จากข่าวสารบ้านเมืองรายงานข่าว เกี่ยวกับ ปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นปลาต้องห้าม เป็นปลาสายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น หรือ Alien Species ที่ทนทาน โตไว ขยายพันธุ์เร็ว และกำลังรุกรานแหล่งน้ำไม่ว่าจะน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม จากพันธุ์ปลานี้ ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ คำว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” มากขึ้น
ในวงการพืช หน่วยงานภาครัฐได้ให้นิยามคำศัพท์ 2 คำ พืชต่างถิ่น (Alien Plant Species) หมายถึง ชนิดพันธุ์ของพืช ที่ไม่เคยปรากฏในถิ่นนั้นมาก่อน ต่อมาได้ถูกนำเข้ามาโดยวิธีใด ๆ ก็ตาม จากถิ่นอื่น ซึ่งอาจดำรงชีวิตอยู่และสามารถสืบพันธุ์ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของปัจจัยแวดล้อมและการปรับตัวของพืชนั้น ๆ แต่ถ้าเป็นพืชต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Plant Species) หมายถึง พืชต่างถิ่นที่เข้ามาแล้วสามารถตั้งถิ่นฐานและมีการแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ เป็นชนิดพันธุ์ที่เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (dominant species) และเป็นชนิดพันธุ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ผลกระทบจาก “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” แบ่งออกได้ง่ายๆ เป็น 4 ด้าน ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบทางการเกษตร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (International Union of Conservation or Nature and Natural Resources หรือ World Conservative Union : IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกได้จัดอันดับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่รุนแรงของโลกไว้ 100 ชนิด ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงกับความหลากหลายทางชีวภาพ การเกษตร และมนุษย์ แบ่งเป็นสัตว์ 56 ชนิด พืช 36 ชนิด และจุลินทรีย์ 8 ชนิด พืชต่างถิ่นที่รุกรานรุนแรงไปทั่วโลก ที่คนไทยรู้จักดีมาก เช่น ผักตบชวา (Pontederia crassipes Mart.) ไมยราบยักษ์ (Mimosa pigra L.) สาบเสือ (Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob.) ซึ่งล้วนเป็นชนิดที่มีการระบาดหนักในประเทศไทยทั้งสิ้น
ในปี พ.ศ. 2542 มีรายงานว่าประเทศไทยมีจำนวนชนิดพรรณพืชต่างถิ่น 915 ชนิด และในปี พ.ศ. 2547 พบว่า มีจำนวน 1,763 ชนิด จะเห็นว่าภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเพิ่มถึง 848 ชนิด พอมาถึงปัจจุบันประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่มากกว่า 3,500 ชนิด และจำนวนชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่คาดว่าเป็นชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นรุกราน มีจำนวน 14 ชนิด โดยพืชหลายชนิดเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่และกระทบต่อชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เช่น ผักตบชวา ไมยราบยักษ์ บัวตอง และ ธูปฤๅษี เป็นต้น
นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไทย ที่ลงไปทำงานกับชุมชนพบว่า ยังมีพืชต่างถิ่นอีกหลายชนิดที่เป็นเป็นปัญหากับเกษตรกร แต่ยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ เช่น ไมยราบเลื้อย (Mimosa diplotricha C. Wright) เป็นพืชที่เจริญได้อย่างรวดเร็ว ปราบยาก เพราะมีหนามมาก แต่ก็พบว่ามีพืชรุกรานต่างถิ่นบางชนิดที่คนไทยสามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นอย่างดีทั้งเป็นอาหารและสมุนไพร เช่น บาหยาหรือบุษบาฮาวายหรือเบญจรงค์ห้าสี (Asystasia gangetica (L.) T.Anderson)
สำหรับผักตบชวา ตามประวัติศาสตร์อินโดนีเซียนำเข้ามาจากอเมริกาใต้ แล้วไทยก็นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซียอีกทอดหนึ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2444 ผ่านมา 123 ปี ปัจจุบันเรายังไม่มีวิธีกำจัดได้อย่างสิ้นซาก ด้วยความที่แพร่พันธุ์เร็ว จะทำได้ก็เพียงกำจัดด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช หรือนำมาทำเป็นงานฝีมือ เช่น กระเป๋าสาน หรือทำเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยหมัก ฯลฯ แต่ก็ยังไม่สามารถลดปริมาณลงได้มากนัก ทำให้ก่อผลกระทบที่รุนแรงหรือมีพิษสงมาก ทั้งกีดขวางการสัญจรทางเรือ การหาปลาของชาวบ้าน การระบายน้ำก็ทำได้ยากขึ้นจนเกิดปัญหาน้ำท่วม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลาน ยุงลาย และที่สำคัญลดปริมาณออกซิเจนในน้ำทำให้คลอง หนอง บึง ต่าง ๆ เน่าเสีย ด้วยเหตุนี้ ผักตบชวา จึงถูกจัดอยู่ในบัญชีวัชพืชร้ายแรงอันดับ 8 ของโลก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลอง
แม้ว่าในประเทศไทยจะมีกฎหมายเพื่อใช้ในการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหลายฉบับ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการไม่น้อยกว่า 35 หน่วยงาน แต่ก็ไม่สามารถควบคุมและจัดการเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ถ้าเรียนรู้จากสหรัฐอเมริกา ก็นับเป็นประเทศหนึ่งที่มีการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น มะตูมซาอุ โดยเฉพาะในรัฐฟอริดามีการจัดสรรงบประมาณ ไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในการกำจัดมะตูมซาอุ ซึ่งมะตูมซาอุเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ใบกินเป็นผักและใช้ผลเป็นเครื่องเทศ ผลแห้งนำมาขายภายใต้ชื่อว่า “พริกไทยสีชมพู” (pink peppercorns) แต่ในหลายประเทศมะตูมซาอุกลายเป็นพืชรุกรานต่างถิ่น เช่น ออสเตรเลีย บาฮามาส เบอร์มิวดา จีนตอนใต้ คิวบา ฟิจิ ฝรั่งเศส กวม ฮาวาย มอลตา หมู่เกาะมาร์แชล มอริเชียส นิวแคลิโดเนีย นิวซีแลนด์ เกาะนอร์ฟอล์ก เปอร์โตริโก เรอูนียง (เกาะเรอูนียง (Réunion) เป็นจังหวัดหนึ่งของฝรั่งเศส) อาฟริกาใต้
การที่เราไม่ค่อยตื่นกลัวต่อการรุกรานของพืช อาจเป็นเพราะพืชเคลื่อนที่เองไม่ได้การรุกรานจึงเป็นไปแบบช้า ๆ เหมือนการซึมลึกทำให้เราไม่รู้ตัวว่าถูกรุกราน เช่น การรุกรานของต้นแว่นแก้ว (Hydrocotyle umbellata L.) ที่มีการรุกรานมาเรื่อย ๆ จนทำให้บัวบก (Centella asiatica (L.) Urb.) กำลังสูญหายไปจากธรรมชาติมากมาย จนคนรุ่นปัจจุบันจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า แว่นแก้ว คือ ใบบัวบก ที่เรานำมาเป็นอาหารและยาสมุนไพร เช่น ใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำสมานแผล เป็นต้น
โลกวันนี้เดินทางสะดวกสบายกว่าเมื่อร้อยปีก่อน อีกทั้งเห็นสัตว์และพืชแปลก ๆ งามตา ทำให้เราตาโตคิดจะสร้างรายได้กำไรงามจากสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นหรือไม่ จนขาดความระมัดระวัง และสังคมไทยควร บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หรือปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์กับพันธุ์ต่างถิ่นที่กระทบต่อความหลายหลายทางชีวภาพของไทยและปัญหาสังคมเศรษฐกิจที่ตามมาด้วย.