เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในการประชุมวิชาการ วิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2557 น.ส.อลิสรา เรืองขำ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/ 1 ตรัง นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “การปนเปื้อนสารฆ่าแมลงในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ในเขต 7 ฝั่งอันดามัน”ว่า ในปี 2556 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง ได้ดำเนินการตรวจสอบสารฆ่าแมลงในเนื้อสัตว์ตากแห้งและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตากแห้ง ในเขต 7 ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จ.กระบี่ ตรัง ภูเก็ต พังงา ระนอง และสตูล โดยเก็บตัวอย่างจำนวน 76 ตัวอย่าง ทำการตรวจวิเคราะห์ยาฆ่าแมลง กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต พบการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.95 ไม่พบการปนเปื้อนจำนวน 73 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 96.05
“ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตากแห้งบางส่วน ยังพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแมลงในกระบวนผลิตหรือจำหน่าย สำหรับผู้บริโภคจึงควรล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำตากแห้งก่อนนำไปปรุงเป็นอาหารเพื่อลดปริมาณยาฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนมา โดยข้อมูลผลสำรวจนี้ได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป”น.ส.อลิสรากล่าว
น.ส.อลิสรา กล่าวอีกว่า สัตว์น้ำตากแห้ง เช่น ปลาเค็ม กุ้งแห้ง และหมึกแห้งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่เป็นที่นิยมบริโภค และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเคยมีรายงานพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลง ซึ่งอาจมาจากกระบวนการผลิต หรือปนเปื้อนระหว่างที่วาง เพื่อใช้ในการป้องกันและขับไล่แมลงระหว่างที่นำไปตากแดดหรือจำหน่าย หากบริโภคอาการที่มีสารฆ่าแมลง ทำให้เกิดอาการ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หายใจขัด หัวใจอาจหยุดเต้นได้ อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ขาดความต้านทานโรค หรือหากสะสมในร่างกายทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ ทั้งนี้ ตามพรบ.อาหาร พ.ศ.2522 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 288 พ.ศ.2548 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง กำหนดว่าต้องตรวจไม่พบสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 30 มิ.ย.2557