เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า วันที่ 1 มิถุนายน ทุกปี องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (FAO) กำหนดให้เป็นวันดื่มนมโลก (World Milk Day) เพื่อให้ประเทศและองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญและสนับสนุน รณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสรรพคุณของนม และดื่มนมอย่างเพียงพอ เนื่องจากนมมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับทุกวัย มีสารโปรตีนคุณภาพดีและมีปริมาณแคลเซียม มีผลต่อการสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง และการพัฒนาไอคิวหรือความเฉลียวฉลาดทางปัญญา สธ.มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยดื่มนมจืดโดยเฉพาะเด็กไทย เพื่อสร้างแคลเซียม ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง เริ่มตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ โดยเฉพาะนมโคสดแท้ ไขมันต่ำ รสจืด มีคุณค่าโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก ช่วยสร้างกระดูก มีผลต่อการพัฒนาด้านความสูง เพื่อให้เด็กไทยเติบโตอย่างสมวัย แข็งแรง และร่างกายสมส่วน สูง และสมาร์ท
“ผลสำรวจล่าสุด พบว่าเด็กไทยดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยคนละประมาณ 14 ลิตรต่อปี ต่ำกว่าเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก 3-7 เท่าตัว โดยเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดื่มเฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี ขณะที่เด็กทั่วโลกดื่มเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี ส่งผลให้เด็กไทยเมื่อมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ มีความสูงเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างเตี้ย ผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร และผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตร เท่านั้น โดยเฉลี่ยเด็กไทยขณะนี้มีสัดส่วนความสูงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 61 จะเพิ่มให้ได้เป็นร้อยละ 70 เพื่อให้ทัดเทียมต่างประเทศ โดยให้เด็กผู้ชายต้องสูงเฉลี่ยให้ได้ 181.75 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 162 เซนติเมตร และคนไทยอายุยืน 80 ปี ภายในปี 2566” นพ.ณรงค์กล่าว
ทางด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มีผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการดื่มนมวันละประมาณ 2 แก้ว หรือประมาณ 400-500 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) ร่วมกับการกินอาหารครบ 5 หมู่ และการออกกำลังกายประเภทที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ บาสเกตบอล และโหนบาร์ จะช่วยเพิ่มความสูงได้ นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของสำนักโภชนาการ โดยนำนมโคสดแท้เป็นนมจืด นมปรุงแต่งรสหวาน นมเปรี้ยว ปริมาณ 100 มิลลิลิตรเท่ากัน มาเปรียบเทียบคุณค่าสารอาหาร พบว่านมโคสดแท้จะให้สารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ แคลเซียม 135 มิลลิลิตร โปรตีน 3.3 กรัม วิตามินเอ 71 มิลลิกรัม และ วิตามันอี 0.22 มิลลิกรัม ในขณะที่นมปรุงแต่งรสหวานกลับให้สารที่จำเป็นลดลง คือ แคลเซียม ลงลดเหลือ 102 มิลลิกรัม โปรตีน 2.3 กรัม วิตามินเอ 28 มิลลิกรัม และวิตามินอี 0.16 มิลลิกรัม ดังนั้น นมโคสดจืดจึงเป็นนมที่มีคุณสมบัติดีที่สุดในการดื่มเพื่อผลของการมีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ การดื่มนมจืดจะลดพฤติกรรมการติดหวาน ลดเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน และลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุด้วย
“เด็กที่มีรูปร่างเตี้ยที่เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูจะมีผลเสียหลายด้าน กล่าวคือ ด้านสติปัญญา การเรียนรู้ พบว่าส่วนใหญ่จะมีไอคิวต่ำกว่าเด็กที่มีส่วนสูงตามวัย โดยพบว่าเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยไอคิวเพียง 98.59 ขณะที่ไอคิวค่ากลางของมาตรฐานสากลเท่ากับ 100 และอาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพบางอาชีพ ผู้หญิงที่มีรูปร่างเตี้ย หากตั้งครรภ์อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างคลอดได้ เนื่องจากกระดูกเชิงกรานแคบ มีโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม และอาจเกิดภาวะเช่นนี้ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้” นพ.พรเทพกล่าว และว่า ในการพัฒนาความสูงของเด็กให้สมวัยมีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ เด็กหญิงจะเริ่มเจริญเติบโตเร็วในช่วงชั้นประถมศึกษาที่ 6 ส่วนเด็กผู้ชายจะเติบโตเร็วในช่วงมัธยมศึกษาที่ 1 จึงขอให้เตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยนี้ ทั้งเรื่องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ 5 หมู่ และหลากหลาย รวมทั้งเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ พร้อมดื่มนมทุกวัน โดยในวัยเด็กก่อนวัยเรียนให้ดื่มนมชนิดธรรมดา 2-3 แก้ว วัยเรียนดื่มนมวันละ 2 แก้ว เนื่องจากเด็กต้องมีการเจริญเติบโต ส่วนวัยผู้ใหญ่เป็นวัยที่ต้องการสารอาหารเพื่อใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ จึงขอแนะนำให้ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ดื่มนมชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยวันละ 1 แก้ว ส่วนหญิงที่ตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรให้ดื่มวันละ 2 แก้ว ซึ่งแคลเซียมที่อยู่ในนมจะช่วยบำรุงกระดูกมารดาและสร้างกระดูกทารกในครรภ์
นพ.พรเทพกล่าวว่า ประชาชนยังมีความเข้าใจเรื่องการดื่มนมไม่ถูกต้อง โดยเข้าใจว่าลูกจะโตสูงใหญ่ได้ควรจะต้องดื่มนมแทนน้ำเปล่า ซึ่งแม้ว่าข้อมูลทางวิชาการจะไม่มีผลเสียต่อร่างกาย แต่ก็ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เพราะหลังการดื่มนมแล้วจะทำให้อิ่ม ไม่อยากกินอาหารอย่างอื่นอีก ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุด คือให้ดื่มนมหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 1 แก้ว หากผู้ที่ดื่มนมแล้วมีอาการท้องอืด ท้องเสีย อาการดังกล่าวเป็นผลมาจากดื่มนมไม่ต่อเนื่องหรือไม่ดื่มประจำตั้งแต่เด็ก โดยคนเอเชียส่วนใหญ่จะมีน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสอยู่ในนมจะลดลงมากเมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป จึงทำให้ไม่เพียงพอที่จะไปย่อยน้ำตาลดังกล่าว แต่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการเริ่มต้นดื่มในปริมาณน้อยๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพ และไม่ควรดื่มขณะท้องว่าง
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงผลการวิจัยโครงการสำรวจภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน หรือ SEANUTS (South East Asia Nutrition Sur) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบเด็กไทยมีปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ขาดการออกกำลังกาย อ้วน เตี้ย และไอคิวต่ำ ว่าปัญหาดังกล่าวมีการพูดถึงมานาน กรมอนามัยและ สสส. ได้ให้ความสำคัญมาตลอด ด้วยการสนับสนุนให้มีโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ส่งเสริมให้เด็กกินผักและผลไม้ รณรงค์ให้เป็นโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่จากผลการวิจัยของ SEANUTS ออกมาล่าสุด ทำให้ต้องทบทวนยุทธศาสตร์ให้เข้มข้นมากกว่านี้และให้มีแนวทางแก้ไขตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
นายสง่ากล่าวว่า กรมอนามัย สสส. และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ได้มีโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย โดยศึกษาระหว่างปี 2552-2556 เพื่อให้ท้องถิ่นและชุมชนเห็นความสำคัญของการส่งเสริมโภชนาการในเด็ก ด้วยการบรรจุแผนงานส่งเสริมโภชนาการในแผนพัฒนา ดำเนินการให้ครอบครัว ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน ส่งเสริมให้เด็กกินผัก ผลไม้ อาหารให้ครบ 5 หมู่ และลดอาหารหวาน มัน เค็ม โดยดำเนินงานนำร่อง 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา ภูเก็ต เพชรบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
“ผลการดำเนินการพบว่า 1.ท้องถิ่นมีศักยภาพและความพร้อมในการส่งเสริมโภชนาการแก่เด็ก 2.มีหลายชุมชนบรรจุแผนโภชนาการในแผนงานพัฒนา และ 3.ท้องถิ่นสามารถดำเนินงานได้ดี ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ ดังนั้น เมื่อจะมีการปฏิรูปประเทศแล้ว ภาครัฐควรหาแนวทางพัฒนาเด็กไทยให้มีโภชนาการสมวัยด้วย” นายสง่ากล่าว และว่า มีข้อเสนอแนะในการดำเนินงานเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ คือ 1.กำหนดให้การส่งเสริมโภชนาการในเด็กเป็นนโยบายระดับชาติ 2.ให้บูรณาการงานโภชนาการไว้ในงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 3.ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทในการพัฒนาเด็ก 4.ให้ภาคธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้ดีต่อสุขภาพ อาทิ ขนมหรืออาหารว่าง ควรไม่หวาน มัน เค็ม 5.รณรงค์ส่งเสริมให้ทุกคนกินผักผลไม้อย่างจริงจัง และ 6.ให้มีระบบเฝ้าระวังและติดตามด้านโภชนาการอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม กรมอนามัย สสส. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการแผนอาหารแห่งชาติ จะร่วมกันทำงานเพื่อให้ยุทธศาสตร์ข้างต้นดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤตเด็กไทยไม่ได้มีเฉพาะในเชิงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ถ้ามองวิกฤตดังกล่าวในเชิงสังคม และการศึกษา จะเห็นว่าปัญหานี้เข้าขั้นวิบัติ เกินกว่าคำว่า ผอม อ้วน เตี้ย และโง่ไปมากแล้ว เพราะมีเรื่องของยาเสพติด ความรุนแรง และติดเกมเข้ามาเพิ่ม จึงทำให้ภาพรวมเด็กไทย 60-70% ด้อยคุณภาพ และยิ่งเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ไม่ได้ส่งเสริมพัฒนาการด้วยแล้ว ระยะยาวทรัพยากรมนุษย์ของไทยจะด้อยคุณภาพในทุกด้าน ดังนั้น ตนจึงอยากให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เข้ามาดูแลปัญหาในเชิงสังคมเรื่องนี้ให้มากขึ้น โดยอยากให้มองในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา และปรับแก้กฎหมายที่ทำให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้น
ที่มา : มติชน 2 มิ.ย.2557