หากเราดูนโยบายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวภายในปี พ.ศ. 2580 จำนวน ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ เหลืออีก 14 ปีเท่านั้น คราวนี้ดูข้อมูลล่าสุดเท่าที่ค้นได้จากกรมป่าไม้ที่รายงานสถิติไว้ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 102,212,434.37 ไร่ หรือร้อยละ 31.59 ของพื้นที่ประเทศ เห็นได้ว่ายังขาดพื้นที่ป่าไม้อีกมาก
ถ้าไม่เอาเป้าหมายสูงขนาดนั้น หยิบนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศก็ถือว่าเลิศแล้ว ซึ่งได้จำแนกเป็นป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ และป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ ลองเจาะลึกในเวลานี้พบว่า ภาคเหนือและภาคตะวันตกลอยลำเพราะมีผืนป่าธรรมชาติมาก มีพื้นที่ป่าเที่ยบกับพื้นที่ภาคถึง ร้อยละ 63.66 และ 59.05 ตามลำดับ แต่ที่น้อยลงมือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 24.31, 21.91, 21.51, 14.98 ตามลำดับ สองภาครั้งท้ายที่จำเป็นต้องเร่งพื้นที่สีเขียวคือ ภาคกลางและอีสานนั่นเอง
ถ้าช่วยกันทำให้ได้ให้ทุกภาคมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ในแต่ละภาคของตนเองก็นับว่าดีเยี่ยมจะสามารถเปลี่ยนแปลงสุขภาพ ชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นแน่นอน ตัวอย่างที่จะลองนำเสนอให้ขบคิดจากการทำงานของมูลนิธิสุขภาพไทย ซึ่งกำลังส่งเสริมให้ปลูกสมุนไพรซึ่งเป็นทั้งไม้ป่าหายากและไม้ยาที่มีความต้องการสูง เป็นการเพิ่มวัตถุดิบยาตามภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียวด้วย ขอยกตัวอย่างพันธุ์ไม้ยาที่มีความต้องการสูงแต่กำลังหายากยิ่งทุกที เช่น ข้าวเย็นเหนือ (Smilax glabra Roxb.) ใช้ส่วนหัวเป็นยา มีความต้องการสูงมาก ๆ เพราะนำไปเข้าตำรับยามากมาย ตั้งแต่ ยาบำรุงกำลัง ยาแก้ปวดเมื่อย แก้โรคกระเพาะ แก้มะโหก และเข้ายาแก้โรคมะเร็งที่กำลังมีความสนใจศึกษาวิจัยอยู่ด้วย ต้นข้าวเย็นเหนือ เป็นไม้เลื้อย ลำต้นเรียวยาว กิ่งก้านออกแบบสลับไปมา ใบเดี่ยว รูปใบหอก ดอกช่อออกเดี่ยว ๆ ที่ซอกใบ ผลสด รูปทรงกลม สีน้ำเงินเข้มเมื่อสุกมี 1-3 เมล็ด ไม้เลื้อยเช่นนี้ต้องอาศัยไม้ใหญ่หรือป่าไม่เช่นนั้นก็ไม่โตไม่รอด
ฮ่อสะพายควาย (Sphenodesme pentandra Jack) เป็นไม้เถาเช่นกัน เป็นสมุนไพรที่รู้จักกันทั่วไปทั้งประเทศ จึงมีความต้องการสูงมากแต่ปัจจุบันหายากขึ้นเรื่อย ๆ ในถิ่นล้านนาใช้เข้าตำรับยาแก้ปวดเมื่อย บำรุงร่างกาย และยังพบความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จ.แพร่ พบ 3 ชนิด 1.ฮ่อสะพายควายใบกลม 2.ฮ่อสะพายควายใบแหลม และ 3.ฮ่อสะพายควายของชาวกะเหรี่ยง
กำแพงเจ็ดชั้น (Salacia chinensis L.) เป็นต้นไม้ยาที่เสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะขยายพันธุ์ยากและมีความต้องการใช้ทางยาสูง ที่สวนป่าแดงในจังหวัดแพร่ได้เพาะขยายพันธุ์ไว้หลายปีแล้วเพิ่งออกดอกออกผลสวยงาม แต่ก็ปลูกในพื้นที่จำกัด หากได้รับแรงหนุนพร้อมงบประมาณหนุนให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ยาก็จะเกิดความมั่นคงทางยาสมุนไพรแน่นนอน กำแพงเจ็ดชั้นเป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย เปลือกลำต้นเรียบสีเทานวล เนื้อไม้มีวงปีสีน้ำตาลแดงเข้มจำนวนหลายชั้นเห็นชัดเจน เรียงซ้อนกันเป็นชั้น 7-9 ชั้น จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อเรียก กำแพงเจ็ดชั้น นั่นเอง ต้นมีรสเมาเบื่อ ฝาด สุขุม และมักนำมาต้มหรือดองสุรา บำรุงโลหิต แก้ประดง แก้ปวดเมื่อย ฟอกโลหิต ขับโลหิตระดู เป็นยาระบาย และใช้เข้าตำรับยาหลายชนิด และพบการใช้ใบหรือเถากำแพงเจ็ดชั้นผสมกับใบแพงพวยฝรั่ง อย่างละเท่าๆ กัน บดพอหยาบรวมกัน จำนวน 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มตอนเช้า เป็นเวลา 1 เดือน ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และขณะนี้มีการศึกษาวิจัยระดับสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดจากกำแพงเจ็ดชั้นมีส่วนช่วยต้านเบาหวาน
ยังมีรายชื่อต้นไม้อีกหลายสิบชนิดที่ควรเร่งปลูก เช่น มะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก ฝางเสน หรือแม้แต่พืชไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุกเช่น หนาด ก็ควรส่งเสริมให้ปลูกกัน หากได้แรงหนุนนโยบายหาเสียงประชานิยมแบบยั่งยืน สนับสนุนทุน จัดพื้นที่การปลูกไม้ยา ปลูกสมุนไพร เพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากเป็นคลังยารักษาชีวิตแล้ว ป่าไม้ยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือลดโลกร้อน ลดฝุ่นพิษ แต่เพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ยั่งยืน