ในช่วงนี้จะพบว่าผลไม้เก่าแก่ชนิดหนึ่งกำลังออกลูกสะพรั่ง เรียกกันว่า มะพูด คนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นกลางคนอีกจำนวนมากก็อาจไม่รู้จักกันแล้ว วันนี้เรามารู้จักมะพูดกัน
มะพูด มีชื่อสามัญว่า Garcinia ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia dulcis (Roxb.) Kurz ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ไข่จระเข้ ตะพูด ส้มปอง ส้มม่วง (จันทบุรี), พะวาใบใหญ่ (จันทบุรี, ชลบุรี), ปะหูด (ภาคเหนือ), ปะหูด มะหูด (ภาคอีสาน), จำพูด มะพูด (ภาคกลาง), ตะพูด พะวา ประหูด ประโหด ประโฮด มะนู (เขมร), ปะพูด เป็นต้น ต้นมะพูดมีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 7-15 เมตร เรือนยอดเป็นทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ เป็นทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตั้งตรง และอาจมีลักษณะเป็นปุ่มปมตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งเกิดจากการหลุดร่วงของกิ่งก้านทั่วไป เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม เรียบ และแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาวของลำต้น เมื่อเปลือกต้นเกิดบาดแผลจะมียางสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองไหลซึมออกมา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการใช้กล้าปักชำ การกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้น และตามชายห้วยหรือพื้นที่ริมน้ำในป่าเบญจพรรณ ประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พื้นที่แถบชายแดนจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ ในต่างประเทศพบได้ตั้งแต่อินเดียจนถึงลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ชวา และบอร์เนียว
ขยายความลักษณะทางพฤกษศาสตร์อีกสักนิด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ
โคนใบกว้างมนตัดตรง เว้าเล็กน้อยคล้ายกับรูปหัวใจและค่อย ๆ สอบเรียวเล็กไปที่ปลายใบ ส่วนขอบใบเรียบ เนื้อใบเหนียวและหนา หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน เมื่อแห้งเป็นสีเหลืองอมสีเทา ส่วนก้านใบสั้นย่นขรุขระและมีขนบาง ๆ ดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 3-5 ดอก มีกลีบดอก 5 กลีบซ้อนกันอยู่ มีลักษณะตูมเป็นรูปทรงกลม จะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ผลเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองสดอมสีส้ม เนื้อในผลเป็นสีเหลือง มีรสเปรี้ยวอมหวาน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี สีน้ำตาล โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน แต่ในบางปีก็มาออกผลล่ามาเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ผลมะพูดน่าสนใจมาก เป็นสมุนไพรใช้ได้ในครัวเรือน น้ำคั้นจากผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อาการไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะหรือกัดเสมหะ ผลมะพูดยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆและสรรพคุณแบบโบราณว่าช่วยขับถ่ายโลหิตเสียให้ตก และแก้อาการช้ำในด้วย ส่วนของรากมีรสจืด ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้อาการร้อนใน ช่วยถอนพิษผิดสำแดง เปลือกต้นมีรสฝาด นำไปต้มกรองใช้น้ำเป็นยาชำระล้างบาดแผลต่าง ๆ ได้ เมล็ดนำมาบดผสมกับน้ำส้มหรือผสมเกลือ นำมาใช้ทาแก้อาการบวม ในชวาและสิงคโปร์ใช้เมล็ดตำละเอียดรักษาอาการบวมเช่นกัน
นอกจากนี้มีข้อมูลจากต่างประเทศรายงานว่า ผลมะพูดมีฟอสฟอรัสและคาร์โบไฮเดรตสูง และมีกรดซิตริก(ให้รสเปรี้ยว)ในปริมาณมากด้วย ในต่างประเทศใช้น้ำจากผลเป็นยาละลายเสมหะ แก้ไอ รักษาอาการลักปิดลักเปิดหรือโรคขาดวิตามินซี เช่นเดียวกับในประเทศไทย น้ำคั้นจากรากใช้ลดไข้ ลดพิษและขับสารพิษออกจากร่างกาย น้ำคั้นจากเปลือกใช้ล้างแผล นอกจากนี้ยังใช้ใบมาเป็นสีย้อมธรรมชาติซึ่งจะให้สีเขียวสวยงามดี และเมื่อนำไปผสมกับสีครามจะให้สีน้ำตาล ในบางประเทศใช้น้ำคั้นจากเปลือกนำไปย้อมให้สีน้ำตาลทำเสื่อปูรองนั่งหรือนอนได้ และเปลือกต้นยังสกัดนำไปย้อมสีเส้นไหมได้สวยงามด้วย โดยจะให้สีเหลืองคล้ายสีเหลืองของดอกบวบที่มีสีเหลืองสด ยางจากผลดิบเรียกว่า “รง” (gamboge) จะให้สีเหลืองก็นำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พบว่าน้ำคั้นจากเปลือกมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ และมีงานวิจัยเชิงลึกพบว่ามะพูดมีสารประกอบที่มีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือด สันนิษฐานว่าสารนั้นไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ชนิดหนึ่ง เรียกว่า HMG-CoA reductase ซึ่งช่วยลดไขมันในเลือด
ผลสุก มีรสหวานอมเปรี้ยว กินเป็นผลไม้ ในปัจจุบันมีการนำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้และผลไม้กวนจำหน่ายกันแล้ว ผลดิบมีรสเปรี้ยวค่อนข้างมากจึงนำมาใช้แทนมะนาวในการทำแกงต่าง ๆได้ มะพูดเป็นไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มสวยงาม มีใบและผลเด่นที่สวยงามโดดเด่น จึงนำมาปลูกเป็นไม้ประดับและปลูกเพื่อให้ร่มเงาได้ เช่น ปลูกในบริเวณศาลา ใกล้ทางเดิน ริมน้ำ ในสวนผลไม้ เป็นต้น
คนไทยแต่ดั้งเดิมมีความเชื่อว่า หากปลูกต้นมะพูดไว้ในบริเวณบ้านจะช่วยส่งเสริมให้ลูกหลานเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา พูดในสิ่งที่ดีงาม พูดจาไพเราะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน ซึ่งมักจะนิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน ในอดีตมีการใช้ประโยชน์จากมะพูดกันมาก แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรมะพูดลดลงมาก คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว
มะพูด ไม้โบราณอีกชนิดหนึ่งที่น่าส่งเสริมให้มีการปลูกและนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์ต่อไป.