เหมือนนัดหมายรายปีในช่วงปลายสิงหาคมชนต้นกันยายน มิตรรักแฟนพันธุ์แท้สมุนไพรได้โอกาสเที่ยวงานสมุนไพร เพียงแต่ปีนี้หน่วยงานหลักภาครัฐจัดงาน 100 ปีการสาธารณสุขไทยได้ผนวกเอางาน “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 15” ไปแสดงแล้วเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เวลาที่ชาวสมุนไพรเคยนัดหมายไว้ก็พลอยจะล่วงไป หน่วยงานภาคประชาสังคม มูลนิธิ สมาคม กลุ่ม ชมรม และภาคเอกชนได้ชวนภาครัฐบางแห่งนัดหมายจัดงานใหญ่ “สมุนไพรและอาหาร ครั้งที่ 3” ขึ้นให้หายคิดถึงกัน
จัดงานนี้ให้คล้องถึงนโยบายรัฐที่ให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคม ชุมชน และการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้วยพลัง Bioeconomy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ ต้องบอกว่าอินเทรนกับกระแสโลกอย่างยิ่ง เพราะประเทศชั้นนำของโลกกำลังมุ่งมาทางนี้ ระดมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งเมืองไทยมีอยู่เต็มเปี่ยมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และพรั่งพร้อมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่รวมเอาทั้ง พืช สัตว์ แมลง จุลินทรีย์ เห็ด รา ฯลฯ ที่โดดเด่นไม่แพ้ใครในโลก
ขอเน้นย้ำให้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพไปถูกทิศถูกทาง ดังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนปัจจุบัน เคยกล่าวว่า “ในเรื่อง Bioeconomy เรามีเป้าหมายร่วมกันเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับศักยภาพและคุณค่าของมนุษย์ การรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในสังคม รวมถึงเปลี่ยนแนวคิดจากการแข่งขันให้เป็นความร่วมมือและเครือข่ายมากขึ้น เปลี่ยนการบริโภคเหลือทิ้งเหลือขว้างให้เป็นการบริโภคแต่พอดี ตลอดจนให้ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในฐานะที่เป็นแหล่งของพลังงานไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปเท่านั้น”
พอจะสรุปการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพที่สังคมไทยมีศักยภาพได้สัก 5 เรื่อง (อาจมากกว่านี้) ได้แก่ 1) การเกษตรอย่างยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ตามเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) 2)ทางการแพทย์หรือสุขภาพที่พัฒนาจากสมุนไพร รวมถึงจุลินทรีย์และเห็ด 3) ด้านพลังงานชีวภาพ และถ้าเรานับเอาพลังงานแดด ลม คือชีวภาพธรรมชาติ ประเทศไทยก็มีอยู่พร้อม และในระดับโลกยังพัฒนาพลังงานทดแทนในอุปกรณ์ขนาดเล็ก (แบตเตอรี่ชีวะ) การผลิตพลังงานจากจุลินทรีย์สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้วย 4) การประมงที่ยั่งยืน ท้องน้ำและทะเลไทยมีความหลายหลายทางชีวภาพสามารถนำมาใช้ทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนได้ และ5) จุดโดดเด่นมาก ๆ คือ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จากเหนือจรดใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก เมืองไทยมากด้วยวัฒนธรรม ประเพณี อาหารท้องถิ่น สวนผลไม้ และที่สุดยอดคือน้ำใจคนไทย ทำให้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นพลังเศรษฐกิจชีวภาพได้สบาย ๆ
ทั้ง 5 ข้อนี้ เราพยายามนำมาให้ชม ชิมและช้อปในงาน เพื่อให้เห็นว่าชุมชนและชาวบ้านได้ช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ เริ่มจากการเกษตรอย่างยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารนั้น นอกจากผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์มากมายหลายสายพันธุ์ทั้งข้าวเจ้าข้าวเหนียวแล้ว แป้งข้าวพื้นเมืองกำลังเป็นวัตถุดิบมาแรงแทนที่แป้งข้าวสาลี เกษตรกรหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งได้แปรรูปแป้งข้าวพื้นเมืองมาสู่ “พิซซ่าข้าวไทย” รสอร่อย นุ่มกรอบ เคยแอบฟังคุณแม่ท่านหนึ่งยืนรอหน้าเตาอบเล็ก เพื่อซื้อนำไปให้ลูกที่บ้านกิน เพราะเด็กน้อยนี้กินแป้งจากข้าวสาลีไม่ได้เนื่องจากอาการแพ้โปรตีนในข้าวสาลี ที่เรียกกันว่า โปรตีนกลูเตน แป้งข้าวพื้นเมืองจึงเป็นอาหารจากความหลากหลายชีวภาพและด้วยฝีมือครัวไทยสามารถปรับแต่งเป็นพิซซ่าเลิศรส และผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นชุมชนอีกมากมาย
ที่จะมีให้ชมจุใจคอสมุนไพรตรงที่ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจัดเต็มในธีมสมุนไพรในอาหาร “กินเปลี่ยนวัย” ช่วยส่งเสริมสุขภาพและบรรเทาความรุนแรงของโรคต่าง ๆ เช่น การกินพืชตระกูลขิงข่า ขมิ้นชัน ช่วยต้านการอักเสบ กินอบเชย มะขามป้อม ตรีผลาก็เข้าข่ายและช่วยต้านอนุมูลอิสระด้วย ถ้ากินช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย ควรเลือกกิน ตดหมูตดหมา ผักปลังขาว ถ้าเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงก็ต้องลูกยอ และรากสามสิบ เป็นต้น
ถ้ากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการกินสมุนไพรเพื่อเป็นการดูแลแบบผสมผสานกับการรักษาหลัก ตอนนี้ทีฮิตมากๆ ก็สมุนไพรหนานเฉาเหว่ยหรือป่าช้าหมอง ที่มีรสขมจัดเป็นสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด ก็จะมีการแปรรูปสมุนไพรรสขมให้กินง่าย ให้ติดตามมาชิมกัน แต่ถ้าพอทนรสขมไหวอาหารสมุนไพรมะระขี้นกหรือมะระจีนก็ช่วยลดน้ำตาลในเลือด แต่ขอย้ำว่าผู้ที่เป็นเบาหวานการควบคุมอาหารการกิน การออกกำลังกาย คือพฤติกรรมสุขภาพที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีอาหารสมุนไพรอีกมากมาย
นอกจากให้ความรู้การกินแล้ว มิตรจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยกขบวนนำผลทดสอบอาหารจากนิตยสารฉลาดซื้อมาโชว์และตอบข้อสงสัย เช่น เรื่องสารกันบูดในขนมจีน ไขมันทรานส์ในโดนัท ตะกั่วและแคดเมียมในช็อกโกแลต ยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ เป็นต้น และเศรษฐกิจชีวภาพด้านพลังงานด้วยการจัดซุ้มสาธิตและสอนอบรมด้วยในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้านเรือนแบบต่าง ๆ (สอนฟรีเพราะนึกถึงบุญคุณได้แดดมาฟรี ๆ)
สำหรับบูทนิธิสุขภาพไทยองค์กรประสานงานก็ตั้งใจนำเอาสมุนไพรยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยไปนำเสนอให้ผู้สูงวัยที่มักมีอาการท้องอืดเฟ้อและอาหารไม่ย่อยได้ชิมและใช้ และงานส่งเสริมการนวดไทยที่ขณะนี้มีคนพิการทางการเห็นมีความสามารถสูงสอบได้ใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยด้านการนวดไทยหลายสิบคน พูดแบบภาษาชาวบ้าน “หมอนวดตาบอดที่ได้ใบประกอบวิชาชีพ” จะไปสำแดงฝีมือศิลปะการนวดไทยด้วย
พวกเราอยากสร้างเศรษฐกิจและความภูมิใจในความหลากหลายทางชีวภาพ เชิญทุกท่านมาชมและให้กำลังใจกันในงาน “มหกรรมสมุนไพรและอาหาร ครั้งที่ 3” วันที่ 29 ส.ค.ถึง 2 ก.ย. 61 นี้ที่ ฮอล 7-8 อิมแพคเมืองทองจ้า.