ในอดีตรงทองจัดว่าเป็นเครื่องราชบรรณาการและสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังต่างประเทศตั้งแต่สมัยอยุธยาจนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชการที่ 3) และยังถูกกำหนดให้เป็นสินค้าผูกขาด ภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ารงทองมีความสำคัญต่อสังคมและการดำรงชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นมาก
รงทองได้มาอย่างไร ? กล่าวได้ว่าการเก็บยางจากรงทองในอดีตมี 2 ลักษณะ คือ การกรีดจากลำต้นของต้นรงทอง โดยกรีดที่โคนต้นให้ลึกถึงกะพี้ขึ้นไปหาส่วนยอดของลำต้น แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่รองรับน้ำยางสีเหลือง พอน้ำยางแข็งตัวก็แกะกระบอกไม้ไผ่ทิ้ง จะได้รงทองเป็นรูปทรงกระบอก (Pipe Gamboge) ซึ่งเป็นชนิดที่สะอาดดีที่สุด จำหน่ายได้ราคาดี อีกชนิดหนึ่งเมื่อกรีดลำต้นแล้วปล่อยให้น้ำยางรงทองไหลลงพื้นโดยไม่มีภาชนะรองรับ ยางชนิดนี้มีลักษณะเป็นแผ่น (Cake Gamboge) ยางรงทองแบบนี้มีคุณภาพต่ำ เนื่องจากมีสิ่งสกปรกเจือปนอยู่
ยางจากรงทองนำมาใช้เป็นทั้งยาและสีย้อมหรือระบายสี เช่น รงทองใช้เขียนสมุดไทยดำ ยางที่ได้จากเปลือกต้นรงทอง มี 2 ชนิด คือ รงทองสยาม (Siamese gamboge) และรงทองอินเดีย (Indian gamboge) รงทองสยามได้มาจากการกรีดเปลือกของต้นรงทอง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia hanburyi Hook.f. ส่วนรงทองอินเดียได้มาจากต้นรงทองที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia morella (Gaertn.) Desr. แต่ปัจจุบันนักพฤกษศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Garcinia cambogioides var. cambogioides
รงทองหรือรงทองสยาม มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Gamboge tree, Indian gamboge tree, Hanbury’s garcinia, Gambojia จากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว กล่าวไว้ว่า รงทองสยามมีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ใน กัมพูชา ลาว ไทยและเวียดนาม หลายท่านอาจไม่รู้ว่ารงทองสยามเป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับมังคุดนี่เอง รงทองเป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูง 7-15 เมตร เปลือกเรียบสีเทา ตกชันสีเหลือง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม หรเป็นติ่ง โคนสอบ ขอบเรียบ ดอก สีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกเล็กๆ ตามง่ามใบ หรือตามกิ่ง ดอกเพศเมียใหญ่กว่าดอกเกพศผู้เล็กน้อย ออกตามข้อกิ่ง ผล ค่อนข้างกลม แข็ง ขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูง 20-800 เมตร ออกดอกเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ผลแก่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน
ตามสรรพคุณยาไทยกล่าวไว้ว่า ยางรงทอง ที่นำมาฆ่าฤทธิ์หรือกำจัดพิษแล้ว รสเอียนเบื่อ สรรพคุณ ถ่ายอย่างแรง ถ่ายลม ถ่ายน้ำเหลืองเสีย ถ่ายเสมหะ ถ่ายโลหิต ฝนกับหัวกะทิสดทาแผลพุพอง แผลล่อนออกดี แก้ปวด และเป็นส่วนผสมที่อยู่ในตำรับยาไทย เช่น ยาเบญจอำมฤต ยาตรีฉินทลากา (โบราณว่าแก้ธาตุลามกให้ตกไป ใช่ถ่ายท้องบำรุงธาตุ ขับลม ถ่ายไข้เพื่อเสมหะ ถ่ายโลหิตและนำเหลืองเสีย ตัวยาประกอบด้วย โกฐน้ำเต้า ลูกสมอไทย และรงทอง)
ยางที่ได้จากต้นรงทอง เป็นยาถ่ายอย่างแรง และมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ก่อนนำมาใช้ต้องทำให้ตัวยามีฤทธิ์อ่อนลงหรือที่เรียกว่าการสะตุ ให้นำรงทองมาบดละเอียด เทใส่ใบบัวหรือใบข่าที่ซ้อนกันอยู่ 7 ชั้น บีบน้ำมะนาวลงไปให้เนื้อเหนียวข้นพอปั้นได้ ห่อรงทองให้มิดชิดก่อนนำไปย่างไฟอ่อน พลิกกลับด้านทุก 5 นาที หรือจนกว่ารงทองจะเหลืองกรอบถึงนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ซึ่งวิธีการนี้ได้มีงานวิจัยแล้วว่าส่งผลให้สารพิษลดลงจริง จึงนำไปใช้ปรุงยาได้ น้ำยางรงทองให้สารสีเหลืองที่มีฤทธิ์แรงมาก เป็นยาถ่ายอย่างแรง ถ้ากินมากจะเป็นอันตราย ชาวจีนสมัยโบราณถือว่ารงทองเป็นสารพิษมาก ในรงทองประกอบด้วยยาง (gum) ประมาณ 20% และชัน (resin) ประมาณ 75% เนื่องจากรงทองมีพิษมาก ปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ไม่อนุญาตให้ใช้รงทองในยาแผนโบราณ ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับกินเฉพาะโดยมีรงทองไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อมื้อ ใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
จากการศึกษาพบว่ารงทองออกฤทธิ์ต่อโรคร้ายแรง เช่น ฆ่าเชื้อเอดส์และฆ่าเซลล์มะเร็ง มีการศึกษาเปลือกและผลของต้นรงทองกับการยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งท่อน้ำดี พบสาร Xanthones ที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งปากมดลูก และกรด gambogic ในรงทองยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งตับในหนูทดลอง มหาวิทยาลัยธรรม
ศาสตร์ พ.ศ. 2555 ได้รายงานว่า ยางรงทอง สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับ เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งลำไส้ส่วนปลาย เซลล์มะเร็งปากมดลูก และเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยยางของรงทองสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามยังต้องรอการศึกษาทางคลินิกให้แน่ชัดเพื่อนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยต่อไป
การกินยางของรงทองเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ถ่ายท้องอย่างรุนแรง หากต้องการใช้ในการรักษาโรคควรใช้รวมกับสมุนไพรชนิดอื่นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ยางใช้เป็นยาทารักษาแผลเปื่อยได้ เปลือกและลำต้นรงทอง นำมาต้มกับน้ำดื่มกินเป็นยาระบายช่วยขับพยาธิตัวแบน ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
รงทองใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ทำเป็นสีย้อมผ้า และทำเป็นแม่สีเหลืองเพื่อใช้ทาสีไม้ ไม้ซอ ตัว ไวโอลิน ทำสีน้ำสำหรับวาดเขียน ส่วนสำคัญที่สุดคือน้ำยางสีเหลืองสดที่เรียกว่า “รงทอง” นี้ น้ำยางต้องผ่านกระบวนการพิถีพิถันจึงจะได้โทนสีที่สวยงาม เมื่อนำไปใช้เนื้อสีจะเหลืองนวลและสดใสคล้ายสีของพระจันทร์ และยังเชื่อมโยงความเชื่อว่าสีรงทองแสดงความสูงส่ง ความอุดมสมบูรณ์ หมดสิ้นเรื่องเศร้าหมอง เป็นสีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ สิริมงคล และเป็นหนึ่งในแม่สีของไทยที่เลือกใช้ในวันสำคัญต่างๆ ด้วย
ต้นรงทองจึงเป็นไม้มงคลที่ปลูกในบ้านแต่ไม่ได้กำหนดทิศการปลูก ขอให้มีทำเลให้เติบโตได้อย่างสมบูรณ์ก็พอ ในอดีตใครๆ ก็เก็บยางรงทองส่งนอกค้าขาย แต่เวลานี้ยุคสมัยเปลี่ยนไปทำให้ประชากรของรงทองลดลงมาก กลับมาปลูกและฟื้นฟูการใช้รงทองดีหรือไม่.