วันเวลาที่ผันผ่าน ข้าวมะลิไทย..ไฉนอ่อนหอม

ไม่เพียงแต่คนไทยด้วยกันเท่านั้นที่รู้สึกรู้สา พ่อค้าต่างชาติยังบ่นให้พ่อค้าข้าวไทยได้ยิน คุณภาพข้าวไทยไม่เหมือนเดิม ไม่เพียงเท่านั้น ในเวทีโลกเรายังเสียแชมป์ให้กับชาติอื่นถึง 3 ปีซ้อน ล่าสุดการประชุมประจำปีผู้ค้าข้าวโลกครั้งที่ 5 (The rice trader world rice conference 2013) ที่ฮ่องกง เมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา “ข้าวพันธุ์ผกามะลิ” จากกัมพูชา และ “ข้าว California Rose” จากสหรัฐอเมริกา ร่วมกันครองแชมป์ข้าวดีที่สุด

หอมมะลิไทยอ่อนด้อยค่า…สาเหตุมาจากอะไร

เป็นเพราะนโยบายรับจำนำที่ผิดพลาด มีการทุจริตนำข้าวพันธุ์อื่นมาปลอมปนในโกดังเก็บข้าวของรัฐบาลหรือเปล่า…นั่นคงเป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้นเอง

“ข้าวหอมมะลิจะหอมมากหอมน้อย ขึ้นอยู่กับลักษณะพันธุกรรมของข้าวว่า มีสารหอมระเหยกลิ่นใบเตยที่เรียกว่า 2AP ปนอยู่ในเนื้อแป้งข้าวมากแค่ไหน ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของข้าวหอมมะลิที่ไม่เหมือนข้าวพันธุ์อื่น และจากการศึกษาของกรมการข้าวมาตั้งแต่ปี 2550 ที่เรามีเครื่องมือวิทยาศาสตร์มาช่วยวัดค่าความหอม พบว่าพันธุ์ข้าวหอมมะลิแท้ ยังคงความหอมเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ทำให้ความหอมลดน้อยลงมาจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม”

สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป นายไพฑูรย์ อุไรรงค์ รองอธิบดีกรมการข้าว บอกว่ามาจากหลายปัจจัย…สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดนั่นคือ ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลให้น้ำมันหอมที่อยู่ในแป้งข้าวระเหยหายไปได้เร็วกว่าเมื่อก่อน

ยิ่งการรีบเอาข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสาร น้ำมันหอมจะระเหยเร็วกว่าอยู่ในสภาพเป็นข้าวเปลือก …ฉะนั้นโครงการรับจำนำฯ ที่กำหนดกฎให้รีบแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารโดยเร็ว และเก็บรักษาไม่ดี ไม่เก็บในที่อุณหภูมิต่ำ ยิ่งจะทำให้ข้าวหอมมะลิมีกลิ่นเจือจางลง

“การปลูกก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความหอมเปลี่ยนไป จากการทดลองเราพบว่า การจะทำให้ข้าวหอมมะลิมีกลิ่นหอมมากที่สุด ในช่วงที่ข้าวออกดอกได้ 7 วัน ต้องไขน้ำออกจากนาให้แห้ง 1-2 สัปดาห์ จากนั้นถึงจะสูบน้ำเข้านาอีกครั้ง จะเป็นวิธีที่ทำให้ต้นข้าวหอมมะลิเกิดความเครียด และจะเร่งสารน้ำมันหอมออกมามากเป็นพิเศษ แต่วิธีการนี้ชาวนาไทยไม่ค่อยมีใครได้ทำกัน”

การเตรียมดินเป็นอีกปัจจัย รองฯไพฑูรย์ อธิบายผลการศึกษาของกรมการข้าวพบข้อบ่งชี้ว่า ธาตุอาหารเสริมจำพวกแมงกานีส กำมะถัน และแมกนีเซียม มีอิทธิพลต่อความหอมอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่มีธาตุอาหารเหล่านี้สูง ข้าวจะหอมมากกว่าพื้นที่อื่น
“แต่เนื่องจากการทำนาเดี๋ยวนี้ แทบไม่มีการปรับปรุงดินกันเลย รู้จักแต่ใส่ปุ๋ยหลัก N-P-K อย่างเดียว ไม่มีการใส่ธาตุอาหารเสริมที่หาได้จากปุ๋ยพืชสด แถมบางพื้นที่ยังใช้วิธีเผาตอซังอีก ยิ่งจะเป็นการเผาทำลายธาตุอาหารเสริมหนักขึ้นไปอีก เลยส่งผลให้ข้าวหอมมะลิไม่หอมเหมือนเก่า”
และอีกปัจจัยเมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูก ชาวนายังนิยมที่จะเก็บเอาข้าวเก่ามาทำพันธุ์ต่อเนื่อง โดยไม่ยอมเปลี่ยนพันธุ์ไปใช้พันธุ์แท้ ทั้งที่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่า ข้าวไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไหนๆ ถ้านำไปปลูกติดต่อกันเกินกว่า 3 ฤดู ลักษณะเด่นประจำพันธุ์มักจะเพี้ยนเปลี่ยนไป และจะมีข้าวพันธุ์อื่นมาปนผสมอีกต่างหาก

ไม่ต้องอะไรมาก แค่มีข้าวพันธุ์อื่นปนมาแค่ 1 เมล็ดพันธุ์ มันจะเติบโตเป็นข้าว 1 กอ ให้เมล็ดข้าวประมาณ 2,000 เมล็ด และเมื่อนำไปปลูกต่อในฤดูที่สอง เมล็ดพันธุ์ปนจะเพิ่มมาเป็น 4,000,000 เมล็ดพันธุ์…คิดดูก็แล้วกัน ถ้าเอาไปปลูกต่อในฤดูที่ 3-4-5 จะเหลือมะลิหอมพันธุ์แท้ๆ ให้เก็บเกี่ยวกี่มากน้อย

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี่แหละ…เป็นคำตอบว่า ทำไมข้าวหอมมะลิจึงไม่หอมหวนเหมือนเก่า

ฉะนั้นถ้าคิดจะกู้ศักดิ์ศรีข้าวหอมมะลิไทยให้กลับคืนมา ถึงเวลาแล้วที่ชาวนาไทยต้องคิดใหม่ทำใหม่…ก่อนที่ชาติอื่นจะแย่งแซงหน้าไปมากกว่านี้

ที่มา : ไทยรัฐ 2 ม.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand