“นกแจนแวน” บินมาแล้วจ้า…
ตามภูมิปัญญาของคนอีสานบอกไว้ว่า ถ้าได้ยินเสียงนกแจนแวนร้องแสดงว่าฝนจะหยุดตกภายในเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์
เป็นการบอกถึงช่วงเวลาที่ทำการเก็บเกี่ยวหรือต้องรีบทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกักเก็บน้ำ
ใช่แล้วค่ะ นกแจนแวนเป็นตัวที่บอกถึงการสิ้นสุดฤดูฝน
นกแจนแวนมีชื่อสามัญของไทยว่า “นกอีเสือ”
“นกแจนแวน” รู้ได้อย่างไรว่าฝนจะหยุดตก …
ก็เพราะว่า นกแจนแวนเป็นนกอพยพหนีหนาวมาจากไซบีเรีย จะบินเข้าเมืองไทยในช่วงปลายเดือนตุลาคมหรือเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่หมดฤดูฝนย่างเข้าสู่ฤดูหนาวพอดี
เมื่อเราเกี่ยวข้าวแล้ว เราจะนำข้าวเปลือกขึ้นเล้าต้องมีพิธีกรรมด้วยการวางขันธ์ห้าหรือพาน ดอกไม้ธูปเทียน นำเอาช่อดอกต้นเกล็ดกลิ่นมาเสียบไว้รอบเล้า แต่ในปัจจุบันจะเสียบแค่ 2-3 กิ่ง
นำเอากิ่งและใบยอบ้านหรือคูนมาเสียบไว้ตามคานของเล้า และนำลำต้นขนาดเล็กของยอป่ามาค้ำไว้ใต้เล้า พิธีกรรมนี้เชื่อว่าถ้าทำแล้วจะทำให้มีข้าวกินตลอดปี
การที่มีข้าวกินตลอดปีไม่ใช่มาจากพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ปกป้องข้าวในเล้าได้
เราสามารถอธิบายเหตุผลทางวิทยาศาสตร์แต่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านได้ว่า…
พืชเหล่านี้ ใบยอ ต้นยอมีกลิ่นฉุนและแรงช่วยในการขับไล่หนูและแมลงที่จะมากินข้าวเปลือก
และมีความเชื่อว่า การนำใบยอ มาเสียบที่เสาทุกเสา ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับว่า ขอให้ค้ำ คูณ ยอๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังนิยมใช้กระดองเต่าเพ็กในการตักข้าวเปลือกไปสี โดยในวันแรกของการเอาข้าวเปลือกขึ้นเล้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวันพุธที่ตรงกับเวลาข้างขึ้น
เมื่อนำข้าวทั้งหมดขึ้นเล้าเสร็จแล้ว ให้ใช้กระดองเต่าตักข้าวเปลือกมา 3 ครั้ง ใส่ตะกร้านำไปถวายวัดเพื่อใช้จัดพิธีบุญคูนลานต่อไป
บุญคูนลาน เป็นการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว เมื่อถึงเดือนยี่ หรือเดือนที่ 1 คือเดือน มกราคม ประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี
จุดมุ่งหมายของการทำบุญประเพณี “บุญคูนลาน” ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในลานของตน และเพื่อเป็นการขออานิสงส์ต่างๆ การสู่ขวัญข้าว จะกระทำที่ลานนา หรือลานบ้านก็แล้วแต่สะดวก
และเชิญขวัญข้าวพร้อมทั้งแม่โพสพ ขึ้นไปยังเล้าด้วย
#มูลนิธิสุขภาพไทย #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน #ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการเกษตร
#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.