“ให้เปลี่ยนศาสนายังง่ายกว่า” คำสารภาพของชาวนาไทยที่ยังสวามิภักดิ์ต่อสารเคมีทั้งหลาย อาจทำให้เขากลายเป็น “ชาวนาหัวรุนแรง” ได้ในสายตาของคนอื่นๆ ทว่า แท้จริงแล้ว “การแข็งขืนทางความคิด” นี้ ไม่ได้มีต้นเหตุมาจากชาวนาไทยผู้ทำหน้าที่ “กระดูกสันหลังของชาติ” เลยสักนิด
ย้อนอดีตไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2488) เกษตรกรไทยยังคงใช้วิถีกสิกรรมแบบดั้งเดิม คือใช้แรงงานคนในการไถหว่าน และใช้การ “ดูแล” พืชพันธุ์อย่างใส่ใจ ไม่มีรถไถ ไม่มีปุ๋ยเคมี กระทั่งยาปราบศัตรูพืชที่ฮอตฮิตกันอย่างทุกวันนี้ก็แทบไม่มีใครรู้จัก
แต่ภาพเหล่านั้นก็ค่อยๆ สูญสลายไป เมื่อ “การปฏิวัติเขียว” (Green Revolution) ทำให้เกิดรูปแบบเกษตรกรรมแผนใหม่ โดยอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และ “เชื่อ” กันว่า จะทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม ที่สุดแล้วรัฐบาลก็ใช้ “การปฏิวัติเขียว” เป็นนโยบายหลักเพื่อพัฒนาประเทศ ยุคนั้นเองที่เกษตรกรถูกปิดหูปิดตา และถูกยัดยา(สารเคมี) ยัดเทคโนโลยีใส่มือ
ราวกับเสกสรร ความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีทำให้ได้ผลผลิตดีอย่างที่ไม่คาดคิด แล้วเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ก็กลายมาเป็นกระแสหลักของเกษตรกรไทย แน่นอนว่า หลังจากนั้น “สารเคมี” จากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่เกษตรของไทยราวกับน้ำที่ถาโถม ทั่วทุกพื้นที่มีป้ายโฆษณายาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี จนไม่มีใครทันเอะใจเลยว่า “ยาพิษ” เหล่านี้กำลัง “ทำลาย” ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี “ชีวิต”
ฝังชิพ “ต้องใช้”
การปฏิวัติเขียวทำลายสมดุลของธรรมชาติชนิดที่เรียกว่าถอนรากถอนโคน แต่ที่โหดร้ายกว่านั้นคือการดำเนินนโยบายเพิ่มผลผลิตอย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งเป็นการยัดเยียดความตายให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างช้าๆ
เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า เกษตรกรไทยถูกปลูกฝังให้ใช้สารเคมีอย่างผิดๆ มาโดยตลอด จนถึงวันนี้จะเรียกสารเคมีว่าเป็น “ยาเสพติด” ก็คงไม่ผิดเท่าไร เพราะทั้งๆ ที่รู้ว่าอันตราย แต่เกษตรกรทั้งหลายก็ยังไม่ยอมเลิกใช้มัน “ผมเคยถามชาวนาว่าทำไมไม่เลิกใช้สารเคมี รู้มั้ยว่ามันมีโทษ เขาบอกเขารู้ แต่เขาทำใจไม่ได้ เขาบอกว่าให้เปลี่ยนศาสนายังง่ายกว่า ผมฟังแล้วก็อึ้ง คงจะจริง เพราะศาสนาพุทธบอกว่า ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่เขาก็ใช้ยาฆ่าแมลง หรือศาสนาพุทธบอกว่า ห้ามพึ่งพาคนอื่น ชาวนาไทยก็ยังต้องพึ่งยา พึ่งรัฐบาล เพราะฉะนั้นผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาถึงบอกอย่างนั้น”
ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ เสริมต่อว่า ไม่ใช่ชาวนาผิดที่คิดแบบนั้น แต่เป็นเพราะตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่มีการปฏิวัติเขียว เกษตรกรถูกหล่อหลอมความคิดจนไม่รู้ว่าจะก้าวข้ามออกจากความเชื่อผิดๆ นั้นได้อย่างไร “คอมพิวเตอร์มีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ คนก็เหมือนกัน คนจะทำงานได้มันต้องใช้โปรแกรม แล้วโปรแกรมของบางคนมันถูกใส่ค่านิยม ใส่ทิฐิลงไปเป็นกระบวนการสร้าง ถามว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง มันเกิดขึ้นจากการมีโฆษณาจูงใจเยอะๆ ว่าสิ่งนี้ดี ใช้แล้วคุ้ม ไม่ใช้จะตกยุค ก็ค่อยๆ สร้างจนกลายเป็นโปรแกรมสมอง”
ประเทศไทยอนุญาตให้มีการโฆษณาสารเคมีได้อย่างเสรี นั่นทำให้เกษตรกรไทยรับสารที่ “เกินจริง” เกี่ยวกับสรรพคุณของปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชสม่ำเสมอ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วสารเคมีเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับบุหรี่และแอลกอฮอล์ ซ้ำร้ายจะให้พิษภัยในวงที่กว้างกว่า แต่ก็ยังไม่มีมาตรการควบคุมใดๆ ออกมาจากรัฐบาล “มันต้องสร้างมาตรการ เหมือนบุหรี่ สมัยที่ผมเป็นนักศึกษา ทุกคนต้องสูบบุหรี่ กินเหล้า เป็นคาวบอย ต้องเป็นแบรนด์เลยนะ แต่พอมีมาตรการควบคุมให้เลิกโฆษณาบุหรี่ในทุกๆ สื่อ สองคือเก็บภาษี สามห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ต่างๆ สุดท้ายคือนำเงินไปตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ทำให้ปริมาณผู้สูบบุหรี่ลดลง เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วไทยลดลงเยอะมาก นี่คือมาตรการ เหมือนกัน…รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือมันต้องห้ามโฆษณาก่อน คนก็จะเลิกใช้เอง มาตรการสูงสุดที่เราต้องการคือ หนึ่งห้ามโฆษณา สองตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร เลิกมอมเมาชาวนา ส่วนการเก็บภาษีเป็นเรื่องรองลงไป”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผลักดันให้ออกกฎหมายห้ามโฆษณาปุ๋ย รวมถึงเสนอให้เก็บภาษีนำเข้าปุ๋ย และการตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนให้ความสนใจเลยสักครั้ง “เขาไม่ให้หรอก ยังไงก็ไม่ให้ สมัยยิ่งลักษณ์ไม่เคยเรียกประชุมเลย ไม่มีทางหรอก คือมันมีทางออกที่ดีนะ แต่ชาวบ้านถูกล้างสมองไง ชาวบ้านรู้ว่าสารเคมีมีโทษอย่างไร แต่เขาถูกล้างสมอง ถูกโปรแกรมไว้ ในโทรทัศน์ก็เยอะ ในวิทยุชุมชนยิ่งซ้ำร้าย พวกนี้ใช้ภาษาท้องถิ่นในการโฆษณา ยิ่งเข้าถึง ถ้าไม่จัดการนะแย่เลย เขารู้มากกว่าส่วนกลางเยอะ”
“เลิกได้” ถ้าใจสั่ง
รายงานสถานการณ์สุขภาพของเกษตรกรไทย โดยกลุ่มงานสนับสนุนสถานการณ์ปัญหาสุขภาพของเกษตรกรและการควบคุมสารกำจัดศัตรูพืช พบว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนมากที่ผลตรวจเลือดอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ฐานข้อมูลผู้ป่วยจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติก็ชี้ชัดว่า มีผู้ป่วยจากสารเคมีดังกล่าวประมาณ 8,546 ราย ทว่า ในความเป็นจริงตัวเลขผู้ป่วยจากสารเคมีอาจจะสูงถึง 200,000-400,000 รายต่อปีเลยทีเดียว “ผมเห็นจากญาติของผมที่ใช้สารเคมี แกสุขภาพไม่ดี นั่นแหละที่เป็นจุดเปลี่ยน” กำพล ทองโสภา ประธานกลุ่มข้าวปลอดภัยรักษ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มต้นเล่า กำพล บอกว่า เขาดำรงชีวิตในฐานะเกษตรกรเคมีมานานถึง 30 ปี แต่เมื่อพบว่ามี “เกษตรอินทรีย์” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เขาจึง “หักดิบ” แล้วหันหลังให้สารเคมีทันที “ผมว่ามันไม่ได้ยากเลยนะ อย่างผมเปลี่ยนง่ายมาก หนึ่งเพราะตัวผมเอง และสองเพราะคนข้างเคียง ผมหมายถึงแม่บ้านของเราเห็นดีด้วยก็เลยไม่ยาก แต่ผมก็ถามชาวนาคนอื่นๆ ที่ยังเปลี่ยนไม่ได้เหมือนกันว่าเพราะอะไร ส่วนใหญ่เขาบอกว่า แม่บ้านไม่เห็นด้วย เขาว่าเห็นคนอื่นๆ ก็ยังใช้ ทำไมต้องเลิก อีกอย่างคือเขาไม่มีความรู้เรื่องโรคพืช เรื่องแมลง ว่ามันมีทั้งตัวดีและตัวร้าย จะให้มันเอื้อกันยังไง เขาไม่รู้ เราก็ต้องกระจายความรู้นี้ไปให้เขา”
ถามว่า โฆษณามีส่วนแค่ไหนกับการปลูกฝังความเชื่อของเกษตรกรไทย กำพล ว่า โฆษณาเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เห็นทุกวันก็มีความต้องการใช้ แต่ที่กระตุ้นให้เกิดความ “อยาก” ได้มากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องราคา หรือนโยบายการรับจำนำข้าวที่ทำให้ชาวนาต้องการเพิ่มผลิตมากกว่า “จริงๆ อยู่ที่ราคาข้าว อันนี้คือตัวหลักมากกว่า รัฐบาลกำหนดราคาแพง ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาใช้สารเคมี เพราะเขาเชื่อว่ามันจะทำให้ไม่มีแมลง ได้ข้าวดี แต่จริงๆ มันไม่ใช่เลย สารเคมีถ้าดีจริงป่านนี้คงไม่มีแมลงในโลกแล้ว แมลงคงสูญพันธุ์ ผมอยากให้ชาวนาคิดถึงตัวเอง หมายถึงสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างมาเป็นอันดับแรก แล้วมันจะไล่ไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันจะทำให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากกว่า”
ด้าน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) ยืนยันว่า “ราคาข้าว” เป็นแรงจูงใจที่สำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด ซึ่งพื้นที่เกษตรครึ่งหนึ่งนั้นเป็นแปลงนา แล้วยังมีการขยายเพิ่มขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมตัวเลขการนำเข้าสารเคมีจึงไม่เคยลดลงเลย “เราพยายามเช็คตัวเลขว่า ก่อนหน้านี้มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดหนัก ตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม ชาวนาจะใช้สารเคมีเพราะมีเพลี้ยหรือเปล่า แต่พอไปเช็คจริงๆ เขามีแรงจูงใจมาจากราคา เขาหวังว่าจะได้ผลผลิตมากขึ้น เพื่อให้ได้ข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย เลยใช้สารเคมี ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะต้นทุนการผลิตของไทยสัดส่วนสูงกว่าประเทศอื่นๆ หมด เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย แนวโน้มในระยะยาวมันจะทำให้ชาวนาไทยอยู่ไม่ได้ ยิ่งเปิดเสรีการค้าจะยิ่งอยู่ไม่ได้”
วิฑูรย์ เผยว่า ทุกวันนี้ตัวเลขการนำเข้าปุ๋ยเคมีอยู่ที่ปีละ 70,000-80,000 ล้านบาท แต่ถ้านำตัวเลขทางการตลาดมาคูณจะมากกว่านี้ 1.5-2 เท่า นี่ยังไม่นับรวมยาปราบศัตรูพืชอีกราว 20,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งตัวเลขเหล่านี้คือ “ต้นทุน” จริงที่เกษตรกรไทยต้อง “จ่าย” “ถ้าเราลดต้นทุนได้ เราจะได้เงินคืนมาจากปัจจัยการผลิต เราจะได้ความยั่งยืนในการผลิต เราได้สุขภาพคืน ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี และนำไปสู่ความยั่งยืนทางอาหารด้วย”
เกษตรกรรม “ยั่งยืน”
เมื่อวิเคราะห์จากปัญหา ดูเหมือนว่าทางออกเดียวที่พอจะทำให้เกษตรกรไทยกลับมาใช้ชีวิตอย่างมี “คุณภาพ” ได้ คงอยู่ที่การสนับสนุนให้เกิดรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ แสดงความคิดเห็นว่า กระบวนการเปลี่ยนเกษตรเคมีไปสู่เกษตรอินทรีย์ต้องใช้การสนับสนุนจากรัฐ แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายไหน หรือมาตรการใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดสังคมเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังสักครั้ง “ทิศทางที่จะนำไปสู่การลดต้นทุนในทางปฏิบัติจริงๆ มันแค่พูดจากปากไม่ได้ อย่างเช่นนายกฯ ไปเยี่ยมพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในจังหวัดยโสธร เป็นการยอมรับในเชิงสัญลักษณ์ว่า โอเค…การจำนำข้าวมันไปต่อไม่ได้จริงๆ คำถามของผมคือ แล้วยังไงล่ะ
เราอยากเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่นโยบายมันสวนทางกัน โทษชาวบ้านไม่ได้ เอาง่ายๆ สารเคมี 4 ตัวที่คนทั่วโลกเขาไม่ใช้(คาร์โบฟูราน, เมโทมิล, ไดโครโตฟอส,อีพีเอ็น) บ้านเราก็ยังยื้ออยู่ คือปัญหามันลึกมาก มันมีรากหลายเรื่องที่ไปสู่เรื่องนโยบายและกฎหมาย ที่ฝังอยู่ในภาคเกษตรของเรา”
ในฐานะที่มองปัญหาของเกษตรกรไทยมานานหลายสิบปี ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ชี้ว่า นอกจากไม่มีมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลที่จริงจังแล้ว เหตุที่เกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นยากเป็นเพราะสถานะของเกษตรกร ณ ปัจจุบันที่ไม่เอื้อต่อการลงมือ “อย่างแรกคือ ชาวนาไทย 60 เปอร์เซ็นต์ต้องเช่าที่นาทำกิน แต่เกษตรอย่างยั่งยืนมีหัวใจหลักอยู่ที่การฟื้นฟูดิน ถ้าที่นาเป็นของตัวเองก็ไม่ยาก แต่ถ้าไม่ใช่มันจะเกิดยากมากเพราะที่นาไม่ใช่ของเขา การฟื้นฟูก็ลำบาก หรือฟื้นฟูแล้วสิทธิในที่นาก็ไม่ใช่ของเขาอีก สองคือแรงงาน ถ้าเราดูเรื่องเกษตรอินทรีย์ แรงงานสำคัญนะ อาจจะต้องใช้มากกว่าเกษตรเคมีด้วย แต่ค่าแรงแพง โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรที่น้อยลง การตัดสินใจใช้สารเคมีก็จะง่ายมากกว่า เป็นการกำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องมือช่วยเป็นทางออก”
ถามถึงอนาคตเกษตรไทย โดยเฉพาะชาวนา วิฑูรย์ และเดชา พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่มีทางรอด”
“ไม่รู้จะเตือนยังไง พูดมาหลายปี ระวังเรื่องข้าวนะ เราจะลำบาก ผมท้าเลย ไปย้อนดูงานวิจัยทั้งหลายหรือการประเมินของรัฐบาลไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ ไม่เคยพูดถึงเรื่องข้าวเลยนะ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงเกษตรกรตายแน่ๆ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องการผลิตทั้งระบบหรอก แค่ทำอย่างไรให้เหลือการผลิตข้าวในระดับที่เป็นการรักษาความมั่นคงทางอาหารไว้ได้ก็พอ” วิฑูรย์ บอกอย่างท้อๆ “เรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 เรามีสินค้าอ่อนไหว หรือ Sensitive List อยู่ แต่เราไม่เอาข้าวเข้าไป แล้วทีนี้ต้นทุนเราแพงกว่าเพื่อนบ้านถึงเท่าตัว มันสู้เขาไม่ได้หรอก เมื่อเราไม่เอาข้าวเข้าไปแล้วยังไง เราเคยมีบทเรียนจากหอมกระเทียม จากวัวเนื้อ วัวนม นี่มาถึงข้าวแล้ว ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนเมื่อปี 2558 มาถึงเราก็จะรู้ว่าเราอยู่ไม่ได้ ชาวนาอยู่ไม่ได้ แต่รัฐบาลเขาไม่แคร์หรอก เพราะว่าสินค้าอุตสาหกรรมเขาได้กำไร ก็ไม่สนใจเกษตรกร เกษตรกรก็รับเคราะห์ไป” เดชา ศิริภัทร เสริมอย่างเหนื่อยใจ
ก่อนจบการสนทนา เดชาทิ้งคำเตือนไว้เป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรไทยหันมาสำรวจตัวเองอีกประโยคหนึ่งว่า “คำไทยว่า สัญชาติคางคก ยางหัวไม่ตก ไม่รู้สึก ส่วนคำจีนบอก ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา เหมือนกัน…ไม่เจอวิกฤต คนเราไม่รู้สึก แล้วไม่ต้องร้องขอนะ วิกฤตมันจะมาของมันเอง”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 11 ก.ค.2556