ภาษารักของ”ใจ”

คนต้นเรื่อง : ใจ ชื่นจิต
บ้านต้นเรื่อง : สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท
คนเขียนเรื่อง : มะลิ ณ อุษา
เรียบเรียงจากหนังสือ “นางฟ้าของหนู ชีวิตจริงของพี่เลี้ยงในสถานสงเคราะห์” โดย มูลนิธิสุขภาพไทย

แม่ใจ หรือ นางใจ ชื่นจิต เริ่มทำงานที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไทตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 โดยดูแลเด็กๆ ที่ห้องบัวขาว (ซึ่งเป็นอาคารหลายหลังอยู่ในบริเวณเดียวกันภายในสถานสงเคราะห์ แต่ละหลังมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป) หลังจากนั้นย้ายมาอยู่ห้องหนูจ๋า ซึ่งเป็นเด็กที่โตขึ้นมาอีก คือช่วงอายุ 2-3 ขวบ เป็นวัยที่แม่ใจให้คำนิยามว่า แสบและไวไฟเลยทีเดียว
เมื่อถามย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น แม่ใจเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูก ไม่เคยทำงานประจำมาก่อน มีบางช่วงช่วยญาติขายก๋วยเตี๋ยว แล้วหยุดไป เมื่อลูกชายโตขึ้น มีเวลาว่างค่อนข้างมาก พี่สาวจึงชวนมาสมัครเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่นี่ เธอเริ่มทำงานตั้งแต่สำนักงานตั้งอยู่ที่เขตพญาไท ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาสำนักงานย้ายไปที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบ 14 ปีแล้วที่แม่ใจทำหน้าที่นี้ ซึ่งเธอได้สะท้อนความรักที่มีในการงานด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “ถึงแม้จะรวยก็ไม่ลาออก จะทำไปจนกว่าจะเกษียณหรือไม่มีแรงนั่นแหละ”

ด้วยตำแหน่งที่เรียกกันง่ายๆว่า พี่เลี้ยงเด็ก แต่ภาพที่ได้เห็นแม่ใจและทีมแม่ๆ ทุกคนได้ทำให้กับเด็กๆนั้น คำว่า “แม่” น่าจะใกล้เคียงมากกว่า กิจวัตรของแต่ละบ้านจะเริ่มต้นตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า เมื่อคนที่รับหน้าที่เวรเช้ามาถึง ก็รับช่วงต่อจากเพื่อนเวรกลางคืน โดยเริ่มต้นด้วยการดูแลความสะอาดและจัดเก็บจานชามที่อยู่หลังบ้าน จากนั้นก็ให้นมลูก ซึ่งเป็นนมกล่อง หรืออาจมีอาหารว่างจำพวกขนมและผลไม้ด้วย หลังกินเสร็จก็เช็ดหน้าเช็ดตาเด็กๆ ปล่อยให้เด็กเล่น บางช่วงนักพัฒนาการเด็กจะเข้ามาดูแล ระหว่างนั้นแม่ๆ จะช่วยกันพับผ้า คอยดูหรือเปลี่ยนผ้าเมื่อเด็กปัสสาวะ จากนั้นก็เตรียมอาหารกลางวัน ในช่วงเวลาใกล้เที่ยง จะเห็นเด็กๆ เดินจับชายเสื้อกันเป็นแถวเพื่อไปรับประทานอาหารกลางวัน หลังกินข้าวอิ่ม แม่ๆจะพาเด็กๆกลับมาอาบน้ำ แต่ถ้าอากาศเย็นก็แค่เช็ดหน้าเช็ดตัว แล้วพาเข้านอนกลางวัน แม่บางส่วนจะดูแลเด็กที่นอนอยู่ชั้นบน ส่วนแม่ที่อยู่ชั้นล่างจะเก็บของ ส่งผ้าซัก พับผ้า รีดผ้า และไปรับอาหารเย็นจากห้องครัว

บ่ายสามโมง เด็กๆ จะลงมากินอาหารว่าง แล้วไปเล่นในสนาม จนกระทั่งเวลาบ่ายสี่โมงครึ่ง เป็นเวลาออกเวร ผู้ที่รับหน้าที่เวรกลางคืนจะเข้ามารับช่วงต่อ โดยป้อนข้าว อาบน้ำ ดูหนังหรือการ์ตูนแล้วพาเด็กขึ้นบ้านนอนเวลาประมาณหนึ่งทุ่มถึงหนึ่งทุ่มครึ่ง โดยแม่จะนอนอยู่กับเด็กๆด้วย

ตอนเช้าแม่จะปลุกเด็กที่ไปโรงเรียน ให้อาบน้ำแต่งตัว ในขณะเดียวกันก็เตรียมอาหารเช้าไว้ให้ ซึ่งแม่ใจบอกว่า เด็กๆ ที่นี่ชอบไปโรงเรียน ถ้าวันไหนไม่ได้ไปโรงเรียนก็จะร้องไห้ แต่พออธิบายเหตุผลว่าเขาต้องไปหาหมอ เด็กก็เข้าใจ “ส่วนใหญ่เด็กๆ ที่นี่จะค่อนข้างมีวินัย” แม่ใจอธิบายพร้อมกับรอยยิ้มน้อยๆ “ถ้าเขาอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรก เขาจะเริ่มมีวินัย เราทำเป็นกิจวัตรเพื่อฝึกเขา ตั้งแต่การแปรงฟัน อาบน้ำ เช็ดตัว สอนให้ดูแลตัวเอง ให้เช็ดตัวให้แห้ง ถ้าไม่แห้งเราก็จะไม่แต่งตัวให้ เด็กที่โตเราก็ฝึกให้เขาดูแลน้อง ช่วยน้อง แต่บางครั้งก็แกล้งกัน เราก็คอยเตือน บางทีก็ดุบ้าง” พิจารณาจากกิจวัตรที่แม่ใจและเพื่อนๆรับผิดชอบ ในแต่ละวันพวกเธอมีเวลาหยุดพักเพียงสั้นๆเท่านั้น

ปัจจุบัน (มกราคม 2556) ห้องหนูจ๋ามีลูกๆ หญิงชายวัย 2-3 ขวบจำนวน 29 คน มีแม่ 9 คน หมุนเวียนดูแลเด็กทั้งกลางวันกลางคืน เวรละ 3 คน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ทั่วถึง แม่ใจบอกว่า แม้ว่าเด็กบางคนจะร้องให้เราอุ้ม และเราเองก็อยากจะอุ้มเขา แต่ก็ต้องอดใจไม่อุ้มทุกครั้งที่ร้องขอ ไม่เช่นนั้นเด็กจะติด และเด็กคนอื่นจะทำตามอย่าง เธอใช้วิธีหาของเล่นให้เล่นกับเพื่อนๆ

แม้ว่าแม่ๆแต่ละคนจะทำงานตามหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมาย แต่เนื่องเพราะหน้าที่นั้นคือการดูแลเด็กๆ ทั้งทางกายและจิตใจให้มีพัฒนาการเหมาะสมกับช่วงวัย จึงเป็นงานที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกเหนือจากการเป็นเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังเป็นพี่เป็นน้องกันนอกเวลางานอีกด้วย “เวลากินข้าวเที่ยง เราจะถามสารทุกข์สุกดิบกัน ใครมีอะไรก็แบ่งปันกันในวงข้าว บางคนมีปัญหาส่วนตัวก็จะเล่าและขอคำปรึกษาจากเพื่อนๆ หรือเวลาที่มีปัญหาเดือดร้อน มีธุระด่วน ญาติเสีย ก็จะแลกเปลี่ยนเวรกัน เมื่อถามว่าการที่แม่ทำงานเยอะขนาดนี้รู้สึกเหนื่อยหรือท้อบ้างไหม แม่ใจยิ้มน้อยๆแล้วบอกว่า“เราอยู่กันหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน มันอบอุ่น สนุกสนาน ไม่ค่อยมีปัญหากัน มีอะไรก็คุยกัน บางทีไม่ค่อยอยากหยุดงาน อยากมาเจอเพื่อนๆ เจอเด็กๆ ถึงแม้ว่าจะมีงานต้องทำเยอะแยะ แต่ก็เพลิน แป๊บหนึ่งก็หมดวัน เหนื่อยแค่กาย แม้แข้งขาเราไม่ค่อยดี เพื่อนๆก็เข้าใจ ก็ช่วยกัน”

ก่อนออกจากห้องหนูจ๋าวันนั้น มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณลักษณ์ หรือนางสาวศุภลักษณ์ ภาสว่าง นักพัฒนาการเด็กประจำบ้านหนูจ๋า เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับแม่ใจ “แม่ใจเป็นคนพูดน้อย พูดไม่เก่ง แต่ทำงานด้วยใจ ไม่เสแสร้ง งานออกมาก็เรียบร้อย ถ้าวันไหนมีงานค้างหรือทำไม่เสร็จจะไม่สบายใจ เพราะกลัวว่าจะเป็นภาระของเพื่อนที่มารับเวรต่อ เขาจึงพยายามทำให้เสร็จ เวลาทำงานจะไม่ค่อยคุย และถ้าไม่จำเป็นเขาก็จะไม่ค่อยลาไม่ค่อยขาด”

ไม่ว่าจะด้วยบทบาทของพี่เลี้ยงเด็กที่ขยันและรับผิดชอบ หรือแม่ที่ดูแลลูกๆวัยซน แม่ใจทุ่มเททำจากหัวใจและประสบการณ์เป็นสำคัญ ซึ่งแม้ว่าเธออาจจะไม่สามารถอธิบายออกมาในเชิงทฤษฎีทางวิชาการได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นเธอสามารถทำได้เป็นอย่างดี เหมือนกับเรื่องราวที่เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอว่า แม่ที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรือมีวุฒิการศึกษาสูงๆ แต่สามารถเลี้ยงดูลูกๆให้เป็นคนดีและประสบความสำเร็จในชีวิตได้.

แม่ใจ ชื่นจิต

หมายเหตุ : หนังสือนางฟ้าของหนู ชีวิตจริงของพี่เลี้ยงเด็กในสงเคราะห์ เป็นบันทึกเรื่องเล่าของความดีงาม ของบุคลากรเจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์ จำนวน 8 ท่าน ที่มูลนิธิสุขภาพไทยได้มีโอกาสเข้ามาทำงานเกี่ยวกับอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่กล่าวถึงนี้ มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละสถานสงเคราะห์ เช่น แม่ประจำตึก แม่บ้าน พี่เลี้ยง ครูประจำบ้าน ครูพี่เลี้ยง ฯลฯ หากแต่ในสายตาของเด็กๆ บุคลากรเหล่านี้ คือ “นางฟ้า” ที่ไม่ใช่อยู่ในนิทาน แต่มีตัวตนจริง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญปีใหม่ ด้วยใจอาสา

admin 19 มิถุนายน 2019

ดูรายละเอียด การสมัครเป็นอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคร […]

ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม

admin 19 มิถุนายน 2019

งาน 10 ปี โลก(จิต)อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญกับคุณค่าต่อสัง […]

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand