แต่โบราณมานั้น มนุษย์รู้จักนำ ว่านน้ำ มาใช้ประโยชน์ทั้งด้านอาหารและยาสมุนไพร รวมถึงใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมมาเป็นเวลานานกว่า 3,000 ปี ซึ่งได้เล่าถึงในตอนที่ 1 และเป็นที่น่าสนใจว่าในทางวิชาการของพันธุ์ว่านน้ำนั้น ทั้งโลกพบว่ามีอยู่ 2 สายพันธุ์ และในประเทศไทยก็พบได้ทั้ง 2 ชนิดนี้ด้วย
ขอชวนมาดูในตำรายาไทยที่เป็นตำรับดั้งเดิมก่อน คือ ว่านน้ำ เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ใน “พิกัดจตุกาลธาตุ” ประกอบด้วย หัวว่านน้ำ รากนมสวรรค์ รากแคแตร รากเจตมูลเพลิงแดง มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด แก้เสมหะ แก้โลหิตในท้อง แก้ไข้ แก้ลม และยังพบในตำรับยาไทยอื่น ๆ ที่มีการใช้เหง้า เป็นยาขับลม ยาหอม แก้ธาตุพิการ และใช้เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร ทั้งช่วยแก้อาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และอ่อนเพลีย ใช้ราก แก้ไข้มาลาเรีย แก้หวัด หลอดลมอักเสบ แก้เจ็บคอ แก้ปวดฟัน เป็นยาระบาย แก้เส้นกระตุก บำรุงหัวใจ แก้หืด แก้เสมหะ ยังพบวิธีการใช้ว่านน้ำนำมาเผาให้เป็นถ่าน กินถอนพิษสลอด
ในความรู้ที่กล่าวถึงสรรพคุณว่านน้ำนั้น มีการนำมาใช้ได้หลากหลายมาก โดยส่วนใหญ่ใช้ส่วน หัว แก้ปวดศีรษะ เป็นยาขับลมในท้อง แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้ธาตุพิการ แก้ลมจุกแน่นในทรวงอก แก้ลมที่อยู่ในท้องแต่นอกกระเพาะและลำไส้ บำรุงธาตุน้ำ แก้ข้อกระดูหักแพลง ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย แก้บิด ขับพยาธิ กินมากทำให้อาเจียน บำรุงกำลัง แก้โรคลม แก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อและปวดตามข้อ (ทำยาพอก) แก้ไข้จับสั่น บำรุงประสาท หลอดลม บิดในเด็ก ขับเสมหะ ขับระดู ขับปัสสาวะ รากฝนกับสุราทาหน้าอกเด็กเพื่อเป็นยาดูดพิษแก้หลอดลมและปอดอักเสบ เหง้าต้มรวมกับขิงและไพลกินแก้ไข้ ผสมชุมเห็ดเทศ ทาแก้โรคผิวหนัง
คราวนี้มาดูพันธุ์พืช ในประเทศไทยมีรายงานจากกรมป่าไม้พบว่า ว่านน้ำมีอย่างน้อย 2 ชนิด คือ A. calamus และ A. gramineus ซึ่งจากการทำข้อมูลพบว่าในตำรายาต่างๆ มักกล่าวถึงว่าว่านน้ำที่ใช้ในเมืองไทยมีเพียงชนิดเดียว คือ A. calamus ทั้ง ๆ ความจริงในประเทศยังมีว่านน้ำอีกชนิดหนึ่ง คือ A. gramineus มีถิ่นกำเนิดในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านวัฒนธรรมและทางยา แต่ด้วยยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานจากจีนและอินเดียว่าใช้ว่านน้ำชนิดนี้เป็นยาบำรุงประสาท ซึ่งมีงานวิจัยเชิงลึกสนับสนุนว่าว่านน้ำ A. gramineus หรือเรียกกันว่า ว่านน้ำเล็กนั้นใช้รักษาความผิดปกติในหลายอาการของระบบประสาทส่วนกลาง
หากสืบค้นข้อมูลจากสวนพฤกษศาสตร์คิว (Kew Garden) ได้รับรองว่าว่านน้ำในโลกนี้มีเพียง 2 ชนิด (Species) และมี 3 วาไรตี้ (Varieties) ซึ่งสอดคล้องกับการายงานของ Flora of China คือ
1.ชนิด Acorus calamus L. หรือเรียกชื่อสามัญว่า Common sweet flag มีถิ่นกำเนิดใน ยุโรป อินเดียตอนบน (temperate India) หิมาลัยและเอเชียตอนใต้ โดยแบ่งย่อยออกเป็น Acorus calamus var. americanus Raf. มีถิ่นกำเนิดในแคนาดา สหรัฐอเมริกาตอนเหนือ สาธารณรัฐบูเรียตียา ซึ่งเป็นเขตสหพันธ์ของประเทศรัสเซีย มีลักษณะของโครโมโซมเป็น 2n หรือ diploids และ Acorus calamus var. angustatus Besser มีการกระจายในไซบีเรีย จีน รัสเซีย ตะวันออกไกล ญี่ปุ่น เกาหลี มองโกเลีย หิมาลัย อนุทวีปอินเดีย อินโดจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ในรายงานการใช้ประโยชน์จากจีนกล่าวว่าว่านน้ำจีน กล่าวถึง Acorus tatarinowii Schott. 2. ชนิด Acorus gramineus Sol. ex Aiton มีชื่อสามัญว่า Japanese sweet flag หรือ grassy-leaved sweet flag พบการกระจายใน จีน หิมาลัย ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดจีน ฟิลิปปินส์ ดินแดนปรีมอร์สกีของรัสเซีย
นอกจากนี้การสำรวจว่านน้ำในชนเผ่าต่าง ๆ ในประเทศจีน จำนวน 68 ชนเผ่า ในปี ค.ศ. 2019 พบว่า ยังมีการใช้ประโยชน์จากว่านน้ำในชีวิตประจำวัน คือ ชนิด Acorus calamus จำนวน 29 ชนเผ่า Acorus calamus var. angustatus (สายพันธุ์ย่อย)จำนวน 16 ชนเผ่า และ Acorus gramineus 23 ชนเผ่า ซึ่งจากงานวิจัยเชิงลึกในจีนก็ยังไม่พบอุบัติการณ์ที่คนในชนเผ่าแหล่านี้จะเป็นมะเร็งตับ หรือมีภาวะตับอักเสบแต่ประการใด
ในโปรแกรมพระไตรปิฎกไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :46 ได้ถอดความจากต้นฉบับภาษาบาลีความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรากไม้ที่เป็นยา คือ ขมิ้น ขิงสด ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิต ข่า แฝก แห้วหมู หรือรากไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ” เมื่อตรวจสอบกับการศึกษายาในศาสตร์ของอายุรเวทที่ปรากฎในพระไตรปิฎก ซึ่งทำการศึกษาโดย Jyotir Mitra ในปี ค.ศ. 1985 พบว่า ว่านน้ำ คือ Acorus calamus L. และที่กล่าวถึงเปราะหอม คือ ว่านน้ำเล็ก Acorus gramineus Sol.
ว่านน้ำใหญ่ และว่านน้ำเล็ก เป็นสมุนไพรที่มีมาแต่โบราณและมีศักยภาพในยุคปัจจุบัน เราควรหันมาส่งเสริมการศึกษาและการใช้ประโยชน์กัน