สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ได้ประชุมสรุปความคืบหน้าโครงการวิจัยมะละกอ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมามีการรายงานความคืบหน้าเรื่องโครงการวิจัยเรื่อง การรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์มะละกอรับประทานสดและแปรรูประบบผลิตเมล็ดพันธุ์ โดย ดร.สิริกุล วะสีและคณะ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตุร้อน ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ความก้าวหน้าขณะนี้คัดเลือกได้มะละกอสำหรับบริโภคสดเนื้อสีแดงเข้มสี # 4 จำนวน 5 สายต้น เป็นแขกดำ 4 สายต้นและปลักไม้ลาย 1 สายต้น และมะละกอแปรรูปเนื้อสีเหลือง 3 สายต้น ขณะนี้กำลังอยู่ใรรอบการคัดเลือกปลูกรอบที่ 3 นอกจากนี้ได้ข้อสรุปกี่ยวกับระบบผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีโดยในทางปฏิบัติต้องมีการร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรในการกำหนดมาตรฐานระบบการผลิตเมล็ดพันธ์ที่ดีต่อไป
งานวิจัยอีกเรื่องสองเรื่องที่น่าสนใจคือ การสร้างต้นแบบการผลิตมะละกอแบบยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดย ดร.กนกพร บุญญะอติชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังวิทยาเขตุชุมพร งานวิจัยนี้ทำการศึกษาในแปลงจริงโดยมีการวางระบบการจัดการต้นกล้า ดิน น้ำ ปุ๋ยหรือธาตุอาหาร การจัดการโรค สภาพแวดล้อมโดยการสร้างแนวป้องกันหรือปลูกพืชผสมผสานเช่นกล้วย สรุปผลออกมาก็คือการช่วยชลอการเกิดโรคไวรัสใบจุดวงแหวนได้ระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถใช้เป็นต้นแบบที่ยั่งยืนได้
งานวิจัยเรื่องที่สองคือเรื่องการทดสอบระบบการผลิตมะละกออย่างยั่งยืนในจังหวัดสระแก้ว โดย ดร.ลำแพน ขวัญพูน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จ.สระแก้ว มีการวางแผนการทดลองหลายรูปแบบ เช่นแบบการให้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกพืชไล่แมลงหรือพืชแซมเช่นกล้วย ยางพารา กระเพรา การปลูกพืชแซมที่เป็นพืชล่อแมลงเช่นพริก มะเขือ การพ่นสารชักนำให้เกิดการทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนโดยพ่นสารเม็ทธิลจัสโมเนทและกรดซาลิไซลิคที่ความเข้มข้นต่างๆ ผลการทดลองในการปลูกพืชไล่และการพ่นด้วยสารเพื่อสร้างความทนทานต่อโรคคือเม็ทธิลจัสโมเนทและกรดซาลิไซลิคสามารถช่วยลดความรุนแรงในการระบาดของโรคจุดวงแหวนในมะละกอได้ระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถเป็นระบบที่จะใช้เป็นต้นแบบในการผลิตมะละกอแบบยั่งยืนได้เช่นกัน
คุณอภิกิจ รัตนมาโนชญ์ ผู้ปลูกและค้ามะละกอรายใหญ่ บอกในที่ประชุมว่าขณะนี้พบปัญหาไวรัสฯรุนแรงแม้จะมีการย้ายที่ไปเรื่อยๆก็ตาม แปลงสุดท้าย 160ไร่ อายุ 4 เดือนมีปัญหาไวรัสฯระบาดทั้งแปลงต้องรื้อทิ้งไปเลย ขณะนี้เริ่มท้อกับการทำมะละกอกินสุกแม้จะได้ราคาที่ดีก็ตามจึงเริ่มปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพราะแน่นอนกว่าและได้ราคาที่ดีพอสมควร
ปลายปี 2555ที่สวนของผมเองที่ จ.ปทุมธานี ได้เสี่ยงปลูกมะละกออีกรอบหลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 หลังจากได้พบเห็นมะละกอที่ขึ้นเองตามหัวคันนาเจริญเติบโตดีไม่มีโรคไวรัสฯรบกวน โดยพันธุ์ที่นำมาปลูกเป็นพันธุ์ลูกผสมไต้หวันที่มีพันธุ์แขกดำเป็นคู่ผสม เริ่มเก็บผลได้เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื้อแน่น สีแดง # 4 ความหวานสูงกลิ่นแขกดำหอมฟุ้งไปทั้งห้อง จากจำนวนต้นกล้าที่เพาะเมล็ดจำนวน 500 ต้น หลังตัดต้นตัวเมียผลกลมและต้นที่ติดไวรัสออกแล้วเหลือต้นที่ให้ผลผลิตได้เพียงประมาณ 50 ต้น สิ่งที่พบจากการปลูกมะละกอรอบนี้ทั้งที่ปลูกในระบบแปลงและการปลูกในมุ้งกันแมลง พอสรุปได้ว่าการปลูกมะละกออย่างยั่งยืนให้ปลอดจากไวรัส อร่อยทุกลูกและไม่ต้องใช้เทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรมนั้นสำหรับแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสฯต้องปลูกในมุ้งกันแมลงเป็นหลัก โดยเมล็ดที่นำมาปลูกต้องมาจากระบบปลูกให้ปลอดเชื้อไวรัสจุงวงแหวนจริงๆ เพราะเชื้อสามารถติดไปกับเมล็ดๆได้ รวมทั้งเชื้อสามารถอยู่ในดินได้แต่หากผ่านการท่วมน้ำจะเป็นการฆ่าเชื้อไปในตัว
เมื่อวันที่ 11 กค.ที่ผ่านมาได้มีโอกาสพบกับทีมอาจารย์จาก ม.จงชิง ไต้หวัน ที่นำนักศึกษามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เมืองไทยทำให้ได้ความชัดเจนในเทคโนโลยีการผลิตมะละกออย่างยั่งยืนชัดเจนตามข้อมูลโดยสังเขปข้างต้นเรื่องราวของมะละกอที่เป็นอาหารหลักประจำวันอย่างส้มตำของเราและเป็นผลไม้สุขภาพของหลายคนนั้น ในบริบทภายใต้การจัดการแบบไทยๆยังต้องพบกับวิบากกรรมต่อไปและนับแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปมะละกอจะเริ่มมีน้อยลงไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนเพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเดือนมีนาคม-ต้นมิถุนายนที่ผ่ามาทำให้มะละกอเปลี่ยนรูปร่างเป็นผลกลมเนื้อบางหรือผลลีบเล็กในพันธุ์ฮอลแลนด์จนขายไม่ได้
นี่คือโลกของผักและผลไม้ที่กำลังผจญเรื่องของความมั่นคงทางด้านอุปทานทั้งโรคแมลงและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความเสี่ยงของผู้ผลิตมีมากขึ้นทั้งต้นทุนและราคาผักผลไม้ต่างแดนที่เข้ามาเป็นทางเลือกของผู้บริโภคมากขึ้น อนาคตเกษตรรายย่อยๆที่ไม่มีทุน เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้จะอยู่กันอย่างไร
ที่มา : เปรม ณ สงขลา เดลินิวส์ 29 ก.ค.2556