ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน แม้ว่าจะมีฤดูหนาว แต่โดยรวมอากาศร้อนเกือบทั้งปี
ธาตุของคนไทยจึงเหมาะกับ “รส” ที่เกิดในฤดูร้อน ซึ่งก็คือ “รสเผ็ดร้อน” ธรรมชาติของคนไทยจึงคุ้นเคยกับรสเผ็ดร้อน
มีคำอธิบายในทางการแพทย์อายุรเวทว่า รสชาติของสรรพสิ่งนั้นล้วนเกิดขึ้นตามฤดูกาล กล่าวเฉพาะรสเผ็ดร้อนที่กำเนิดในฤดูร้อน
จะเห็นได้ว่าบรรดาพันธุ์พริกต่างๆ ที่มีรสเผ็ดมากเกิดในช่วงฤดูร้อน เช่นเดียวกันรสหวานที่มีกำเนิดในฤดูหนาว
อาหารรสเผ็ดร้อนซึ่งเหมาะกับคนไทย ได้ผ่านการพิสูจน์มาหลายชั่วอายุคนแล้วว่าดีกับสุขภาพโดยรวมของเรา ต่างจากธาตุของคเมืองหนาวที่ชอบอาหารรสหวานมัน ฉะนั้นวัฒนธรรมอาหารฟาสต์ฟู้ดของตะวันตกจึงมีแต่รสหวานมัน ซึ่งเหมาะกับคนฝรั่งไม่เหมาะกับสุขภาพคนไทย…แต่คนไทยก็ชอบกิน ตอนนี้อาหารหวานมัน นำมาซึ่งโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวานและความดัน ไขมันพอกตับ
หลักการทั่วไปของเภสัชกรรมแผนไทยก็คือ รสเผ็ดร้อนมีสรรพคุณแก้โรคลมจุกเสียด ขับลมให้เรอหรือผายลม บำรุงธาตุไฟขับเหงื่อ ช่วยย่อยอาหาร
เรามักจะเข้าใจผิดคิดว่า รสเผ็ดร้อนเป็นรสประจำธาตุไฟ แต่ความจริงนั้น สมุนไพรรสเผ็ดร้อนมีคุณสมบัติบำรุงธาตุได้ทุกธาตุ
สมุนไพร 5 ชนิดที่มีรสเผ็ดร้อนและบำรุงแต่ละธาตุ ก็คือ ดอกดีปลีบำรุงธาตุดิน รากช้าพลูบำรุงธาตุน้ำ เถาสะค้านบำรุงธาตุลม รากเจตมูลเพลิงแดงบำรุงธาตุไฟ และขิงบำรุงธาตุอากาศและคุมช่องทวารทั้ง 9 ของร่างกายให้เป็นปกติและระงับตรีโทษ ซึ่งเกิดจากธาตุน้ำ ดิน ลม ไฟไม่ปกติ
หลักการบอกว่าห้ามใช้ยาเผ็ดร้อนรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไข้ตัวร้อน แต่ในคัมภีร์ปฐมจินดามีตำรับยาไข้ซาง ตำรับยาไข้ละอองสำหรับรักษาผู้ป่วยเด็กที่ใช้สมุนไพรรสเผ็ดร้อนหลายตัวเป็นส่วนประกอบสำคัญของสูตรตำรับยา
เช่น ตำรับยาแก้ไข้ซางโจร เด็กมีอาการไข้ตัวร้อนจัดร่วมกับอาการถ่ายท้องไม่หยุด อาเจียน เบื่ออาหารปวดมวน ผอมเหลือง
หมอแผนไทยจะปรุงยาสมุนไพรที่มีส่วนประกอบ 5 อย่าง คือ พริก ขิง กระเทียม ใบกะเพรา ขมิ้นอ้อย
ตำรับยาไฟอาวุธ ใช้รักษาเด็กเล็กที่มีอาการไข้ซางหรือตัวร้อนจัด พร้อมกับถ่ายอุจจาระเป็นเลือด แก้ตาลขโมย พุงโร ม้ามย้อย แก้หืดน้ำนม แก้ไอผอมเหลือง และแก้ลมจุกเสียด ปวดมวนท้องอย่างรุนแรง
หมอแผนไทยจะปรุงยาที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสเผ็ดร้อนหลายตัว ได้แก่ พริกไทย ขิงแห้ง รากเจตมูลเพลิง สหัสคุณเทศ รากสะค้าน ดีปลี กานพลู
ตำรับยาแก้ละอองพระบาท ใช้รักษาเด็กเล็กที่มีอาการตัวร้อนที่เกิดจากไอความร้อนส่งขึ้นมาจากภายในช่องท้อง ทำให้เกิดเป็นละอองฝ้าสีขาวเกาะอยู่บริเวณลิ้นและในช่องปากหรือกระพุ้งแก้ม พร้อมกับมีอาการท้องขึ้น ท้องอืดมาก ร่วมกับถ่ายอุจจาระไม่หยุด
หมอโบราณจะจัดยาคล้ายกับยาแก้ซางโจร แตกต่างกันที่สัดส่วน คือ ใบกะเพราะ 1 ส่วน และ พริก ขิง กระเทียม เกลือ อย่างละ 7 ส่วน ตำรับยานี้จะใช้รสเค็มของเกลือเบรคฤทธิ์เผ็ดร้อนแทนขมิ้นอ้อย
ยาแผนโบราณทั้ง 3 ตำรับนี้ เป็นตัวอย่างของการใช้สมุนไพรรสเผ็ดร้อนที่หาได้ง่ายๆ จากในครัว
สมุนไพรจากในครัวที่นำมาทำเป็นตำรับยายังมีอีก…รออ่านตอนหน้านะคะ
#มูลนิธิสุขภาพไทย #สมุนไพรไทย
#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.