นิด้าวิจัยฝุ่นละอองใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบควันพิษจากไอเสียรถยนต์ซึ่งเป็นตัวการก่อมะเร็งน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดวิกฤติดังกล่าว ไม่ใช่ควันจากไฟป่า เผยอุตรดิตถ์อันตรายสุด รองลงไปคือแพร่
ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 มีนาคมนี้ รศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียรจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวด ล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงวิกฤติหมอกควันในภาคเหนือตอนบนที่เกิดจากการเผาป่า ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ว่า จากการเก็บตัวอย่างสภาพอากาศ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน อุตรดิตถ์ พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง เพื่อศึกษาผลกระทบจากหมอกควันไฟป่าต่อการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของสารพีเอเอชเอส (PAHs) ในชั้นบรรยากาศที่มีผลต่อสุขภาพ ที่มีสารเบนโซเอไพรีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง อยู่ในฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน โดยทำการเก็บตัวอย่างตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤติหมอกควันเมื่อเดือน พ.ย.-ธ.ค.2555 พบว่าจังหวัดอุตรดิตถ์มีค่าสารก่อมะเร็งมากที่สุดอยู่ที่ 445 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือลำปาง 87 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แพร่ 46 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เชียงใหม่ 25 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เชียงราย 21 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พะเยา 1.55 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร น่าน 0.8 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลำพูน 0.45 พิโค กรัมต่อลูกบาศก์เมตร และแม่ฮ่องสอน 0.1 พิโค กรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนการเก็บตัวอย่างสภาพอากาศช่วงที่เกิดวิกฤติหมอกควันเมื่อเดือน มี.ค.2556 พบว่า จังหวัดอุตรดิตถ์มีค่าสารก่อมะเร็งลดลง แต่ก็ยังมีปริมาณสูงอยู่ที่ 344 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือแพร่ 91 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลำพูน 46 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แม่ฮ่องสอน 13 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เชียงราย 5 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร น่าน 0.68 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลำปาง 0.3 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พะเยา 0.23 พิโค กรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเชียงใหม่ 0.16 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเมื่อนำสภาพอากาศของทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือมาหาค่าเฉลี่ยของสารเบนโซเอไพรีน พบว่าอยู่ที่ 563 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าเมืองใหญ่ๆ ของหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าต่ำกว่าเมืองใหญ่ๆ เช่น ฮุงฮอม ประเทศฮ่องกง ซัวเถา และกว่างโจว ในประเทศจีน
รศ.ดร.ศิวัชกล่าวว่า ค่าเฉลี่ยของสารก่อมะเร็งที่อยู่ในฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน ที่พบว่าลดลงในช่วงวิกฤติหมอกควันนั้น ทำให้เห็นว่าหมอกควันอาจไม่ใช่สาเหตุหลักทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ เพราะฝุ่นขนาดจิ๋วนี้จะเกิดจากอุณหภูมิที่สูง และความดันอากาศสูง คือเป็นการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ของยานพาหนะ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ายานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าหมอกควันจะไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนนี้อาจจะไปเกาะอยู่กับฝุ่นละอองขนาดใหญ่ก็ได้ ดังนั้นตอนนี้จะต้องทำการตรวจวิเคราะห์หาความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
“ในเมืองใหญ่ถ้าต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลสุขภาพประชาชนจริงๆ รัฐบาลต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ไม่ใช่สนับสนุนให้คนใช้รถ นอก จากรถจะเต็มถนนแล้ว ยังสร้างมลพิษจำนวนมากอีกด้วย นี่ยังไม่ได้ศึกษาหาค่าปรอท แคดเมียม สารหนู ที่สามารถปล่อยออกมาจากการเผาไหม้นี้ด้วย” รศ.ดร.กล่าว และว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาสารไดออกซินที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ในมนุษย์ ซึ่งสารดังกล่าวจะส่งผลต่อลูกทำให้มีความพิการ ความพกพร่องทางปัญญา เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเวียดนาม.
ที่มา : ไทยโพสต์ 13 มี.ค.2557