ยาฝาแฝด” เสี่ยงอันตรายต่อผู้บริโภค ได้รับยาซ้ำซ้อน ยาไม่ตรงกับโรค เรียกร้อง อย.จัดการด่วน
ชมรมเภสัชชนบท ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยรายชื่อ”ยาฝาแฝด”(ยาฉลากคล้ายกัน) ภัยร้ายที่ยังไม่ได้รับการจัดการ ทำให้ผู้บริโภคต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการใช้ยาผิดอันตรายถึงชีวิต ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งจัดการปัญหาโดยด่วนทั้งระบบ ตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนยา ไปจนถึงควบคุมตามกฎหมาย
ในวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ณ ห้องประชุมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชมรมเภสัชชนบท ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกันจัดแถลงข่าวเปิดเผยรายชื่อ “ยาฝาแฝด” ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการจัดการ โดยนำเสนอให้เห็นว่า ฉลากยาเป็นเครื่องมือที่กฎหมายกำหนดให้แสดงไว้ข้างภาชนะบรรจุยา วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สั่งใช้ และผู้ที่จะต้องใช้ยา ได้อ่านเพื่อที่จะได้ใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้ฉลากยาจะต้องมีรายละเอียดที่จำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า เลขทะเบียนยา สรรพคุณของยา วันผลิตและวันหมดอายุ แต่บางครั้งพบว่าฉลากยาหลายรายการกลับมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมาก มากจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ ยาฝาแฝด จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน หรือเกิดความเสี่ยงในการใช้ยาอย่างผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ เภสัชกร จากชมรมเภสัชชนบท ได้สำรวจและทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น จากความสับสนเหล่านี้
ตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น
ผู้ป่วยชายไทย อายุ 41 ปี มารับยาจิตเภท (Schizophrenia) ตามนัด หลังจากเภสัชกรได้ตรวจสอบยาเดิมที่ผู้ป่วยนำติดตัวมา โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาชนิดเดียวกัน แต่ 2 ความแรง คือ Risperidone 1 mg และ Risperidone 2 mg ตามภาพประกอบโดยเวลารับประทานยาทั้ง 2 เหมือนกันคือ ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนนอน จากการสอบถามผู้ป่วยและญาติเข้าใจผิดคิดว่าอันเดียวกัน เนื่องจากดูเหมือนๆกันจึงเก็บยาทั้ง 2 ความแรงไว้ในซองเดียวกัน โดยหยิบรับประทานครั้งละ 2 เม็ด ก่อนนอนและไม่ทราบว่าเป็นยาคนละความแรง
ตัวอย่างยาฝาแฝดที่พบในโรงพยาบาล
ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหาฉลากยาฝาแฝดว่า “ปัญหาจากกลุ่ม “ยาฝาแฝด” หรือ “ยารูปพ้อง-มองคล้าย” ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากทุกส่วน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงผู้ใช้ยา นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีมาตรการจัดการด้านยา “ชื่อพ้องมองคล้าย”อย่างจริงจังแล้วก็ตาม ตัวผู้ใช้ยาหรือผู้ดูแลผู้ป่วยเอง ก็ต้องมีการทบทวนยาที่ตนใช้ให้ละเอียดรอบครอบทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
ที่สำคัญที่สุด คือ “การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนยา” ควรกำหนดเกณฑ์การพิจารณาฉลากยาและบรรจุภัณฑ์ของยา( เช่น แผงยา ขวดยา หลอดยา ฯลฯ)ให้รัดกุมในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากอันตราย เช่น ไม่ให้มีฉลาก หรือบรรจุภัณฑ์ มีความเหมือน หรือคล้ายคลึงกับยาอื่น นอกจากนี้ ไม่ควรอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โดยที่ส่วนประกอบของตำรับยาเป็นคนละชนิดกัน และไม่ควรอนุญาตให้ยาชนิดเดียวกัน ที่มีความแรงของยาที่ไม่เท่ากัน ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน
“อย.ต้องกล้าแสดงตัวให้เห็นว่า ตนเลือกที่จะคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัย มากกว่าจะอ้างว่าระเบียบเป็นข้อจำกัด เพราะกฎระเบียบมันแก้ไขได้ หากแก้แล้วผู้บริโภคได้รับความปลอดภัย และต้องเริ่มทำทันทีเพราะรูปธรรมปัญหาที่ปรากฎชัดเจนแล้ว”
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า “จากการลงพื้นที่สำรวจตัวอย่างยาที่มีฉลากคล้ายกัน หรือยาฝาแฝดนั้น โดยทีมงานนิตยสารฉลาดซื้อนั้นเราพบว่า มีการขายยาอันตรายตามร้านชำทั่วไปหลายรายการ เช่น ยาแก้หวัดยี่ห้อ ทิฟฟี่เดย์ หรือยาอันตรายอื่นๆอีกหลายชนิด โดยผู้บริโภคและพ่อค้าเข้าใจว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ซื้อขายได้ทั่วไป จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีมาตรการดูแลและจัดการโดยด่วนที่สุดด้วย” หากได้รับอันตรายจากการใช้ยาผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิได้
ด้านผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมว่าส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากมียาที่ไม่เหมาะสม จึงเสนอเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องฉลากยาฝาแฝด เป็น หนึ่งในหลายข้อเสนอเรื่องยาไม่เหมาะสม โดยให้มองทั้งระบบเริ่มตั้งแต่การขึ้นทะเบียน และยังเสนอให้เร่งการทบทวนทะเบียนตำรับยาที่มีส่วนผสมของยาต้านแบคทีเรียอย่างไม่เหมาะสม และเสนอให้มีจัดการตามกฎหมายโดยด่วน เนื่องจากยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมนั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โรคติดเชื้อที่เป็นอยู่ไม่ได้รับการรักษา และเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ทั้งนี้ กพย.ได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 จึงขอติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย