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อธุรกิจ นอกจากนี้ มีฉลากเตือนปรากฏบนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขจะทำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดกับสุขภาพของประชาชนให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ผลสรุปใหม่ที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีผลให้เกิดการควบคุมการบริโภคผ่านฉลากเตือนบนผลิตภัณฑ์ และส่งผลให้วัสดุก่อสร้างประเภทกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องยาง และท่อซีเมนต์ หลายรายการ กลายเป็นสินค้าควบคุมพิเศษ เพราะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 24 มี.ค.2557