ผักหอมน้อย หรือ ผักหอมผอม คือชื่อเรียกพืชชนิดหนึ่งของคนภาคอีสานและภาคเหนือ แล้วคนภาคกลางรู้จักหรือไม่ว่าพืชชนิดนี้เรียกว่าอะไร ? ขอใบ้คำตามสำนวนที่ว่า ทำอะไรดี ๆ ให้พอเป็นพิธีแบบ “โรยหน้า” นั้นคือ ผักชี ผักหอมน้อยหรือผักหอมผอม ก็คือ ต้นผักชีที่เรารู้จักกันทั่วไป
สัก 1-2 ปีที่ผ่านมาคนไทยเห่อผักชีตามคนญี่ปุ่น เพราะสำนักข่าวใหญ่ NHK ของญี่ปุ่นรายงานข่าวเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของผักชี และยังเชิญชวนให้คนญี่ปุ่นกินกันเป็นประจำด้วย คนไทยก็เลยมาสนใจกับเขาบ้าง แต่พอเวลาผ่านไปก็เหมือนการนิยมชมชอบอาหารสมุนไพรแบบ “ผักชีโรยหน้า” ทำตัวตามแฟชั่นว่าสนใจสมุนไพรแบบให้ดูดีแต่อาจไม่ได้ใช้ต่อเนื่องจริงจัง
ผักชีมีอะไรดี ๆ มากกว่าเด็ดมาโรยแต่งหน้าอาหาร แต่งกลิ่น หรือกลบกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหาร ย้อนไปดูบันทึกที่มีการกล่าวไว้พบว่ามนุษย์รู้จักใช้ผักชีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์นั้น ก็มีหลักฐานการปลูกตั้งแต่เมื่อ 3,500 ปีที่แล้ว ผักชีน่าจะมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในชนพื้นเมืองในยุโรปประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนและทางเอเชียตะวันตก(ติดๆ กับทางยุโรป) แล้วน่าจะค่อยๆ นำไปปลูกในประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย มีเรื่องเล่ากันว่าคนทางตะวันตกของจีน(น่าจะคนต่างชาติ) นำผักชีเข้าไปปลูกในสมัยราชวงศ์ฮั่น หรือประมาณ 1,600 ปีมาแล้ว ผักชีจึงไม่ใช่ผักพื้นถิ่นของไทย
แต่คนไทยก็นำผักชีมาใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน จนอยู่ในวัฒนธรรมของไทย ทั้งการกินเป็นอาหารและนำมาปรุงยาสมุนไพรบำบัดรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะความรู้ยากลางบ้านแต่ดั้งเดิมนั้นแทบจะทุกครอบครัวรู้จักดีว่า ถ้าเด็กหรือผู้ใหญ่ออกหัดต้องใช้ผักชีช่วย เช่น ถ้าเด็กออกหัด จะกระทุ้งให้หัดออกเร็วขึ้นไม่หลบใน ก็นำผักชีสด ๆ ล้างน้ำ แล้วหั่นซอย จากนั้นอาจทำได้ 2 วิธี คือ นำไปผสมกับสุราแช่ปิดฝาไว้ หรือบางคนนำไปต้มกับน้ำให้เดือด แล้วปิดฝาหม้อรอจนน้ำยาเย็น ทั้งแช่สุราหรือต้นน้ำ ให้เอากากออก แล้วใช้น้ำยามาทาให้ทั่วร่างกาย แผ่นหลัง หน้าอก ท้อง ขา ยกเว้นไม่ต้องทาใบหน้า
บางคนที่อาการหัดแดงยังออกไม่หมด ก็ใช้ยาพื้นบ้านนำผลผักชีแห้ง มาสัก 1 กำมือ ใส่หม้อ(ควรใช้หม้อเคลือบ) แล้วเติมน้ำท่วมยา ต้มให้เดือด แล้วเอาหม้อยาไปวางไว้ในห้องคนไข้ เป็นห้องเล็กไม่มีลมโกรก แล้วเปิดฝาหม้อให้ไอยาจากผักชีค่อยรมให้ทั่วห้อง ไอจากยาจะค่อยๆ กระทุ้งให้ผื่นออกให้หมด นอกจากนี้ หากเด็กคนไหนมีอาการผื่นแดงไฟลามทุ่ง ก็จะใช้ผักชีมาตำพอกแผลรักษาได้
ถ้ากล่าวตามสรรพคุณยาไทย พูดได้ว่าทุกส่วนของผักชีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ ทั้งต้น ผล หรือราก ต้นผักชี มีคุณสมบัติร้อนเล็กน้อย รสเผ็ด มีสรรพคุณขับเหงื่อ ทำให้ผื่นหัดออกมากขึ้น ขับลม เจริญอาหาร แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ดับกลิ่นคาวปลา ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น แก้ผื่นแดง แก้ไฟลามทุ่ง
ผลผักชี มีคุณสมบัติร้อนเล็กน้อยเช่นกัน รสเผ็ด ทำให้ผื่นหัดออกเร็วขึ้นก็ได้ กินช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยละลายเสมหะ ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร กระตุ้นต่อมในกระเพาะอาหารและลำไส้ เพิ่มน้ำดีให้มากขึ้น ช่วยรักษาอาการปวดท้อง ช่วยแก้อาการบิด แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร
ส่วนใบ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้อาการกระหายน้ำ แก้อาการไอ แก้หวัด แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้อาการอาหารเป็นพิษ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนราก ใช้เป็นน้ำกระสายยา ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัว ไข้อีดำอีแดง ไข้เหือด ไข้หัด อีสุกอีใส
ยกตัวอย่างตำรับยาแก้ปวดท้อง และช่วยย่อยอาหาร ให้นำเมล็ดผักชีพอประมาณมาดองกับสุราก็ได้ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วกินเป็นยาวันละ 1-2 แก้ว (เป็ก) กินสัก 3-4 วันติดต่อกัน (ไม่แนะนำกินยาดองสุรานานๆ กินเท่าที่จำเป็น) ตำรับยาบำรุงน้ำนมให้สตรีหลังคลอด ให้ต้มผักชีสดหรือตากแห้งก็ได้ นำมาสัก5-10 ต้น ต้มน้ำกินเป็นประจำ บางคนต้มน้ำขิงและผสมผักชี เป็นยาช่วยให้มีน้ำนมได้ด้วย
ในเวลานี้มีการศึกษาผลทางเภสัชวิทยาของผักชีในระดับสัตว์ทดลองและหลอดทดลอง ที่พอจะบอกได้ว่า ใบและทั้งต้นผักชี ถ้าได้กินประจำก็จะได้สารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี ได้แก่ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) สารกลุ่มแทนนิน (tannins) สารกลุ่มคาโรทีนอยด์ (carotenoids) น้ำมันหอมระเหย วิตามินและเกลือแร่ ซึ่งทั้งใบและลำต้น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการชักและต้านการถูกทำลายของเซลล์สมอง ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา และมีฤทธิ์ช่วยย่อยในระบบทางเดินอาหาร
ผลและเมล็ด มีงานวิจัยพอสมควร พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านปรสิต ต้านการอักเสบ ต้านการก่อมะเร็ง มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด ลดไขมันในเลือด ลดความวิตกกังวล แก้ปวด สามารถจับและกำจัดโลหะหนัก ปกป้องตับและไต
ข้อควรระวังหากใคร “อิน” และกินผักชีมากเกินไปย่อมไม่ดี เพราะลูกผักชีและต้นผักชีมีน้ำมันหอมระเหย ถ้ากินมากไปจะเสพติดได้และมีผลต่อเซลล์ตับ และบางคนกินแล้วอาจแพ้มีผื่นคัน จึงควรกินในขนาดพอเหมาะ
ผักชี หรือผักหอมน้อย ผักหอมผอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ Coriandrum sativum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี หรือเทียน (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE) เป็นสมุนไพรหรือเครื่องเทศปรุงอาหารที่มีคุณต่อสุขภาพมาแต่อดีต ตั้งแต่ น้ำแกงต้มรากผักชีบรรเทาไข้ ดีต่อการย่อยอาหาร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเป็นอาหารสมุนไพรช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด และลดไขมันในเลือด
ผักชี คืออาหารสมุนไพร ไม่ใช่สำนวน “ผักชีโรยหน้า” แน่นอน.