เชื่อว่าถ้ามีการสำรวจต้นไม้ที่คนไทยอยากปลูกไว้ประจำบ้าน เชื่อว่าทุกบ้านที่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ น่าจะเลือกมะม่วงมาเป็นอันดับต้น ๆ แน่นนอน ที่สำนักงานมูลนิธิสุขภาพไทยก็ปลูกมะม่วงไว้ 2 ต้น พอชำเลืองมองไปเพื่อนบ้านข้างเคียงมูลนิธิสุขภาพไทยก็มีมะม่วงเกือบทุกบ้าน จึงขอมาคุยเรื่องมะม่วงกัน
มะม่วง (Mangifera indica Linn. ) เป็นต้นไม้ที่ให้ผลให้เรากิน ตลอดทั้งปี เด็กเล็ก เด็กโต ที่เล่นอยู่กับบ้าน ช่วงไม่ต้องไปโรงเรียน ก็มักไปหาไม้สอย (ไม้ส้าว) มาสอยมะม่วง ปกติเราบริโภคมะม่วงเป็นอาหารมากกว่าใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพร มะม่วงเปรี้ยวเหมาะกับพริก เกลือ หรือน้ำปลาหวาน นัยว่าความเปรี้ยว จะลดน้อยลง หากได้เจอกับเกลือ โดยปอกแล้วเอาล้างด้วยน้ำเกลือเล็กน้อย วิธีนี้ใช้ทำยำมะม่วงดิบ ยกเว้นแต่มะม่วงมันมักไม่ต้องอาศัยเครื่องจิ้ม มะม่วงหวานที่ออกเปรี้ยวหน่อย อย่างมะม่วงป่า มะม่วงสามปี (ชื่อสายพันธุ์มะม่วง) สุกๆ นำมาปอกหั่นแช่เย็น ใช้กินกับข้าวเปล่า ๆ ก็อร่อยได้ ผู้สูงอายุนิยมหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมกินเป็นคำ ๆ ได้ หากกินมะม่วงหวานๆทุกวันและกินอย่างเดียว อาจทำให้ตาหวาน หรือมีขี้ตาแฉะ ๆ ซึ่งบอกถึง อาการร้อนใน หรือมีแคลอรี่ในร่างกายสูง (แต่ไม่มากเท่าทุเรียน) จึงควรกินแต่พอดี อย่าบ่อยมากนัก และท่านที่เป็นเบาหวานควรระวังน้ำตาลจากมะม่วงสุกจะมีผลเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ถ้ามะม่วงดิบจะหวานลดลง มีแป้งมากกว่าน้ำตาล แต่กินมาก ๆ แป้งก็จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้
สำหรับในทางยาสมุนไพร มะม่วงมีคุณประโยชน์มากอย่างที่คาดไม่ถึงทีเดียว ดังนี้
มะม่วงที่วิจัยทางเภสัชวิทยามีอย่างน้อย 20 สายพันธุ์ การใช้ทางพื้นบ้าน พบว่าส่วนที่ใช้เป็นยาของมะม่วง ได้แก่ เปลือกลำต้น ใบ ดอก ผลและเมล็ด ตัวอย่างตำรับยาพื้นเมืองล้านนาที่ใช้มะม่วง
1.เจ็บตาเพราะดีนั้น (หมายถึงหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทย อาการเจ็บตาเพราะดีกำเริบ) ให้เอาเปลือกมะม่วงกาสอ ชะเอ็ม (ชะเอม) เข้าหมิ้น (ขมิ้นชัน) รากมะกล้วย (ฝรั่ง) ชำพอ (หางนกยูงบ้าน) เท่ากัน เคี่ยวน้ำสามบวย เอาหนึ่ง (น้ำสามกระบวย เคี่ยวให้เหลือ 1 กระบวย) แล้วเอาน้ำผึ้ง น้ำตาลลงคนไว้ให้เย็นแล้วเอาผ้าขาวปกตาแล้วเอาน้ำยารดนอกผ้า ให้รอดเข้าตาหาย
2.อันหนึ่งยานิ่วให้เอาแกน (แก่นต้น) ผักหละ (ชะอม) แกนมะม่วง แกนมะเฟือง แกนมะคะทอง ต้มใส่ข้าวจ้าวกินดีแท้เชื่อแล้วแลฯ
3.ยาแก้สรรพะ เอาผักหวานบ้าน รากจอยนาง หญ้าหลักนา กาฝากผักหละ เปลือกมะม่วงธิดา ขวั้นมะฟักขม เขากวาง โก้งมะปิน (หัวจุก) จันทร์ขาว-แดง ฝนตกน้ำกินเทอะ
4.เบาหวาน ให้เอา กาฝากมะม่วงสามปี ข้าวจ้าวต้มกินทุกวัน และเอาแกนข้าวสาลีต้มกินจำเริญ
ตำรับยาพื้นบ้านในอินเดีย ใช้เปลือกต้นมะม่วง ผสมน้ำดื่ม ช่วยแก้ท้องร่วง ใช้สวนทวารหนัก ป้องกัน รักษาริดสีดวงทวาร โดยอาศัยฤทธิ์ฝาดสมาน นอกจากนี้ เปลือก ยังใช้แก้บิด ใบ ใช้แก้ลำไส้อักเสบเรื้อรัง แก้ท้องอืดแน่น แก้เด็กเป็นตานขโมย ชะล้างบาดแผล ในอินเดียมีเครื่องดื่มน้ำมะม่วงเป็นที่นิยมมาก ใช้ช่วยร่างกายกรณีเป็นลมแดด และยังกินบำรุงกระเพาะอาหาร แก้คลื่นไส้วิงเวียน บรรเทาอาการกระหายน้ำ แก้อาเจียน ผลสุกกินประจำ แก้เลือดออกตามไรฟัน เมล็ด แก้ท้องเสีย รักษาบาดแผล ขับพยาธิ ในประเทศเวเนซูเอลา ใช้ใบแก้อาการท้องร่วงที่มีอาเจียนร่วมด้วย ใช้ใบแก้ปวดฟันและเหงือก โดยใช้ใบชงน้ำร้อนแล้วอมน้ำยาไว้ในปาก ส่วนดอกใช้แก้อาการท้องเสีย และ บิด ผลมะม่วงสุกได้รับการกล่าวขานว่าช่วยเสริมกำลัง ทำให้สดชื่น ในมาเลเซีย ใช้เมล็ด ชงน้ำร้อนดื่ม แก้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ แต่ในยาพื้นบ้านเวียดนามใช้เปลือกของผล กินแก้ประจำเดือนมามาก เปลือกของต้น ยังใช้แก้ไข้ ในกัมพูชา ใช้เปลือกแก้อาการรูมาตอยด์ โดยนำมาต้ม และแก้ตกขาว โดยใช้เป็นยาสวนชะล้าง การใช้มะม่วงตามภูมิปัญญาพื้นบ้านนั้นพบว่ามีความคล้ายกันทั้งในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย และกัมพูชา
มูลนิธิสุขภาพไทยเองเคยเผยแพร่ประโยชน์จากมะม่วงไว้บ้างแล้ว ขอนำมาส่งเสริมการใช้อีกครั้งว่า ชาใบมะม่วงมีส่วนช่วยบำรุงฮอร์โมนเพศหญิง เพราะมีไฟโตเอสโตรเจน (Phyto Estrogen) บำรุงกำลัง โดยนำใบมะม่วงเขียวสด (ไม่อ่อนไม่แก่) พันธุ์ใดก็ได้ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นหยาบ ๆ ผึ่งแดดให้แห้ง คั่วในกระทะด้วยไฟอ่อนจนกรอบ ทิ้งไว้ให้เย็นเก็บในภาชนะปิดสนิท วิธีดื่มให้นำ ชาใบมะม่วง 1 หยิบมือใส่ถ้วยชา เทน้ำเดือดลงไป 200-250 ซีซี ตั้งทิ้งไว้ 5-10 นาที ดื่มขณะอุ่น ๆ
ผลมะม่วง มีเบตาคาโรทีน เส้นใย และวิตามิน สารสำคัญในเปลือกเป็นแทนนิน ส่วนใหญ่ ได้แก่กรดแกลลิค เคอเซติน แคมเฟอรอล และอื่น ๆ แต่ผลประกอบด้วยสารกลุ่ม เอโทฟีโนน กรดแกลลิค คาโรทีนอยด์กลุ่มต่างๆ คลิบโตแซนทีน ลูเทอีน เซสควิเทอร์พีน เบต้าเซลินีน กลุ่มโมเทอร์พีน วิตามิน ได้แก่วิตามินซี อัลคีนและแลคโตน โปรตีด ไลปิด คูมารินส์ ได้แก่กรดอีลาจิค เบต้าซิโตสเตียรอล และสารกลุ่มฟวาโวนอยด์ ทางการแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือ นิยมใช้กาฝากของมะม่วงสามปีปรุงยาลดความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ดีพบว่าบางคนเมื่อสัมผัสส่วนต่างๆ ของมะม่วงอาจทำให้แพ้ได้ เช่น ทำให้เกิดลมพิษ ผื่นคัน ผื่นแดง ตุ่มพุพอง
ในงานด้านเภสัชวิทยา มีงานวิจัยมะม่วงจำนวนมากในห้องทดลอง เช่น ฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาเบาหวาน แอนตี้อ๊อกซิแดนท์ แอนตี้ไวรัส บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เชื้อรา และฆ่าพยาธิ ฆ่าพาราไซท์ ต้านมะเร็ง เอช ไอ วี ต้านการสลายของกระดูก ต้านการหดตัวกล้ามเนื้อเรียบ แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้แพ้ ปรับสมดุลความต้านทาน ลดไขมันในเลือด ต้านจุลินทรีย์ ปกป้องตับ ปกป้องกระเพาะอาหาร ซึ่งผลการศึกษาเหล่านี้จำเป็นต้องวิจัยพิสูจน์ผลต่อไป
มะม่วงกินอร่อยมีผลดีต่อร่างกาย ทำเป็นยาสมุนไพรดูแลสุขภาพก็ได้ และมะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจ เสริมสร้างรายได้ด้วย ฤดูฝนนี้จึงขอเชิญชวนทุกคนมาเตรียมดินเตรียมพันธุ์ปลูกมะม่วงกันดีกว่า.