ตามที่สำนักข่าวไทยพลับบลิก้า ได้รายงานเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์วันที่ 27 ตุลาคม 2558 และในสื่อมวลชนอื่นๆ รายงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยอ้างรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและรายงานของ คตร. ซึ่งระบุชื่อพาดพิงกรรมการมูลนิธิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกลั่นกรองวิชาการที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิสุขภาพไทยและมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งเป็นผู้รับทุนสนับสนุนจากสสส. ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และเสื่อมเสียต่อบุคคลและองค์กร
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการเลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทยและกรรมการผู้จัดการมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งเคยเป็นกรรมการบริหารแผนสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม ของสสส. แต่ปัจจุบันได้พ้นวาระการเป็นกรรมการดังกล่าวแล้ว ขอชี้แจงต่อสาธารณะชน ดังนี้
1)การกล่าวว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกลั่นกรองทางวิชาการ จัดตั้งมูลนิธิหลายแห่งและได้เงินอุดหนุนโครงการจากกองทุน สสส. นั้น ขอให้ข้อเท็จจริงว่า มูลนิธิโกมลคีมทองได้รับอนุญาตจัดตั้งมูลนิธิมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 และมูลนิธิสุขภาพไทยเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งมูลนิธิทั้ง 2 แห่งจัดตั้งและดำเนินงานมาก่อนการมี สสส.หลายปี การจัดตั้งมูลนิธิไม่ใช่การกระทำที่หวังผลประโยชน์จากกองทุน สสส. แต่เพื่อดำเนินงานแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา สังคม และสุขภาพของประเทศ
2) มูลนิธิทั้ง 2 แห่ง รับทุนสนับสนุนจาก สสส. ตามสิทธิและเงื่อนไขการรับทุนของกองทุน สสส. เหมือนกับหน่วยงานองค์กรต่างๆทั่วประเทศ และกระบวนการพิจารณาอนุมัติไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาทุนของ สสส. ซึ่งต้องผ่านการกลั่นกรอง ประชุมพิจารณา และให้ปรับแก้ไขโครงการอย่างถี่ถ้วน โดยที่กรรมการมูลนิธิไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่มีสิทธิพิเศษและไม่มีอิทธิพลใดแต่อย่างใดในการอนุมัติทุน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการติดตามการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงิน โดยมีผู้ตรวจสอบบัญชีจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และยังถูกประเมินจากคณะประเมินผลด้วย
3) การกล่าวอ้างมูลนิธิสุขภาพไทยรับทุนจาก สสส. ระหว่างปี 2550 – 2557 จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 65,026,400 บาทนั้นไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ โครงการทั้งหมดว่าได้ทำประโยชน์ไว้ ดังนี้
• ปี 2553 โครงการแผนงานสร้างเสริมระบบสุขภาพชุมชน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ งบประมาณ 25,254,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี โดยเป็นการทำงานกับเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค เงินทุนนี้กระจายสู่โครงการในพื้นที่ 10 ชุมชน(จังหวัด) ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำปาง พะเยา สกลนคร อุดร สุรินทร์ มหาสารคาม อ่างทอง อยุธยา และชุมพร ได้สร้างฐานความรู้ด้านตำรับยาและอาหารสมุนไพรในชุมชนมากมายนับร้อยๆ ตำรับ สร้างพื้นที่ป่าสมุนไพรที่เคยถูกตัดโล่งเตียนให้กลับมามีพันธุ์สมุนไพรนับร้อยชนิดดังกรณีที่ป่าบ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม ทำให้คนในชุมชนมีแหล่งยาและอาหารสมุนไพรใช้ประโยชน์ และมีรายได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย ยังมีการจัดการความรู้และนำมาต่อยอดในระบบสุขภาพมากมาย ยกตัวอย่างเช่น การริเริ่มการจัดการความรู้การนวดพื้นบ้านของแม่เกสร โพพันราช ซึ่งเป็นแนวทางจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ จนปัจจุบันนี้หน่วยงานรัฐนำแนวทางดังกล่าวไปจัดการความรู้หมอนวดพื้นบ้านในภาคอีสานและพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย เป็นต้น โครงการนี้สิ้นสุดไปหลายแล้วปี และยังไม่ได้รับทุนสนับสนุนต่อ
• ปี 2554 โครงการพลังอาสาสมัคร สร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์ งบประมาณ 16,899,000 บาท ระยะเวลา 2 ปี โครงการนี้เกิดจากบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์(พม.) กับ สสส. มีเป้าหมายให้เด็กในสถานสงเคราะห์มีสุขภาพกายและใจดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำที่เด็กเหล่านี้พึ่งได้โอกาส โครงการยังพัฒนากลไกและระบบงานอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ 5 แห่ง (เด็กเล็ก เด็กโต และเด็กพิการ) จึงเกิดอาสาสมัครที่ดูแลเด็กมากกว่า 500 คนและมีเด็กหลายสิบคนที่มีพัฒนาการดีขึ้นทั้งเด็กปกติและเด็กพิการ โครงการยังช่วยสนับสนุนการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพให้กับบุคคลากรในสถานส่งเคราะห์ด้วย เมื่อโครงการสิ้นสุดลงและได้รับการประเมินผลให้พัฒนาโครงการเพื่อทำต่อเนื่องอีก 2 ปี จึงได้รับอนุมัติทุนในปี 2557 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในสถานสงเคราะห์ด้วยพลังอาสาสมัคร งบประมาณ 12,996,000 บาท โดยมุ่งผลเชิงปริมาณ 5 สถานสงเคราะห์และให้เน้นงานคุณภาพมากขึ้น แต่มูลนิธิไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ ในทางกลับกันมูลนิธิกลับถูกเคร่งครัดได้รับงบประมาณน้อยลง แต่ต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์มากขึ้นด้วย
• ปี 2556 โครงการศึกษาแนวทางเชิงนโยบาย(รูปแบบที่เหมาะสม)ในการคุ้มครองสวัสดิภาพแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว งบประมาณ 1,677,400 บาท ระยะเวลา 2 ปี โครงการนี้สืบเนื่องจากากรทำงานเกี่ยวกับเด็กด้อยโอกาส ประกอบกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย พม. และองค์กรภาคประชาสังคมรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อน จึงร่วมมือกับมูลนิธิ ผลการศึกษาได้นำเสนอต่อองค์กรเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข การทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาไทย กระทรวงยุติธรรม ให้ควรทำงานเชื่อมโยงบูรณาการกันในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้แม่และเด็กไม่ว่าเชื้อชาติใด สัญชาติใด ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งยังเสนอให้มีหน่วยงานกลางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วนเพราะ ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ แรงงานผลัดถิ่น การเคลื่อนย้านแรงงาน ซึ่งมีความซับซ้อนและเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงต้องมีหน่วยงานเป็นการเฉพาะทำหน้าที่ โดยทำงานร่วมกับพหุภาคี ทั้งรัฐ เอกชน
• ปี 2556 โครงการมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไทยเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะความมั่นคงอาหารและสุขภาพ งบประมาณ 8,000,000 บาท ระยะเวลา 6 เดือน เป็นงานรวมกลุ่มชุมชนชาวบ้านที่ทำงานด้านความมั่นคงอาหารกว่า 30 พื้นที่ เครือข่ายสุขภาพ อาหารอินทรีย์และตลาดเขียวมากกว่า 50 องค์กร ตัวอย่างผลลัพธ์ที่สำคัญช่วยให้เกิดการบริโภคพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ และสนับสนุนชาวนาให้อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมากมายกว่า 20 สายพันธุ์ และส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักกินอาหารเพื่อเปลี่ยนแปลงสุขภาพตนเอง และช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีร่วมกันทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค ฯลฯ
• ปี 2557 โครงการการประชุมวิชาการการแพทย์แผนไทย งบประมาณ 200,000 บาท ระยะเวลา 4 เดือน เป็นโครงการเพื่อจัดประชุมและเปิดโอกาสให้เครือข่ายแพทย์แผนไทย ทั่วประเทศ รวมถึงหมอนวดไทย หมอนวดตาบอด ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนและเพิ่มเติมความรู้ทางวิชาการเพื่อนำกลับไปบริการสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ของตนเอง การประชุมวิชาการนี้ยังได้พัฒนาข้อเสนอที่จะสนับสนุนการพัฒนาหมอนวดตาบอด โดยยกระดับการเรียนการสอนและการเปิดโอกาสให้หมอนวดตาบอดได้ใช้ศักยภาพของเขาอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย
4)การกล่าวอ้างมูลโกมลคีมทอง รับทุนจาก สสส. ระหว่างปี 2550 – 2557 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 36,584,550 บาทนั้น ขอย้ำว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ในการพิจารณาอนุมัติทุนโครงการทั้งหมดของมูลนิธิโกมลคีมทองจัดทำเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและวัตถุประสงค์ของ สสส. ในการส่งเสริมให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา ได้ออกไปทำประโยชน์เพื่อส่วนร่วม เหมือนดังครูโกมล คีมทอง นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เสียสละความสะดวกสบายในเมืองออกไปใช้ชีวิตครูในชนบท กิจกรรมที่ได้รับทุนจาก สสส. ทั้งหมดจึงได้กระจายออกเป็นทุนย่อยๆ ให้ เยาวชน นิสิต นักศึกษาจัดทำค่ายสร้างสุข หรือ Health@Camp
• ในปี 2555 โครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะ 11,750,600 บาท ซึ่งกระจายทุนสนับสนุนการจัดทำค่าย 54 ค่าย (พื้นที่)ให้กับมหาวิทยาลัยและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 300 คนได้เรียนรู้และฝึกการเป็นจิตอาสา ในปี 2555 หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทางมูลนิธิโกมลจึงจัดทำโครงการโครงการคนรุ่นใหม่ใจอาสาเพื่อผู้ประสบภัย ได้รับทุนสนับสนุน 5,851,000 บาท กระจายให้กลุ่มนิสิตนักศึกษา 10 กลุ่มลงไปทำงานเพื่อฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ เป็นการช่วยแก้ไขสุขอนามัยและสภาแวดล้อมหลังประสบภัยได้อย่างดี
• ในปี 2556 โครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา “ชุมชนคนอาสาเพื่อการเรียนรู้สังคม” จำนวน 10,783,200 บาท สนับสนุนค่ายให้เยาวชนจำนวน 42 ค่าย(พื้นที่) และในปีเดียวกัน ปี 2556 โครงการอาสาสมัครเพื่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ จำนวน 8,199,750 บาท ระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี เพื่อระดมอาสาสมัครและนักวิชาการลงไปทำงานในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เพื่อสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตและมีสุขภาพดี รวมถึงริเริ่มสร้างกลไกในพื้นที่ให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ นักวิชาการและประชาชน ทำเกิดพื้นที่ตัวอย่าง 3 ตำบลในจังหวัดนครปฐม เป็นต้น
มูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิโกมลคีมทอง ขอชี้แจงให้เป็นที่ประจักษ์ว่า การได้รับทุนจาก สสส. ไม่มีการใช้สิทธิพิเศษ ไม่ได้ผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ดำเนินการขอรับทุนอย่างเปิดเผยโปร่งใส และนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้อย่างประหยัด สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของบุคคลทั่วไป ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และยังดำเนินการเชิงพัฒนากลไกและระบบให้เกิดความยั่งยืนด้วย
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา 28 ต.ค.2558
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำรวจมูลนิธิที่ได้รับเงินจาก สสส. พบใช้เลขที่ตั้งสำนักงานเดียวกัน–ตั้งในกระทรวงสาธารณสุข by www.thaipublica.org 7 ม.ค.2559