นักวิจัยค้นพบยาขนานเอกที่จะช่วยผู้สูงอายุคงความกระฉับกระเฉงไว้ได้ สิ่งนั้นคือการคิดบวก ที่ได้ผลกว่าการออกกำลังกายด้วยซ้ำ
ความเชื่อที่ว่าสังขารของตนได้ผ่านพ้นช่วงวัยที่ดีที่สุดไปแล้ว อาจทำให้คนวัยชราพาลใจคอหดหู่ หมดความกระตือรือร้นกับชีวิตเหลืออยู่ แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้าม ผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีความคิดแบบนั้นอยู่ในห้วงลึกของจิตใจ ก็จะเป็นผู้สูงวัยที่ร่างกายแข็งแรงกระฉับกระเฉง ซึ่งนักวิจัยชี้ว่า นั่นคือผลของการคิดบวกนั่นเอง
เพื่อทำความเข้าใจและยืนยันข้อสันนิษฐานนี้ นักวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุขเยล นำโดยศาสตราจารย์เบกกา เลวี ได้ทำการศึกษานาน 3 สัปดาห์ โดยเปรียบเทียบคนชรากลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับข้อความเชิงบวกเกี่ยวกับความชรา ผลปรากฏว่า คนชราที่ถูกป้อนข้อความเชิงบวกโดยที่พวกท่านไม่รู้ตัวนั้น สามารถเดิน ทรงตัว และลุกจากเก้าอี้ได้แคล่วคล่องกว่าอีกกลุ่ม
การวิจัยครั้งนี้ศึกษาจากผู้สูงอายุ 100 คนที่มีอายุเฉลี่ย 81 ปี โดยให้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม นักวิจัยจะแบ่งให้แต่ละกลุ่มอ่านข้อความผ่านจอคอมพิวเตอร์ครั้งละ 15 นาที บางกลุ่มจะได้รับข้อความเชิงบวกเกี่ยวกับความชราภาพ ด้วยการป้อนคำผ่านสายตา เช่น คำว่า “กระฉับกระเฉง” และ “สร้างสรรค์” ด้วยความเร็วที่สมองรับรู้ แต่ผู้อ่านไม่ทันตระหนักในสิ่งที่ได้อ่าน คนอื่นๆ นั้นถูกขอให้เขียนเรียงความเกี่ยวกับคนชราที่มีความกระฉับกระเฉง
การทดสอบตามมาพบว่า กลุ่มที่ถูกป้อนข้อความเชิงบวกให้แบบไม่รู้ตัวนี้ ขยับเขยื้อนร่างกายได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ให้ลุกและนั่งเก้าอี้หลายๆ รอบ, เดินข้ามห้อง และให้ยืนในท่าที่ต้องคอยรักษาสมดุลของร่างกาย
ส่วนกลุ่มที่ให้เขียนเรียงความนั้น ไม่พบว่าสภาพร่างกายดีขึ้นกว่าเดิม
การวิจัยนี้ยังเห็นผลกระทบต่อสภาพจิตใจด้วยเช่นกัน การคิดบวกเกี่ยวกับความชรานั้นทำให้ผู้สูงอายุมีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น ตรงข้ามกับการมองแง่ลบที่ทำให้จิตใจห่อเหี่ยว รายงานกล่าวว่า ผลกระทบจากการถูกป้อนข้อความเชิงบวกนี้ได้ผลยิ่งกว่าการให้ออกกำลังกายนาน 6 เดือน ตามที่เคยมีการศึกษาไว้ก่อนหน้านี้.
ที่มา : X-cite ไทยโพสต์ 14 ม.ค.2558