การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นการรักษาไม้พื้นเมืองไว้ด้วย ซึ่งมีประโยชน์ต่อชุมชน ในปัจจุบันพื้นที่ของป่าวัฒนธรรมหรือป่าสาธารณะกำลังลดน้อยลงอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าประเภทนี้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ควรคำนึงถึงการบูรณาการในหลายมิติ เช่น การบูรณาการความรู้จากภูมิปัญญาดั้งเดิมกับสมัยใหม่เข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาให้นำสู่การใช้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม หรือการบูรณาการ วิธีการปลูกพืชแบบภูมิปัญญากับการศึกษาวิจัยสมัยใหม่
ชื่อท้องถิ่น กะยอม กระยอม พยอม พะยอม
ชื่อสามัญ พะยอม Shorea white meranti
ชื่ออื่นๆ กะยอม ขะยอม ขะยอมแดง พะยอมด แคน เชียง เซี่ยว พะยอมทอง ยางหยวก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G.Don
ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น เปลือกสีเทาอมน้ำตาล เปลือกแตกเป็นร่องตามยาว ใบเดี่ยวออกสลับ รูปขอบขนานกว้าง ปลายมน โคนมน ขอบเป็นคลื่น ผิวเกลี้ยง ดอกช่อออกตามกิ่งและปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลิ่นหอม โคนเชื่อมติดกัน เรียงเวียนกันแบบกังหัน ผลรูปรี กลีบเลี้ยงเจริญไปเป็นปีกยาว 3 ปีก สั้น 2 ปีก
อายุการเก็บเกี่ยว
ดอก พะยอมเมื่อเจริญเติบโตอายุประมาณ 10 ปีก็จะเริ่มออกดอกออกผล
เนื้อไม้ จัดเป็นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่อายุที่ใช้งานได้ดีต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป
การใช้ประโยชน์
ไม้เนื้อแข็งใช้ในการก่อสร้าง ดอกรับประทานได้ นิยมนำมาเจียวกับไข่หรือนำมาซุบ (นำมาต้มสุกแล้วนำมาโขลกตำกินกับข้าว)
พะยอม(กะยอม) เป็นสมุนไพรที่มีอยู่ในตำรับยา ที่พบในบ้านเชียงเหียนจำนวน 1 ตำรับ คือ ตำรับแก้ปวดตามเส้น ตามขาและตามตัว ดังนี้
1. สามควาย 1 ส่วน
2. ตานกกดแดง 1 ส่วน
3. แฮงช้างสาร 1 ส่วน
4. กำลังเสือโคร่ง 1 ส่วน
5. เกล็ดลิ่นน้อย 1 ส่วน
6. ดั่งเห็บ 1 ส่วน
7. ต้นตูมกาขาว 1 ส่วน
8. ตูมกาแดง 1 ส่วน
9. กะยอม 1 ส่วน
10. หมากแงว 1 ส่วน
วิธีใช้ ต้มดื่ม
การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ขั้นตอนการขยายพันธุ์
เมื่อผลพะยอมสุกและแก่เต็มที่ผลจะร่วงลงบนพื้น เก็บผลที่แก่และเอาปีกที่ติดกับผลออก นำมาสุมใส่กระบะเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 15 วัน จะสังเกตเห็นผลพะยอมจะเริ่มแทงรากสีขาวออกมาให้เห็น หลังจากนั้นประมาณ 10 วันจะเริ่มแทงใบอ่อนออกมา มีใบเลี้ยง 2 ใบ ให้ย้ายต้นกล้านำมาใส่ถุงเพาะปลูก บำรุงรักษา 1 -2 ปี ก็สามารถย้ายปลูกได้
สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ 2537
สงวนลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ ถ่ายสำเนา หรือคัดลอกข้อความ หรือรูปที่ปรากฏในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดในเอกสารนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมูลนิธิสุขภาพไทย เป็นลายลักษณ์อักษร