ในช่วงเวลาวิกฤตที่โควิด-19 กำลังระบาด ชาติต้องการระดมทรัพยากรทางปัญญามาร่วมด้วยช่วยกันต้านมหันตภัยโรคระบาด แต่สมุนไพรฉายา“ฟ้าทะลายโจร”ที่เคยเป็นพระเอกปราบโจร กลับถูกตั้งข้อหาเป็นจำเลยของสังคมเสียเอง เพราะหาญกล้ามาปราบโจรโควิด-19 เกินหน้าเกินตายาเคมีเภสัชแผนปัจจุบัน
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ฟ้าทะลายโจรเคยเป็นสมุนไพรยอดนิยมในยุคที่องค์การอนามัยโลกเริ่มประกาศเป้าหมายให้ประชาคมโลกบรรลุสุขภาพดีถ้วนหน้าก่อนปี 2543(HEALTH FOR ALL by the YEAR 2000) โดยมีการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขไทยเองก็ได้ตั้งหน่วยงานสาธารณสุขมูลฐานระดับกองขึ้นมาในครั้งนั้น เพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ตอนนั้น ฟ้าทะลายโจรยืนโดดเด่นอยู่แถวหน้าของกลุ่มสมุนไพรในสาธารณสุขมูลฐาน และเป็นสมุนไพรตัวแรกๆ ที่ได้รับการบรรจุเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ (National List of Essential Medicines) ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มาตั้งแต่พ.ศ.2542 แล้ว
ในบัญชียาหลักแห่งชาติฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2556) ยาฟ้าทะลายโจร ถูกจัดอยู่ในบัญชียาจากสมุนไพร บัญชีที่ 2 คือ ยาพัฒนาจากสมุนไพร ซึ่งเป็นบัญชียาสมุนไพรตัวเดียวโดยระบุให้ยาฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาได้ 2 กลุ่มอาการ คือ (1)ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหาร ที่ใช้บรรเทาอาการท้องเสีย และ(2)ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมียาฟ้าทะลายโจรโดดเด่นอยู่ในบัญชีนี้เพียงตำรับเดียว (First Line Drug) ที่ใช้บรรเทาอาการหวัด เจ็บคอ โดยปกติ ตามพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ยาพัฒนาจากสมุนไพรตัวเดียว อย่างเช่น ยาฟ้าทะลายโจร ต้องขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ เช่นเดียวกับยาแผนไทยที่เป็นตำรับยาสมุนไพรหลายตัว จึงทำให้ยาฟ้าทะลายโจรไม่ได้รับการยอมรับจากแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ ทั้งที่แพทย์และเภสัชกรแผนปัจจุบันสามารถสั่งจ่ายยาแผนไทยได้ ในขณะเดียวกันแพทย์แผนไทยที่เคร่งครัดตามคัมภีร์ตายตัว ก็ไม่ยอมรับยาสมุนไพรตัวเดียวว่าเป็นยาแผนไทย แม้ว่าจะขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณเหมือนกันก็ตาม
ในที่นี้ขอแลกเปลี่ยนในประเด็นฟ้าทะลายโจรกับศาสตร์การแพทย์แผนไทยพอสังเขป โดยขอยกเอาวาทะแห่งท่านบรมครูแพทย์แผนไทยชีวกโกมารภัจจ์ เป็นนิกเขปบทว่า ”กบิลไม้ทั้งมวลล้วนเป็นยา ที่ไม่เป็นยาหาไม่ได้เลย” สำหรับท่านที่เรียนแพทย์แผนไทยย่อมรู้ ”หลักเภสัช 4” อย่างขึ้นใจ หนึ่งหลักในนั้น คือ “หลักสรรพคุณเภสัช” ซึ่งแพทย์จะต้องรู้รสของตัวยานั้นๆ ก่อน จึงจะสามารถทราบสรรพคุณได้ภายหลัง ดังในคัมภีร์ธาตุวิวรณ์กล่าวว่า ”ผู้แพทย์พิเคราะห์ยา ดูโรคาอย่าเหงาง่วง ซึ่งรสโรคทั้งปวง แต่งตามต้องคล่องพลันหาย” หรือในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ว่าด้วยยาไทย 9 รส ที่แพทย์แผนไทยเรายึดถือก็กล่าวถึงความสำคัญของรสยาทั้ง 9 ที่บ่งบอกสรรพคุณยาไว้ครบถ้วนว่า
“ยาหลายอย่างหลายพรรณ สิ้นด้วยกันเก้ารส จงกำหนดอย่าคลาด ยารสฝาดชอบสมาน ยารสหวานทราบเนื้อ รสเมาเบื่อแก้พิษ ดี โลหิตชอบขม เผ็ดร้อนลมถอยถด เอ็นชอบรสมันมัน หอมเย็นนั้นชื่นใจ เค็มทราบในผิวหนัง เสมหะยังชอบส้ม”
ในเมื่อศาสตร์การแพทย์แผนไทย ใช้รสของเภสัชวัตถุ เป็นหลักสำคัญในการบ่งบอกสรรพคุณยา แม้เภสัชวัตถุหลายชนิด ทั้งที่เป็นพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุจะไม่ปรากฏชื่ออยู่ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยที่เป็นคัมภีร์หลวงก็ตาม ผู้ไดชื่อว่า ”เสฏฐญาณแพทย์ ประกอบด้วย วิจารณปัญญา ประกอบซึ่งวิธีแห่งโอสถ ยังที่เกิดแห่งโรคนั้นให้เสื่อมสูญ “ย่อมต้องรู้จักพิจารณาใช้รสยาจากสมุนไพรต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคตามสมควร
ตรงนี้ขอยกตัวอย่างเข้าประเด็นในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ว่าด้วยคัมภีร์ตักกะศิลา ซึ่งกล่าวถึงโรค”ห่าลงเมือง”หรือโรคระบาดร้ายแรง ประเภทไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้เหนือ ซึ่งรวมถึงไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดน้อย ก็จัดอยู่ในจำพวกไข้ตักกะศิลาด้วย เนื่องจากไข้ตักกะศิลาเป็นโรคระบาดร้ายแรงมาก ท่านแพทย์ที่รจนาคัมภีร์นี้คงเห็นความยากลำบากที่ประชาชนทั่วไป แม้แต่หมอเองจะสามารถสรรหาเครื่องยามาเยียวยาคนไข้ ตนเอง ครอบครัวและชุมชน ในช่วงสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานที่กำลังขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง อย่าว่าแต่ยาเลยแม้อาหารจะยาไส้ให้ครบ 3 มื้อก็หาไม่ได้ด้วยซ้ำ ดังนั้นท่านจึงกล่าวย้ำถึงรสยาของพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคจำพวกไข้ตักกะศิลาไว้ในอารัมภบทต่อจากบทไหว้ครูเลยทีเดียวว่า
“ถ้ายังไม่รู้ให้แก้กันดูแต่พรรณฝูงยาเย็นเป็นอย่างยิ่ง ขมจริงโอชา ฝาดจืดพืชยาตามอาจารย์สอน” ความหมายโดยสรุปจากบทร้อยกรองนี้ก็คือ “ถ้ายังไม่รู้ว่าจะใช้ยาอะไรแก้ไข้ตักกะศิลา ก็ให้ใช้พืชยาสมุนไพรทั้งหลายที่มีรสประธาน ‘เย็นเป็นอย่างยิ่ง’ และมี‘รสขมจริง’รวมทั้งพืชยาที่มี’รสฝาด’กับ’รสจืด’ด้วยก็ได้ “ ยิ่งกว่านั้นท่านยังสำทับอีกว่า ห้ามใช้รสยาที่แสลงต่อไข้ตักกะศิลาโดยเด็ดขาด ดังนี้ “อย่าเพ่อกินยาร้อนแรงแข็งกล้า ส้มเหล้าน้ำมัน”กล่าวคือ”พระผู้เป็นเจ้าจึงห้ามว่า ไข้จำพวกนี้ย่อมห้ามมิให้วางยาร้อน เผ็ด เปรี้ยว…ถ้าใครไม่รู้ทำผิดดังกล่าวมานี้ ก็ถึงความตายดังนี้แล”
ในที่นี้ จึงพออนุมานได้ว่า แม้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรจะไม่ปรากฏชื่ออยู่ในคัมภีร์ตักกะศิลาหรือในตำรับ ตำรายาแผนไทยฉบับหลวงก็ตาม “แต่พรรณฝูงยา” ที่มีรส “เย็นเป็นอย่างยิ่ง ขมจริงโอชา”ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ว่าด้วยคัมภีร์ตักกะศิลานั้น ตรงกับสเปคฟ้าทะลายโจรเปะเลย ขนาดฝรั่งยังตั้งฉายาสามัญให้กับสมุนไพรตัวนี้ว่า”King of Bitters”หรือ”ราชาแห่ง ความขม”นั่นเอง และขึ้นชื่อว่ายาขม ส่วนใหญ่มักมีรสประธานเย็น ถ้าขมมากก็เย็นมาก จึงอาจเรียกฟ้าทะลายโจรในอีกฉายาหนึ่งว่า”ราชาแห่งสมุนไพรรสเย็น”ก็ยังได้ (ต่อตอนที่ 2)