ยาป๊อด คือ ยาสมุนไพรที่ใช้กับอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ซึ่งยังมีการใช้กันตามบ้านของคนทางภาคเหนือ คำว่า “ป๊อด” เป็นภาษาเหนือ หมายถึง สั้นๆ เมื่อรวมเข้ากับยาสมุนไพร จึงหมายถึงยาสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยแบบยาด่วนยาที่ใช้ได้อย่างรวดเร็ว หรือเป็นการบรรเทาอาการเบื้องต้น “ยาป๊อด”มักใช้สมุนไพรตัวเดี่ยวในการรักษา เช่น ไพล ขมิ้นชัน กระเพรา ตำลึง หูเสือ สาบเสือ เป็นต้น
ยาป๊อด คล้ายยาสามัญประจำบ้าน หรือ รายการสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งเสริมการใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการเบื้องต้นที่พบบ่อยๆ ซึ่งเมื่อใช้แล้วจะมีอาการดีขึ้นหรือหายได้ภายใน 2-3 วัน แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ต่อไป
ตัวอย่างยาป๊อดที่ใช้ในภาคเหนือ
ในงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 1 เครือข่ายหมอพื้นบ้านภาคเหนือ ได้มีการสาธิตการใช้ยาป๊อดให้ผู้เข้าชมงานได้เรียนรู้นำกลับไปใช้ในครอบครัว ซึ่งหมอพื้นบ้านภาคเหนือได้แบ่งการใช้ยาป๊อดออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1)รักษาบาดแผลสด 2)แมลงกัดต่อย 3)ผื่นคัน 4)ท้องอืด ท้องเฟ้อ 5)ท้องเสียไม่รุนแรง และ 6)ไข้
1.บาดแผลสด ใช้ใบสาบเสือ มาล้างให้สะอาด แล้วนำมาขยี้ด้วยมือให้แหลก นำมาพอกที่บาดแผล จะทำให้เลือดหยุดไหลได้
2.แมลงกัดต่อย ใช้ใบเสลดพังพอนตัวผู้ ล้างสะอาดนำมาตำหรือผสมกับเหล้าขาวตำพอกบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย หรือใช้รากฝนกับเหล้าขาวทาก็ได้
3.ผื่นคัน ใช้ใบตำลึง ใบไม่แก่ไม่อ่อน ล้างให้สะอาด ตำคั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณผื่นคัน
4.ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้ใบกระเพรา 1 กำมือ ต้มกับน้ำให้เดือด ดื่มในขณะอุ่นๆ ถ้าใช้กับเด็กทารกทางภาคเหนือ นิยมใชหัวไพล ล้างสะอาดแล้วนำมาตำ แล้วทาบริเวณท้องเด็ก
5.ท้องเสียไม่รุนแรง ใช้ใบฝรั่ง 10-15 ใบ นำมาผิงไฟให้เกรียม แล้วนำมาต้มหรือชงในน้ำร้อน ดื่มในขณะอุ่นๆ
6.ไข้ ใช้ใบหูเสือ หรือชาวบ้านภาคเหนือเรียกว่า”หอมด่วนหลวง” ล้างให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียด พอกตรงบริเวณกระหม่อม ป้องกันไข้ขึ้นสูงและอาการชัก
ข้อมูล : เครือข่ายหมอพื้นบ้านภาคเหนือ