กล่าวในตอนที่ 1 ถึงศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้เรียนรู้รสของเภสัชวัตถุ ทั้งที่เป็นพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุ ซึ่งคือศิลปะของการประกอบโรคศิลปะ ที่ย่อมต้องรู้จักพิจารณาใช้รสยาจากสมุนไพรต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคตามสมควร ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ว่าด้วยคัมภีร์ตักกะศิลากล่าวถึงโรค ”ห่าลงเมือง” หรือโรคระบาดร้ายแรง ประเภทไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้เหนือ ซึ่งรวมถึงไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดน้อย กล่าวว่า “ถ้ายังไม่รู้ว่าจะใช้ยาอะไรแก้ไข้ตักกะศิลา ก็ให้ใช้พืชยาสมุนไพรทั้งหลายที่มีรสประธาน ‘เย็นเป็นอย่างยิ่ง’ และมี‘รสขมจริง’รวมทั้งพืชยาที่มี’รสฝาด’กับ’รสจืด’ด้วยก็ได้” ซึ่งฟ้าทะลายโจรตรงคอนเซ็ป เย็นจริง ขมจริง
ในคัมภีร์วรโยคสารว่าด้วยรสลักษณะ 6 รสนั้น ท่านแจกแจงสรรพคุณของรสขมไว้ละเอียดพอสมควรว่า “รสขมนั้นให้เจริญไฟธาตุ แก้ร้อน แก้กระหายน้ำ กระทำซึ่งมลทิน (สิ่งสกปรก) คือมูตร์(น้ำปัสสาวะ) แลคูธ(อุจจาระ) เป็นต้น ให้บริสุทธิ์ ชำระปากให้รู้รสอาหาร” ซึ่งเป็นการขยายสรรพคุณรสขมตาม ”รส 9” ของคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ที่ว่ารสขมช่วยแก้โรคอันเกิดจาก “ดีและโลหิต” ผิดปกติ
ตรงนี้จะสังเกตเห็นความย้อนแย้งในสรรพคุณรสขมของฟ้าทะลายโจร คือในขณะที่เป็นยาเย็นแก้ไข้ ดับไฟร้อน แต่ก็ช่วยเจริญไฟธาตุช่วยย่อยอาหาร และช่วยให้รู้รสอาหารอีกด้วย แพทย์อายุรเวทและยูนานิของอินเดียจึงใช้สมุนไพรที่มีชื่อในภาษาฮินดีว่า “กิรายัต”(Kirayat) หรือ ”กัลปานัธ”(Kalpanath) เพื่อเป็นยาขมช่วยให้ผู้ป่วยเจริญอาหารและรู้รสอาหารในช่วงที่เพิ่งฟื้นจากไข้ด้วย สมุนไพรสายพันธุ์อินเดียดังกล่าวที่แท้ก็มีชื่อวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับสมุนไพรไทยฟ้าทะลายโจรว่า Andrographis paniculate นั่นเอง โควิด-19 นอกจากทำให้มีไข้แล้ว ยังทำให้จมูกไม่รับกลิ่นลิ้นไม่รู้รสอีกด้วย ดังนั้นรสขมของฟ้าทะลายโจร จึงน่าจะใช้แก้อาการลิ้นไม่รู้รสอันเกิดจากโควิด-19 ได้อีกสรรพคุณหนึ่ง
อันที่จริง ฟ้าทะลายโจรน่าจะเป็นพืชพันธุ์สมุนไพรที่นำเข้ามาปลูกในไทยนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว นานกว่าเห็ดหลินจือ หญ้าปักกิ่งและเจียวกู่หลานสมุนไพรเดี่ยวที่หมอไทยหลายท่านก็นิยมกันอยู่ จึงไม่ควรรังเกียจสมุนไพรที่แปลงชื่อแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้วอย่างฟ้าทะลายโจร ซึ่งยังมีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยอีกหลายชื่อ ตามภาษาปากของแต่ละท้องถิ่นทั่วไทยแลนด์ เช่น ชาวกรุงเทพฯเรียก ฟ้าทะลายโจร ฟ้าทะลาย น้ำลายพังพอน คนภาคกลางเรียกขุนโจรห้าร้อย ชาวร้อยเอ็ดเอิ่นว่า สามสิบดี เขยตายแม่ยายคลุม ชาวพนัสนิคมเรียกว่าฟ้าสาง สงขลาว่าหญ้ากันงู ยะลาว่าเมฆทะลาย และพัทลุงเรียกฟ้าสะท้านและแถมยังมีชื่อเรียกฟังเสียวหูว่า ฉีกะฉาว
จึงไม่แปลกที่หมอพื้นบ้านไทยเลือกสรรสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเข้าตำรับยาหลายสูตร ยกตัวอย่าง เช่น หมอพื้นบ้านพัทลุง ท่านใช้ฉีกะฉาวในสูตรตำรับยาแก้ไข้ ประกอบด้วย ฉีกะฉาว(ฟ้าทะลายโจร) ย่านเจ็ดหมูน(บอระเพ็ด) ผักเสี้ยนผี กระชายดำ ปราบดิน(โด่ไม่รู้ล้ม) บดผงละลายน้ำผึ้งรวง กินแก้ไข้ ส่วนตำรับยาแก้ไอเรื้อรัง หมอพื้นบ้านท่านก็ยักย้ายฟ้าทะลายโจรเข้าสูตรยาที่มีส่วนประกอบ ฟ้าทะลายโจร กรดน้ำ บานไม่รู้โรยป่า หญ้าใต้ใบ หรือหมอพื้นบ้านเมืองแพร่ท่านใช้ฟ้าทะลายโจรในสูตรตำรับยาแก้หอบหืด คือ ฟ้าทะลายโจร สมอไทย ตำแยแมว มะแว้ง มะขามป้อม รากทองพันชั่ง ชะเอมเทศ อ้อยสามสวน มะนาวแทรกเกลือ และยังมียาหมอพระเมืองแพร่แก้ปวดเยี่ยวขัด มีสูตรยาดังนี้ ฟ้าทะลายโจร หญ้าหนวดแมว โด่ไม่รู้ล้ม ไม้ตีนนก หญ้าเล็บมือ(ชุมเห็ดเทศ) หญ้าควยงู(หญ้าพันงูขาว) และเครือหนำแน่(เถารางจืด) เป็นต้น นี่ถ้าหมอพื้นบ้านไทยสามารถพัฒนาสูตรตำรับยาฟ้าทะลายโจรโค่นโควิด-19 ได้สำเร็จ สมุนไพรฟ้าทะลายโจร อาจจะมีชื่อเท่อีกฉายาหนึ่งว่า “ฟ้าทะลายโควิด” ก็เป็นได้นะ จะบอกให้
จะเห็นได้ว่าหมอพื้นบ้านท่านรู้จักนำพืชพันธุ์อาคันตุกะรสขมอย่างฟ้าทะลายโจรมาปรุงเป็นตำรับยาพื้นบ้านมานานแล้ว ในขณะหมอยาตำราหลวงยังกอดตำราอยู่ไม่เรียนรู้ปรับใช้ยาสมุนไพรที่มีประโยชน์โดยใช้หลักสรรพคุณตามรสยา แม้ในคณาเภสัชของแพทย์แผนไทยเองที่นับพิกัดยาตั้งแต่ขั้น จุลพิกัด คือเน้นตัวยาตรง เพียง 2 อย่าง ก็เพียงพอที่จะใช้ปรุงยาง่ายๆ รักษาอาการโรคได้ ซึ่งยาจุลพิกัด ไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยสมุนไพรคนละชนิด แต่อาจใช้สมุนไพรเพียงตัวเดียว จากส่วนเดียวกัน ต่างกันเพียงอายุการเก็บมาใช้ เท่านั้น เช่น จุลพิกัด พริกไทยทั้ง 2 ประกอบด้วย พริกไทยดำกับพริกไทยล่อน(พริกไทยขาว) เป็นต้น ถ้าแพทย์จะตั้งพิกัดยาฟ้าทะลายโจรเป็นจุลพิกัดก็ได้ เช่น ฟ้าทะลายโจรทั้ง 2 ประกอบด้วย ฟ้าทะลายโจรไทยกับฟ้าทะลายโจรเทศ (ที่นำเข้าจากจีน อินเดียหรือบังคลาเทศ) ก็ได้ เป็นต้น
ขณะนี้มีการแปลงโฉมสมุนไพรฟ้าทะลายโจรจากยาแผนโบราณ แก้ไข้ แก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย ยกระดับขึ้นเป็นยาใหม่ในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างน้อยอีก 2 ตำรับ ที่ใช้ผงฟ้าทะลายโจร และสารสกัดชื่อฝรั่งว่า แอนโดรกราโฟไลด์ เพื่อให้แพทย์แผนปัจจุบันสามารถใช้เป็นยาร่วมรักษาโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดใหญ่อยู่เวลานี้ จึงเป็นโอกาสดีที่กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนให้แพทย์แผนไทยร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันเป็นสหวิชาชีพทางการแพทย์เพื่อใช้ฟ้าทะลายโจร รักษาไข้โควิด-19 ซึ่งน่าจะจัดอยู่ในจำพวกไข้ตักกะศิลาหรือโรคห่าลงปอดที่แก้ได้ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
ตัดโควิดแต่ต้นไข้ ตัดไฟแต่ต้นลม โดยเปิดกว้างนำเอาสมุนไพรต่างๆ มาพัฒนาต่อยอดสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อกอบกู้ประเทศไทยให้รอดจากมหันตภัย โควิด-19 โดยเร็ว ร่วมกับมาตรการเร่งระดมฉีดวัคซีนทั่วโลกที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้