พลันเมื่อรัฐบาลจีนสั่งปลดล็อคประเทศ ชาวจีนนับร้อยล้านคนก็เริ่มทะลักจากแผ่นดินใหญ่หลั่งไหลไปทั่วโลก รวมทั้งเสียมหลอก๊กไทยแลนด์แดนสวรรค์แห่งการท่องเที่ยวด้วย แต่การท่องเที่ยวหลังปลดล็อคโควิดนั้น เป็นการท่องเที่ยวที่เรียกขานกันขำๆว่า “การท่องเที่ยวแบบล้างแค้น” (Revenge Tourism) เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ถูกล็อคดาวน์ไม่ได้ไปเที่ยวไหนซะหลายปี (ฮา) แต่ที่ขำไม่ออกก็คือ นักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับโควิดรอบใหม่ ทำเอายาพื้นฐานสำหรับแก้อาการปวดหัวตัวร้อน เช่น ยาพาราเซตามอล เริ่มขาดตลาด จึงเป็นโอกาสของยาสมุนไพรไทยได้เป็นทางเลือกในช่วงยาฝรั่งขาดแคลน
นาทีนี้ยาไทยโดดเด่นที่สุดที่จะเป็นตัวเลือกแทนพาราเซตามอล คือ ยาจันทน์ลีลา ซึ่งสมุนไพรหลักทั้ง 9 ตัวในสูตรตำรับนี้ ได้แก่ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก และพิมเสน ล้วนมีงานวิจัยระบุสารออกฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ ต้านการอักเสบ ที่ตอบโจทย์แทนยาฝรั่งและปลอดภัยกว่าด้วย โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ 2 สถาบันที่มีชื่อเสียงคือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาฤทธิ์แก้ปวด ต้านการอักเสบ และแก้ไข้ของตำรับจันทน์ลีลา พร้อมกับศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันและพิษกึ่งเรื้อรังของตำรับยาจันทน์ลีลา ทำให้งานวิจัยตำรับยาจันทน์ลีลาสมบูรณ์ขึ้น กล่าวคือมีครบทั้งงานวิจัยด้านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และงานวิจัยด้านพิษวิทยา
ผลของการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้ปวด และแก้ไข้ โดยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบเฉียบพลันของตำรับยาจันทน์ลีลา ให้ผลใกล้เคียงกับยามาตรฐานฟีนีลบูตาโซน (phenylbutazone) และมีฤทธิ์ยับยั้งความเจ็บปวด ได้ผลดีกว่ายามาตรฐาน แอสไพริน และยังมีฤทธิ์ลดอุณหภูมิร่างกายได้ดี นอกจากนี้สารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลายังมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นพิษข้างเคียงของยาแอสไพริน ส่วนการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง พบว่าการใช้ตำรับยาจันทน์ลีลาในขนาดที่ใช้รักษาตามฉลากยา ไม่ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลันและพิษกึ่งเรื้อรังแต่อย่างใด
ยิ่งกว่านั้นยังมีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาจันทน์ลีลากับยาพาราเซตามอล ในการลดอาการไข้หวัด ในผู้ป่วยจำนวน 76 คน ที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี จังหวัดหนองคาย โดยมีหลักการและเหตุผลว่า การใช้ยาพาราเซตามอล อาจมีพิษต่อตับถึงตายได้ จึงนำยาจันทน์ลีลาเปรียบเทียบกับยาพาราเซตามอลในการลดอาการไข้หวัด เพื่อเป็นการยืนยันข้อมูลทางคลินิกในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยา และลดอัตราการใช้ยาแผนปัจจุบันและได้ข้อสรุปว่า การใช้ยาจันทน์ลีลาสามารถลดอาการไข้หวัด และลดอาการที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การใช้ยาจันทน์ลีลาและยาพาราเซตามอลไม่มีความแตกต่างกันในด้านการรักษาอาการ แต่ไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และภาวะแทรกซ้อนหลังการใช้ยาจันทน์ลีลา
ยังจำได้ว่าเมื่อ 5 ปีก่อนเกิดโควิดระบาด ทางองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ได้ปิ๊งไอเดียจะนำยาจันทน์ลีลามาใช้เป็นทางเลือกแทนยาพาราเซตามอลและยาแอสไพริน โดยออกมาแถลงข่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ปัจจุบันเมื่อคนป่วยเป็นไข้ นิยมใช้ยาพาราเซตามอลในการรักษา แต่การใช้ยาพาราเซตามอลในขนาดที่สูงเกินไป จะทำให้กลูตาไทโอน ซึ่งเป็นกลไกกำจัดพิษในตับหมดไปด้วย ส่งผลให้พาราเซตามอลส่วนเกินทำลายเนื้อตับ และจากการสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่าการใช้พาราเซตามอลในขนาดที่มากเกินไป เป็นสาเหตุของภาวะตับวายเฉียบพลัน ส่วนยาแอสไพรินที่ใช้ในการลดไข้อีกตัวก็จะกัดกระเพาะ ทั้งนี้จากการที่ประชาชนนิยมหันมาใช้ยาสมุนไพรเป็นทางเลือกในการรักษามากขึ้น อภ. จึงมีการพัฒนายาตำรับ “จันทน์ลีลา” ที่เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติในรูปแบบยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดอาการไข้ ตัวร้อน และไข้เปลี่ยนฤดู เพื่อใช้เป็นทางเลือกทดแทนการใช้ยาพาราเซตามอล เพราะสมุนไพรไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากร่างกายจะมีกระบวนการขับออกไปได้เอง ไม่เป็นพิษต่อตับ”
สำหรับวิธีใช้ยานั้น ในผู้ใหญ่ให้กิน 2 – 4 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ส่วนในเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 – 12 ปี ให้กินครั้งละ 1 – 2 เม็ด และในกรณีหญิงที่มีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือนก็แนะนำให้ใช้ได้ แต่ไม่แนะนำให้ผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกกินยานี้ เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก และหากกินยาเป็นเวลา 3 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้นก็ควรรีบไปพบแพทย์
ในช่วงต้อนรับ “การท่องเที่ยวแบบล้างแค้น” ซึ่งโควิดได้กลับมาล้างแค้นรอบใหม่ จึงเป็นจังหวะเหมาะที่ยาไทยตำรับดั้งเดิม ชื่อ ยาจันทน์ลีลาสู้ภัยโควิด ได้เช่นกัน