ยาไทยหรือยาสมุนไพรมีลักษณะพิเศษกว่ายาฝรั่ง จัดได้ 3 ลักษณะ เป็นยาที่ปรุงใช้เองในครัวเรือนหรือในชุมชนก็ได้ มีการผลิตแบบยาสามัญประจำบ้านที่ให้ประชาชนทั่วไปหาซื้อมาเก็บไว้ในตู้ยาประจำบ้าน และมีรายการยาสมุนไพรที่ได้รับการยกระดับให้เป็นรายการยาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร
เหมือนแปลกแต่ก็จริง ตำรับยาสมุนไพรอย่างเดียวกันใช้จริงในครอบครัวหรือหมอพื้นบ้านหมอแผนไทยก็ปรุงเป็นสูตรยาช่วยเหลือชาวบ้าน ต่อมาตามยุคสมัยก็มีการนำเอาตำรับยาสมุนไพรสูตรนี้มาผลิตเป็นรูปแบบยาที่ใช้สะดวกขึ้น ปัจจุบันก็มีผู้ผลิตยาไทยหรือเรียกว่าอุตสาหกรรมยาสมุนไพรของไทยผลิตออกจำหน่ายในร้านยาทั่วไป และเมื่อการศึกษาวิจัยหรือการเก็บข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลของตำรับยาสมุนไพรมีมากขึ้น คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรก็พิจารณาคัดสรรบรรจุในรายการยาหลักแห่งชาติให้เบิกจ่ายได้ในระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ
ช่วงนี้ ลมร้อนกำลังจางไปลมฝนกำลังมา ไข้โควิด-19 ที่จะไม่ไปไหนแล้วจะอยู่ในไทยไปเรื่อย ๆ และบรรดาไข้เปลี่ยนฤดู ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ที่อยู่มาแต่เดิมก็กำลังเดินแถวมาจ่อในช่วงเปลี่ยนฤดูนี้ ถ้าใครเริ่มครั่นเนื้อครั่นตัวหรือเริ่มมีอาการไข้ สมุนไพรมีคำตอบช่วยตัดไข้แต่ต้นลมได้ จะช่วยลดความรุนแรงของโรคไปได้มาก ขอแนะนำตัวอย่างแสดงให้เห็นความพิเศษของตำรับยาสมุนไพรที่มาจากการพึ่งตนเองเป็นความรู้ดั้งเดิมสู่รายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่เป็นระบบสวัสดิการในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ยกตัวอย่างเพียง 4 ตำรับ ยาแก้ไข้ แก้หวัด
1) ฟ้าทะลายโจร มีการพูดถึงมากแล้วใช้ได้ทั้งไข้หวัดน้อย หวัดใหญ่ ไข้โควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง จึงขอไม่ลงรายละเอียด เพียงยืนยันว่าระดับพึ่งตนเองทำกินเองแบบสด ๆ หรือแบบแห้ง ทั้งรูปแบบยาชาชงหรือปั้นเม็ดลูกกลอนก็ได้ หรือเพื่อความสะดวกก็มีวางจำหน่ายตามร้ายยาทั่วไป และถ้ามีเหตุไปรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อพบทั้งแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนปัจจุบันก็ให้สั่งจ่ายยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งคนไข้ไม่ต้องจ่ายค่ายาเพราะเป็นรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ
2) รางจืด คงนึกแปลกใจว่าสมุนไพรนี้จะแก้ไข้ได้ด้วยหรือ เพราะเป็นที่รู้จักกันในสรรพคุณรางจืดช่วยขจัดหรือลดสารพิษยาฆ่าแมลงศัตรูพืช และใช้แก้พิษเบื่อเมา แก้อาการผิดสำแดง จึงขอแนะนำให้รู้จักรางจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia L. ตามตำราโบราณใช้รากและเถารางจืดเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใบและน้ำคั้นจากใบสดนำมาใช้แก้ไข้ ถอนพิษ ในภูมิปัญญาอีสานที่สืบต่อกันมาเมื่อจะปรุงอาหารที่เก็บมาจากป่าทุกครั้งให้ใส่ใบและดอกของเถารางจืดเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันพิษที่อาจเกิดจากพืชหรือสัตว์ป่าที่นำมากิน ในบัญชียาหลักแห่งชาติบรรจุยารางจืดให้ใช้แก้ถอนพิษไข้ และแก้ร้อนใน โดยกินรูปแบบยาชง หรือแบบแคปซูลโดยนำใบรางจืดแห้งบรรจุแคปซูล ขนาด 500 มิลลิกรรม กินครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
3) ยาจันทลีลา ตำรับนี้ชาวบ้านทั่วไปคงไม่ได้ปรุงยากันเอง แต่เป็นตำรับยาที่หมอแผนไทยหรือหมอพื้นบ้านแต่เดิมนั้นเป็นผู้ปรุงยาไว้ช่วยเหลือคนในชุมชน เพราะมีตัวยาหลายชนิดที่ต้องจัดหามาประกอบขึ้นเป็นตำรับยา ภูมิปัญญาดั้งเดิมแนะนำข้อดี “ยาจันทลีลา” ใช้สยบอาการไข้ที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูหรือที่เรียกว่าไข้เปลี่ยนฤดู นอกจากลดไข้ได้ดีแล้วสมุนไพรที่อยู่ในตำรับยานี้ยังมีสรรพคุณช่วยลดอาการข้างเคียง เช่น หวัด คัดจมูก หืดหอบ ไอ เสมหะ มึนงง กระสับกระส่าย เป็นต้น
ชื่อตำรับยามีจันทน์เป็นยาหลัก คือ แก่นจันทน์ทั้ง 2 ได้แก่ แก่นจันทน์ขาวและแก่นจันทน์แดง และสมุนไพรเด่น ๆ อีก 3 ชนิด โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา และมีสมุนไพรที่เกี่ยวกับแก้ไข้อีกคือ ลูกกระดอม บอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก สมุนไพรทั้งหมดนี้หนักสิ่งละ 4 ส่วน แทรกพิมเสนอีก 1 ส่วนสมุนไพรทั้ง 9 ชนิด นำมาบดเป็นผงละเอียดบรรจุแคปซูล ขนาด 500 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่กินครั้งละ 2-4 แคปซูล ทุก 4 ชั่วโมง เด็กก็กินได้ (อายุ 6-12 ปี) ลดขนาดยาลงครึ่งหนึ่งหรือกินครั้งละ 1-2 แคปซูล ทุก 4 ชั่วโมง
4) ยาห้าราก เป็นยาโบราณไทยแท้ หมอยาไทยมักปรุงไว้ช่วยเหลือชาวบ้าน ชื่อยาบางครั้งก็เรียกไพเราะว่า ยาเบญจโลกวิเชียร หรือเรียกว่า ยาแก้ว 5 ดวง เปรียบดั่งสมุนไพรเป็นแก้ว 5 ดวง หรือมี 5 ชนิดนั่นเอง คือ รากมะเดื่อชุมพร (มะเดื่ออุทุมพร) รากชิงชี่ รากเท้ายายม่อม รากคนทา รากย่านาง ความสำคัญของตำรับยานี้ให้ศึกษาบันทึกในตำราแพทย์ดั้งเดิมฉบับหลวงในคัมภีร์แพทยศาสตร์สงเคราะห์ว่า
“พิเคราะห์ตามไข้ หนักเบาอย่างไร อย่าให้เสียที ทำตามทำนอง ให้ต้องพิธีพิเคราะห์ให้ดี จึงมี เดชา รากเท้ายายม่อม มะเดื่อชุมพร อีกรากคนทา ชิงชี่ น้ำนอง ให้ต้องตำรา ปู่เจ้าเขาเขียว หญ้านาง แลนา สิริสรรพยา ให้เอาเสมอกัน ต้มให้กินก่อน ตกถึงอุทร ออกสิ้นทุกพรรณ ท่านตีค่าถึง ตำลึงทองนั้น”
สรรพคุณของสมุนไพรทั้ง 5 ชนิด ออกฤทธิ์แก้ไข้ได้หลายอย่าง และยังเรียกว่าช่วยกันกระทุ้งไข้ต่าง ๆ ให้ออกมาด้วย สมุนไพรเหล่านี้ยังช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงต่างๆ ที่มาพร้อมกับไข้ เช่น มะเดื่อชุมพร ช่วยละลายเสมหะได้ดี รากชิงชี่ แก้อาการไอ อาการเจ็บตามเนื้อตามตัวด้วย รากเท้ายายม่อม ช่วยแก้อาการ หืด ไอ รากคนทา แก้ตัวร้อนร่วมกับอาการปวดเมื่อยตามตัว รากย่านาง แก้ไข้จากแพ้อาหารด้วย
ขนาดและวิธีใช้ ยาผงบรรจุแคปซูล 500 มิลลิกรรม ผู้ใหญ่กินครั้งละ 2-3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เด็กก็กินได้ (อายุ 6-12 ปี) ลดยาลงครึ่งหนึ่ง กินครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 3 ครั้งเช่นกัน
ข้อควรระวัง ในตำรับยาแก้ไข้ทุกตำรับนั้น หากสงสัยหรือมีอาการเป็นไข้เลือดออกก็ไม่ควรกิน ควรไปพบแพทย์ และเมื่อกินยาสมุนไพรแก้ไข้เกิน 3 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย
อยากจะบอกว่าประเทศเรามีตำรัยยาสมุนไพรใช้แก้ไข้หลายขนาน สมุนไพรเป็นการพึ่งตนเองจากระดับครัวเรือน ชุมชน ไปสู่บัญชียาหลักแห่งชาติช่วยพึ่งตนเองในระบบบสุขภาพของประเทศด้วย.