พริกเป็นสมุนไพรในครัวที่ทุกบ้านมีติดบ้านไม่เคยขาด
พริกไม่ใช่พืชท้องถิ่นในประเทศไทย คาดว่าชาวโปรตุเกสนำเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น
หนังสือบางเล่มบอกว่า พริกมีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ไม่ว่า “พริก” จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยช่วงใด… ในเวลานี้ พริกเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของการทำอาหารและเป็นส่วนประกอบตำรับยาพื้นบ้าน
เวลาเรากินพริกแล้วรู้สึกว่า “เผ็ดและเผ็ดมาก” สิ่งที่ตามมาคือ น้ำลายเต็มปาก น้ำลายเหนียวใช่มั้ย?
เราจัดการเขี่ยพริกสีแดงนั้นไปไว้ขอบจาน เพราะคิดว่าส่วนนั้นคือต้นเหตุของความ “เผ็ด”
ความจริงแล้ว ความเผ็ดของพริกมาจากสารชื่อ “แคปไซซิน” (Capsaicin) มีอยู่มากบริเวณเยื่อแกนกลางสีขาว ซึ่งคือส่วนเผ็ดมากที่สุด ส่วนเปลือกและเมล็ดนั้นจะมีสาร“แคปไซซิน” น้อย
คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าส่วนเมล็ดและเปลือกคือส่วนที่เผ็ดที่สุด
ที่สำคัญสาร “แคปไซซิน” ทนทานต่อความร้อนและความเย็นอย่างมาก
สาร “แคปไซซิน” นี้เองเป็นการเพิ่มการหลั่งน้ำลาย น้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหาร เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหาร จึงช่วยขับลม ทำให้ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น และสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยการเพิ่มการหลั่งสารเมือกมาเคลือบกระเพาะอาหาร
เหมือนจะย้อนแย้งกันว่าการกินเผ็ดมากๆ ทำให้เป็นโรคกระเพาะได้
สำหรับคนที่เป็นโรคกระเพาะหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารแล้วไม่ควรกินพริก เพราะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบมากขึ้น
พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ คนที่ยังไม่เป็นโรคกระเพาะกินพริก กินได้กินดี มีประโยชน์ ส่วนคนที่เป็นโรคกระเพาะแล้วไม่ควรกินพริก
“พริก” อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ อย่าง วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินซี ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุเหล็ก ใยอาหาร เป็นต้น
รู้มั้ยว่า ส้มผลกลาง ๆ 1 ผลให้วิตามินซีเพียง 69.7 มิลลิกรัมเท่านั้น แต่พริก 100 กรัม มีวิตามินซีสูงถึง 144 มิลลิกรัมเลยทีเดียว !
เวลากินพริกแล้วรู้สึกเผ็ดมากๆ เราทำยังไง?
ดื่มน้ำเยอะๆ ใช่มั้ย….บอกเลยว่า นั่นไม่ช่วยทำให้หายเผ็ด
การดื่มน้ำจะมีผลเพียงแค่ช่วยให้บรรเทาอาการแสบร้อนได้เท่านั้น แต่ความเผ็ดยังคงอยู่
หากต้องการลดความเผ็ดร้อนของพริกควรกินอาหารที่มีไขมันหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากกว่าที่จะดื่มน้ำ