เช้าวันที่ 2 คณะผู้ศึกษาดูงานได้ออกเดินทางไปยังสหทัยมูลนิธิ ภาคใต้ โดยนางสาวนฤมล อินทรโชติผู้อำนวยการสหทัยมูลนิธิ ภาคใต้ ได้กล่าวต้อนรับ และเริ่มทำกิจกรรมรักษ์คลอง และกิจกรรมปลูกต้นโกงกางและต้นจาก โดยแบ่งกลุ่มผู้ศึกษาดูงานออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อนั่งเรือช่วยชาวบ้านเก็บขยะในลำคลอง และช่วยกันปลูกต้นจาก ต้นโกงกาง ในช่วงเช้า และเมื่อผู้ศึกษาดูงานได้ทำกิจกรรมรักษ์คลองเรียบร้อยแล้ว ต่างพากับอาบน้ำเปลี่ยนชุด เพื่อรับคูปองทานอาหาร เดินช็อป ชิมใช้ ในตลาดสุขใจ บ้านในไร่ ที่ทางสหทัยมูลนิธิจัดขึ้นทุกวันเสาร์อีกด้วย ซึ่งตลาดนี้เปิดให้ชาวบ้าน และผู้ใช้บริการของสหทัยมูลนิธิได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจำหน่ายสินค้าออแกนิค สินค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน ซึ่งเป็นเสมือนการส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ใช้บริการอีกทางหนึ่งเช่นกัน และในตลาดยังกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ และชุมชนได้เข้ามาทำกิจกรรมการแสดงสืบสานศิลปะพื้นบ้าน การแสดงของเด็ก ๆ รวมไปถึงการรณรงค์การไม่ใช้พลาสติกเพื่อลดโลกร้อนอีกด้วย
หลังจากนั้นในช่วงบ่าย นางณัฎฐิกา แจ่มจรัส หัวหน้างานส่งเสริมสวัสดิการเด็กและครอบครัวสู่ชุมชน ได้จัดทำกิจกรรมการเรียนรู้ “ ฐานหัวใจมีสุข ในวิถีพอเพียงขึ้น ” เพื่อให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนกัน โดยจะแบ่งกลุ่มออกไปตามฐานต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ แล้วให้ช่วยกันคิดกิจกรรม , ผลของกิจกรรมนั้น ๆ ที่จะสามารถนำมาปรับใช้กับเด็ก ที่จะเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์แห่งนี้
หลังจากเสร็จกิจกรรมเรียนรู้ฐานแล้ว นางฐิติพรรณ นวพิพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาฯ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ภาคใต้ และนายไกรสร พาลิชัน เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ภาคใต้ ได้มาร่วมให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนการทำงานเกี่ยวกับเด็กพิการในภาคใต้ รวมทั้งได้เล่าประวัติความเป็นมาของ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ภาคใต้ ฝ่ายพัฒนาศักยภาพเด็กพิการโดยชุมชนนครศรีธรรมราชนั้น เริ่มจากโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเด็กพิการโดยชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2540 มุ่งเน้นให้ครอบครัว ชุมชนเป็นฐานในการฟื้นฟูและพัฒนาเด็กพิการ โดยอาศัยทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆมีการทำงานร่วมกับสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลขุมชน โรงพยาบาลระดับอำเภอ และกลุ่มผู้ปกครองเด็กพิการ ในการอบรมให้ความรู้ ทักษะ การฟื้นฟูและการพัฒนาเด็กพิการ ไม่ว่าทางการแพทย์ การศึกษา สังคม และการประกอบอาชีพ โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม
และนางสาวกฤษณา จุลสงค์ หัวหน้างานสวัสดิการชุมชน สหทัยมูลนิธิ ภาคใต้ ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของ สหทัยมูลนิธิ นครศรีธรรมราช โดยได้กล่าวว่า สหทัยมูลนิธิ เริ่มดำเนินการในปี 2540 โดยมีความเป็นมาสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่มูลนิธิในการปฏิบัติงานร่วมกับสถานสงเคราะห์เด็กบ้านสงขลาในโครงการพัฒนาบริการสังคมสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์ เพื่อสงเสริมให้เด็กอยู่ในครอบครัว (โครงการคืนเด็กสู่บ้าน) จากการดำเนินโครงการดังกล่าวร่วมกับบ้านสงขลา มูลนิธิพบว่าสภาพปัญหาและความต้องการด้านสวัสดิการเด็กและครอบครัว ในจังหวัดต่าง ๆทางภาคใต้ ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงระดับความรุนแรงของปัญหา เป็นเรื่องที่มูลนิธิในฐานะองค์กรเอกชนด้านเด็กและครอบครัวจำเป็นต้องให้ความสนใจและร่วมรับผิดชอบในการจัดให้มีบริการทางสังคมเพื่อตอบสนองสภาพปัญหาและความต้องการดังกล่าวอย่างสอดคล้องและทั่วถึงเป็นการเสริมบริการของภาครัฐซึ่งไม่เพียงพอ เพื่อเป็นการขยายขอบเขตการให้บริการของมูลนิธิไปยังกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นครอบครัวที่อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะทอดทิ้งปล่อยปละละเลย หรือเลี้ยงดูเด็กอย่างไม่เหมาะสมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดภาคใต้สหทัยมูลนิธิได้ศึกษาสภาพปัญหาเด็กและครอบครัวภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ในปี 2538-2539 และได้เริ่มดำเนินงานสหทัยมูลนิธิ ภาคใต้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540 โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งสหทัยมูลนิธิ ภาคใต้ มีภารกิจงานในการให้ช่วยเหลือบิดามารดานอกสมรสและฟื้นฟูสภาพครอบครัว ,งานครอบครัวอุปถัมภ์ และงานส่งเสริมสวัสดิการเด็กและครอบครัวสู่ชุมชน และศูนย์การเรียนรู้ที่เราทำกิจกรรมกันนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ใช้สำหรับทำกิจกรรมฐานต่าง ๆ รวมถึงเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เด็ก และองค์กรภายนอกได้เข้ามาศึกษาดูงานอีกด้วย