ว่านนางคำเป็นสมุนไพรที่อยู่ในวงศ์ขิง ข่า มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Wild turmeric มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma aromatica Salisb. จากฐานข้อมูลของเมดไทย ได้มีการนำเสนอว่า ว่านนางคำที่พบในประเทศไทย มี 3 ลักษณะคือ 1) ว่านนางคำ ชนิดต้น ก้าน และครีบเป็นสีแดง เนื้อในหัวมีสีเหลือง ใบสีเขียวเรียว มีสรรพคุณช่วยกระทุ้งพิษในร่างกาย แก้ฟกช้ำบวม แก้พิษว่านอื่น ๆ 2) ว่านนางคำ ชนิดต้นสีเขียว เนื้อในหัวมีสีขาว มีสรรพคุณช่วยแก้ฤทธิ์ว่านทั้งปวง และ 3) ว่านนางคำ ชนิดต้นเขียว กลางใบมีสีแดง เนื้อในหัวมีสีเหลืองเข้ม ใบมีขนาดใหญ่ และเป็นชนิดที่นิยมปลูกโดยทั่วไป หัวมีสรรพคุณรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ แก้อาการปวด ช่วยขับลม แก้อาการฟกช้ำ ข้อเคล็ด ส่วนรากเป็นยาสมานแผล ยาขับเสมหะ แก้ท้องร่วง รักษาโรคหนองใน
ลักษณะที่จำแนกออกเป็น 3 ต้นนั้น เป็นการมองจากชาวบ้าน แต่ในทางวิชาการในเวลานี้ถือว่าทางพฤกษศาสตร์ต้น ว่านนางคำ คือต้นเดียวกันที่เป็นไม้ล้มลุก เหง้าและหัวสีเหลือง มีกลิ่นหอม ใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกใกล้ราก ประมาณ 5-7 ใบ รูปใบหอกกว้าง ปลายเรียวแหลม ท้องใบมีขน ดอกช่อเชิงลด มักมีดอกก่อนใบงอกจากเหง้า ช่อดอกยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ใบประดับที่ปลายช่อสีชมพู ใบประดับที่รองรับดอกสีขาวแกมเขียว ปลายโค้ง ยาวได้ถึง 6 เซนติเมตร ใบประดับย่อยสีขาว ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาวแกมชมพู แฉกกลางรูปไข่กว้าง แฉกข้างรูปขอบขนาน กลีบปากรูปโล่แยกเป็น 3 แฉก สีเหลืองเข้ม
ว่านนางคำ เป็นที่รู้จักในหลายประเทศ โดยเฉพาะการใช้ในวิถีชีวิตที่มีการใช้ว่านนางคำเป็นยาพื้นบ้าน ที่มีการนำมาใช้เป็นยารักษาโรคระบบทางเดินอาหาร ปวดตามข้อ อักเสบ บาดแผล ติดเชื้อที่ผิวหนัง และแมลงสัตว์กัด
ในปี ค.ศ. 2020 ประเทศจีนมีรายงานว่า ว่านนางคำที่มีการปลูกเป็นการค้าจากประเทศอินเดีย ภูฏาน เมียนมา เนปาลและศรีลังกา มีสรรพคุณทางยาเหมือนกับขมิ้น แต่เหง้าของว่านนางคำนั้นมีรสขมและมีกลิ่นฉุนกว่าขมิ้น ในการแพทย์แบบอายุรเวทใช้ว่านนางคำรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะ ใช้ขับลม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง รักษาโรคผิวหนัง โรคหัดออกผื่น แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช้เป็นยาเดี่ยว แต่จะใช้เป็นยาตำรับ เช่น ทางอินเดียตอนใต้ใช้เข้าตำรับยารักษางูกัด โดยใช้ร่วมกับทองคำ (ธาตุวัตถุ) เหง้าของเอื้องหมายนาและเมล็ดอัชวาน (เครื่องเทศชนิดหนึ่ง) ทางการแพทย์อูนานิ (Unani) ซึ่งเป็นการแพทย์ดั้งเดิมแขนงหนึ่งของอินเดียก็ใช้เหง้าที่บดแล้วแปะที่หน้าผาก เพื่อลดอาการปวดประสาทและยังใช้แปะบริเวณที่คันและบริเวณที่เป็นฝี เหง้าแห้งใช้เป็นยาหอมร่วมกับยาอื่นรักษาโรคผิวหนังและขับเลือดเสีย
ในทางการแพทย์แผนจีน เรียกพืชชนิดนี้ว่ายวี่จิน (ภาษาจีนกลาง) หรืออิกกิม (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) มีการบันทึกครั้งแรกในตำรายาจีนชื่อว่า Pen Tsao ในปี ค.ศ. 659 ใช้ว่านนางคำรักษาอาการเจ็บหน้าอกและช่องท้อง นิ่วในถุงน้ำดี ดีซ่าน ไอเป็นเลือด กำเดาไหล ปัสสาวะเป็นเลือด โรคลมบ้าหมู ปวดประจำเดือน และมีไข้ร่วมกับเหงื่อออก ในจีนยังใช้เป็นยาสมุนไพร เพื่อลดกรด ขับลม ตำรายาจีนใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ รากเป็นยากระตุ้นการหมุนเวียนของเลือด ระงับปวด ส่วนในประเทศไทยมีรายงานการใช้ว่านนางคำผลิตแป้ง สีย้อม เครื่องสำอางและยา ดอกมีกลิ่นหอม เหง้าสดและหัวมีกลิ่นหอม ใช้รักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ใช้เป็นไม้ประดับ มีน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด นอกจากนั้น ยังมีผู้ใช้ว่านนางคำในรูปผงแห้งเป็นยาบำรุงผิวเพื่อเสริมความงาม และยากันยุงด้วย
ปัจจุบันมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น พบสารสำคัญในว่านนางคำ เช่น สารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoids) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาในระดับสัตว์ทดลองที่แสดงให้เห็นว่าน้ำที่สกัดได้จากเหง้าของว่านนางคำช่วยปกป้องการทำลายเยื่อบุกระเพาะในหนู สารสกัดที่สกัดด้วยเมททานอลช่วยลดอาการปวดบวมในหนูทดลอง และปัจจุบันมีการศึกษาในจีนที่ฉีดน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากว่านนางคำเข้าหลอดเลือดแดงในตับผู้ป่วยชาวจีนที่เป็นมะเร็งตับระยะแรก พบว่าได้ผลดี ทำให้มีอายุยาวนานขึ้นหรือรอดชีวิตนานขึ้น และมีการกดทับของไขกระดูกน้อยลง เหมือนกับการให้เคมีบำบัด
หากดูข้อมูลการศึกษาสมัยใหม่พอจะวิเคราะห์ได้ว่า เหง้าของว่านนางคำประกอบด้วยสารประกอบหลายประเภท ได้แก่ อัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ เคอร์คูมินอยด์ แทนนิน และเทอร์พีนอยด์ ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญทางเภสัชวิทยา ซึ่งเริ่มมีการวิจัยเพิ่มขึ้นว่าพบสารสำคัญที่มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง ต้านเบาหวาน ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านจุลินทรีย์ ลดอาการไอ ต้านการชัก แก้ปวด สมานแผล และขับไล่แมลง โดยเฉพาะในประเทศจีนใช้เป็นยารักษามะเร็ง ขจัดไขมันส่วนเกินออกจากเลือด ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด (การเกาะตัวกันของเซลล์เม็ดเลือดเป็นก้อน) และลดการอักเสบ
ว่านนางคำในเมืองไทยมีอยู่จำนวนไม่น้อย คนไทยก็มีปัญหาสุขภาพมากมายรวมถึงโรคมะเร็ง หากเรามาช่วยกันศึกษาวิจัย และขยายพันธุ์แยกหัวปลูกไว้ ได้ทั้งไม้ประดับ และพัฒนาเป็นยารักษาโรคก็จะมีคุณค่าและมูลค่าดั่งทองคำได้แน่นอน.