วันนี้ชวนคุณผู้อ่านไปดูเรื่องภูมิปัญญากับเกษตรพื้นบ้านทางภาคอีสาน
พูดถึงภาคอีสานจะนึกถึงอะไรคะ?
แอดมินจะนึกถึงข้าวหอมมะลิ …ไม่รู้ว่าทำไม..ข้าวหอมมะลิที่มาจากภาคอีสานถึงได้หอม นุ่มและอร่อย
เพื่อนสนิทที่ทำงานเรื่องโรงเรียนชาวนาที่มหาสารคามเฉลยความลับให้ฟังว่า
ก็เพราะว่าภาคอีสานมีแร่ธาตุในดินที่แตกต่างจากที่อื่น ที่นี่มีความพิเศษ แต่ก็ไม่ได้แจกแจงว่ามีแร่ธาตุอะไรบ้าง
เป็นอันรู้กันว่า ก็เพราะมีความแตกต่างนี่เอง
ทราบมั้ยคะว่า การปลูกข้าวของคนอีสานไม่ได้ปลูกข้าวเป็นอาชีพ แอดมินหมายถึง อาชีพชาวนาอะไรประมาณนี้
แต่การเกษตรเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตของคนอีสาน
คนอีสานมีความเชื่อว่า การปลูกข้าวเป็นประเพณีที่ต้องสืบสานและดำเนินการต่อเนื่อง
คนอีสานไม่ได้คิดว่าการทำนาเป็นเรื่องของการเกษตรตามหลักการปัจจุบัน
หลายปีมานี้คนทำนาลดลง หันไปปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์มากขึ้น ทำสวนยางพาราก็มาก..เพราะคาดหวังว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น
สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า สังคมอีสานมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม
ภูมิปัญญาในการจัดการไร่เริ่มเสื่อมถอยลง นโยบายพัฒนาการเกษตรมีการส่งเสริมเรื่องผลผลิตกับการขาย โดยไม่นำเอามิติวัฒนธรรมเข้ามาร่วมด้วย
เรากลับมาคุยกับเรื่องการทำนาของคนอีสานเป็นเรื่องของประเพณีและวัฒนธรรม ไม่ได้มุ่งเน้นเกษตรสมัยใหม่
ดังนั้น การทำนาของคนอีสานจึงเกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติที่มีการสืบทอดกันมารวมถึงพิธีกรรมต่างๆ
เคยได้ยินเรื่องการทำนายฟ้าฝนจาก “ใบหญ้าหวาย” มั้ยคะ
ส่วนใหญ่ถ้าเราเห็นมดดำขนไข่เดินเรียงแถวเป็นแนวยาว เราจะคาดการณ์ว่า ฝนจะตก
แต่คนอีสานมีภูมิปัญญาการทำนายฝนจาก “ใบหญ้าหวาย”
เราดูตรง “รอยขอดที่ขอบใบของหญ้าหวาย” เป็นเครื่องทำนายฝน
ถ้ารอยขอดอยู่เลยกึ่งกลางใบไปทางด้านปลายใบ ทำนายว่า ฝนจะดีหรือฝนตกชุกตอนปลายฤดู
แต่ถ้าขอดลงมาทางด้านฐานใบ ฝนจะดีตอนต้นฤดู
แต่ถ้าวัดความยาวของใบแล้วแบ่งออกเป็น 12 ส่วนเท่าๆ กันให้เป็นตัวแทนของแต่ละเดือน
รอยขอดตกอยู่ในช่วงเดือนไหน แสดงว่าฝนจะตกมากในช่วงเดือนนั้น
การกำหนดปฏิทินในการทำนา โดยการดูวันฝนตกในเดือน 5 และเดือน 6 โดยการสังเกตจากธงที่นำไปผูกไว้ที่ปลายไม้ไผ่ที่หอฉันท์ของวัด
ธงนี้ได้มาจากการถวายอาหารในวันออกพรรษาที่มีวาดรูปจระเข้หรือเต่า หรือตะขาบ หรือเป็นธงที่ชาวบ้านทำขึ้นมาถวายพระก็ได้
การทำนายกล่าวว่า …
ถ้าลมพัดแรงในวันใดของเดือน 11 ฝนจะตกในวันนั้นของเดือน 5
ถ้าลมแรงในวันใดของเดือน 12 ฝนจะตกในวันนั้นของเดือน 6
ข้อมูลนี้ใช้เป็นตัวกำหนดปฏิทินการตกกล้าหรือการเตรียมกล้า และการดำนา
…ไม่อยากจะเชื่อ มหัศจรรย์มาก ที่ใบหญ้าหวายจะทำนายฝนได้ และทำให้เรามีข้าวกิน
ภูมิปัญญาอยู่ในวิถีชีวิตของเรามาตั้งแต่เกิดจนโต และก็ตาย
ความมหัศจรรย์ของภูมิปัญญากับการเกษตรยังไม่จบนะคะ ยังมีเรื่องสนุกๆ อีก
มาอ่านต่อในโพสต์หน้านะคะ
#มูลนิธิสุขภาพไทย #ภูมิปัญญาท้องถิ่น #สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.