การส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นของหมอเมืองในพื้นที่ ตำบลโรงช้าง อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 4 ปี ด้วยแนวทางมุ่งมั่นในการเชื่อมโยง “ความรู้ของชุมชน” เข้ากับ “การใช้ทรัพยากรป่าไม้จากธรรมชาติ” หรือที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “ม่อนยา” ก็คือ ดอยหรือภูเขาลูกเล็กๆ ที่มีพืชสมุนไพรปกคลุม แต่กาลเวลาผ่านไปทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของม่อนยาลดลง และพืชพันธุ์ก็ถูกตัดทิ้งทำลายไป จนกระทั่งเครือข่ายรักษ์ม่อนยาและคนในชุมชนร่วมแรงกันอนุรักษ์สมุนไพรไว้เพื่อเป็นที่พึ่งพิงของชาวบ้านในการดูแลรักษาสุขภาพ ความสำเร็จนี้เกิดจากการทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งหน่วยที่มีบทบาทสำคัญ คือ องค์การบริหารส่วนตำบลโรงช้างและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโรงช้าง
นอกจากการอนุรักษ์ม่อนยาและการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สืบสานใช้ประโยชน์แล้ว เครือข่ายฯ ยังให้ความสำคัญกับเยาวชนและเด็กนักเรียนในชุมชน ได้จัดกิจกรรมการอนุรักษ์ เช่น การปลูกสมุนไพร การทำลูกกระสุนชีวภาพ การเดินป่าเรียนรู้สมุนไพร การบวชต้นไม้ในม่อนยา จัดทอดผ้าป่าสมุนไพร เป็นต้น และเสริมบทบาทของหมอเมืองในการทำกิจกรรมออกหน่วยนวดคลายเส้น จิตอาสาเยี่ยมบ้านผู้พิการ คนชรา ผู้ป่วยเรื้อรัง บริการยาต้มสมุนไพรเพื่อการลดเหล้าในงานศพ เป็นต้น และที่กำลังมีบทบาทสำคัญ คือ การให้บริการหมอเมืองร่วมกับศูนย์สุขภาพของ รพ.สต.โรงช้าง ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดจากการทำงานของคนในชุมชนที่ร่วมแรงกันทั้งฝ่ายองค์การส่วนท้องถิ่น รพ.สต. และเครือข่ายหมอเมือง จึงเกิดผลสำเร็จและมีความยั่งยืนได้
รายงาน โดย พยอม ดีน้อย
เครือข่ายรักษ์ม่อนยาตำบลโรงช้าง อ.ป่าแดด จ.เชียงราย