รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์สาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวถึงกรณีของเล่นสุดฮิต “หนังยางถัก” ซึ่งมีกระแสข่าวจากต่างประเทศพบอาจมีสารเคมีปนเปื้อนทำลายสมดุลฮอร์โมนเด็ก ว่า การปนเปื้อนขึ้นอยู่กับเกรดของหนังยางถัก ซึ่งทำมาจากพอลิเมอร์หลายกลุ่ม เช่น ซิลิโคน พอลิไอโซพรีน หรือ ยางธรรมชาติ (Natural Rubber) และ พอลิโพรพิลีน ซึ่งปกติแล้วเวลาพอลิเมอร์เหล่านี้เซตตัว จะเสถียรและมีอันตรายน้อยมาก แต่ในขั้นตอนการผลิตจะมีการใส่สารตัวเติมที่เรียกว่า “Additives” ลงไป เช่น สี สารเรืองแสง สารป้องกันการเสื่อมสภาพ ซึ่งสัดส่วนจะมากน้อยต่างกัน โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้สารกลุ่มนี้ในระดับที่ปลอดภัย แต่บางประเทศยังมีการใช้เกรดที่ไม่ปลอดภัยก็จะเกิดปัญหาสารปนเปื้อน เช่น สีหรือสารเรืองแสงที่มีโลหะหนักและสารหนูเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารเหล่านี้อันตรายมาก และเป็นสารก่อมะเร็ง มีผลต่อเด็ก และหลายประเทศแถบยุโรป อเมริกา ห้ามใช้
“โลหะหนักที่มากับสารเรืองแสง หรือสีต่างๆ มีทั้งตะกั่ว แคดเมียม นิกเกิล ปรอท หรือแม้แต่สังกะสี ทองแดง ก็มีอันตราย หากได้รับเกินมาตราฐานกำหนด ในส่วนของตะกั่วนั้น มีวิธีการทดสอบอย่างง่ายหลายวิธี เช่น การนำหนังยางถักแช่ในน้ำ หรือ แอลกอฮอล์ แล้วนำสารละลายมาทดสอบกับกรดเกลือ (HCl) หรือซัลเฟต (SO4) ในผงซักฟอก หากเกิดการตกตะกอน มีลักษณะเป็นตะกอนสีขาว แสดงว่ามีสารปนเปื้อนตะกั่วในปริมาณที่มาก ทั้งนี้ การตรวจสอบอย่างละเอียดของโลหะหนักอย่างละเอียด จำเป็นต้องอาศัยห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบ” รศ.วีรชัย กล่าว
ที่มา : ข่าวและภาพปรพกอบ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 ก.ย.2557