มะม่วงหัวแมงวันเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง อยู่ในกลุ่มมะม่วงแต่มีผลขนาดเล็กมาก เพราะผลเล็กนี่เองคนจึงตั้งชื่อเปรียบเทียบเรียกว่า มะม่วงหัวแมงวัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Buchanania lanzan Spreng. มีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น มะม่วงแมงวัน (ลำปาง) หัวแมงวัน (สุโขทัย) มะม่วงหัวแมงวัน (นครราชสีมา มหาสารคาม ราชบุรี) ฮักหมู ฮักผู้ (ภาคเหนือ) รักหมู (ภาคใต้) มะม่วงนก (ภาคกลาง) มีถิ่นกำเนิดใน บังคลาเทศ กัมพูชา จีนตอนใต้ เกาะไหหลำ อินเดีย ลาว เมียนมาร์ เนปาล ไทย เวียดนาม หิมาลายาตะวันตก
เชื่อว่าหลายคนเคยเห็น แต่ก็ขอแนะนำให้บางคนที่ไม่รู้จักได้รู้จัก ต้นมะม่วงหัวแมงวันเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8-20 เมตร ขนาดรอบต้น 60-100 เซนติเมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ ตามก้านและกิ่งอ่อนมีขนยาว ๆ สีน้ำตาลแดงทั่วไป เปลือกสีเทาแก่หรือดำ แตกเป็นร่องหรือเป็นสะเก็ดยาว ๆ ตามลำต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบสอบ ปลายใบมน หรือสอบแหลม เนื้อใบหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสาก ๆ พบมากตามเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบ ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ก้านช่ออวบ มีขนสีน้ำตาลแดงแน่น แยกแขนงสั้น ๆ เวลาดอกบานทำให้ดูเป็นก้อนทึบ ดอกขนาดเล็กสีขาว ทั้งกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ด้านนอกของกลีบรองกลีบดอกและรังไข่มีขนแน่น ผล สีเขียวปนม่วงค่อนข้างกลม หรือป้อม ขนาด 1-1.5 เซนติเมตร ผิวเรียบ
เหตุที่นำมาเล่าสู่กันฟัง เนื่องจากในฐานข้อมูลด้านศาสนาพุทธของ Wisdom Library (https://www.wisdomlib.org/definition/ rajayatana) และ SuttaCentral (https://suttacentral.net/define/r%C4%81j%C4%81yatana?lang=en) ได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใต้ต้น ราชาตนะ(Rājāyatana) เป็นไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Buchanania lanzan Spreng. ซึ่งก็คือต้นมะม่วงหัวแมงวันนั่นเอง แต่ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย กล่าวว่า ต้นราชาตนะ หมายถึงต้นเกด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manilkara hexandra (Roxb.) Dubard ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงระบุชื่อต้นไม้ที่ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม มะม่วงหัวแมงวันเป็นต้นไม้ที่ก็พบได้ในเมืองไทย ที่น่าสนใจผลหรือลูกนำมากินได้ทั้งอ่อนและสุก มีรสหวาน แต่ยางของผลอาจทำให้ระคายเคืองในลำคอได้ เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเทา ใช้ทำลังใส่ของ ทำประตูหน้าต่างและเครื่องตกแต่งบ้านได้ เมล็ด สกัดเอาน้ำมันไปทำยาแก้โรคผิวหนัง ยางและราก บดใช้ทำยาแก้โรคท้องร่วง ยางและรากใช้ทำสีย้อมผ้า สีพิมพ์ผ้า
ชาวกะเหรี่ยงเรียกมะม่วงหัวแมงวันว่า สะโก่เร และสามารถนำมาทำเป็นขนมกิน เปลือกต้นใช้ย้อมผ้าได้สีน้ำตาลอ่อนหรือชมพู ในอินเดียนิยมบริโภคเมล็ดของมะม่วงหัวแมงวันกันค่อนข้างมาก เพราะเมล็ดที่คั่วแล้วมีกลิ่นหอม รสชาติเหมือนอัลมอนด์หรือถั่วพิสทาชิโอ ยังนำเมล็ดไปบดทำขนมด้วย และน้ำมันที่ได้จากเมล็ดมีสีเหลืองอ่อน รสหวาน กลิ่นหอม จึงใช้ทดแทนน้ำมันอัลมอนด์หรือน้ำมันมะกอกได้ด้วย
ในสรรพคุณทางยา ชาวอินเดียนำยางจากต้นใช้รักษาโรคเรื้อน ถ้านำไปผสมกับนมแพะ ใช้รักษาอาการปวดระหว่างซี่โครงและท้องเสีย รากมีฤทธิ์ฝาดสมาน เย็น ใช้ขับสารพิษ แก้ท้องผูก มีประโยชน์ในการรักษาโรคท้องร่วงซึ่งในศรีลังกาก็ใช้เช่นกันโดยใช้ส่วนของใบ ในอินเดียใช้ใบแก้โรคผิวหนัง แก้สิว ผดผื่น และอาการคันได้ แต่ในศรีลังกานำเมล็ดมาบดทำเป็นยาขี้ผึ้งทาแก้โรคผิวหนังเช่นกัน ในอินเดียนำผลหรือลูกมาใช้เป็นยาแก้ไอและหอบหืด นอกจากนี้น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดใช้ทดแทนน้ำมันอัลมอนด์ในการบริโภคแล้ว ยังนำน้ำมันมาทาเพื่อลดอาการบวมจากการอักเสบของทอลซิลหรือคางทูมด้วย
ในอินเดียมีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมะม่วงหัวแมงวันมากกว่า 100 รายการ เช่น การศึกษาสายพันธุ์ ศึกษาคุณภาพของเมล็ด ศึกษาสารเคมีหรือฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ฤทธิ์ทางยา ฯลฯ ดังเช่นในปี ค.ศ. 2013 พบว่าสารสกัดจากรากของมะม่วงหัวแมงวัน มีศักยภาพสูงมากในการสมานแผล และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เด่นชัด สามารถนำมาพัฒนาเป็นแผ่นปิดแผลได้
มะม่วงหัวแมงวันเป็นพืชที่ได้รับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหยที่มีประโยชน์ต่อวงการเกษตรกรรมด้วย พบว่ามีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อราที่ก่อโรคซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเมล็ดถั่วลิสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้สรรพคุณของเมล็ดมะม่วงหัวแมงวันนี้เป็นการแก้ปัญหาเชื้อราในผลผลิตทางการเกษตร และช่วยลดการใช้สารเคมีอันตรายได้อย่างดีด้วย ซึ่งช่วยส่งผลให้พืชแข็งแรงและผลผลิตดีขึ้น และผู้บริโภคกินอาหารที่ปลอดภัยด้วย
แต่การนำเมล็ดของมะม่วงหัวแมงวันมาใช้ประโยชน์นั้นได้มาจากป่าธรรมชาติทั้งสิ้น ยังไม่มีการปลูกมะม่วงหัวแมงวันเป็นการค้า อาจเนื่องมาจากเมล็ดมีอัตราการงอกค่อนข้างต่ำ ทำให้ผลิตกล้าได้ยาก จากการศึกษาเฉพาะในรัฐโอริสสาของอินเดีย มีมะม่วงหัวแมงวัน 4,396,000 ต้น ผลผลิตเมล็ด 821.4 กรัมต่อต้นต่อปี และได้เมล็ดพันธุ์ 1,200 ตันต่อปี ราคาในท้องตลาดค่อนข้างดีด้วย หากพัฒนาการเพาะปลูกขยายได้ดีน่าจะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ
มะม่วงหัวแมงวันให้ยางเหนียวจำนวนมาก ลักษณะที่ได้เป็นชิ้นใหญ่และมีขนาดไม่สม่ำเสมอ ละลายน้ำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น (ประมาณ 10% ไม่ละลายน้ำ) แต่ให้เมือกที่ดี ยางเหนียวมีคุณสมบัติในการยึดเกาะดี ยางที่ดูเหมือนไม่มีประโยชน์อาจจะมีค่าขึ้นมาได้ถ้าทดลองศึกษาวิจัย
เมืองไทยมีการศึกษาเกี่ยวกับมะม่วงหัวแมงวันน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เรามีทรัพยากรนี้อยู่ไม่น้อย หรือเพราะชื่อเรียกไม่โดนใจคนไทย หรือเรามาเรียกว่า “มะม่วงราชาตนะ” กันดี?”