MOVEMENT https://waymagazine.org/cptpp-cl/
ผลกระทบต่อผู้ป่วยจนถึงลูกหลาน หากรัฐบาลเข้าร่วม CPTPP
ความคืบหน้าเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ยังคงมีความไม่ชัดเจนจากรัฐบาลในหลายประเด็น จนเกิดเป็นข้อกังวลว่า หากรัฐบาลยืนยันจะเข้าร่วมเจรจาในความตกลงดังกล่าว จะสามารถรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติได้จริงหรือไม่ การตัดสินใจของรัฐบาลในการเดินหน้าเข้าร่วมเจรจา CPTPP มีความรอบคอบเพียงพอแล้วหรือไม่แค่ไหน ที่สำคัญคือหากมีการลงนามในบันทึกความตกลงระหว่างประเทศครั้งนี้จะมีผลผูกพันไปถึงคนรุ่นหลังอีกหลายชั่วคน
หนึ่งในประเด็นที่น่าเป็นห่วงในการเจรจา CPTPP คือผลกระทบต่อการประกาศใช้มาตรการ CL หรือมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) โดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP การประกาศใช้ CL อาจเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องได้ และเป็นอุปสรรคต่อการขึ้นทะเบียนยาสามัญ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงยาได้ยากขึ้น
เช่นเดียวกับ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า หากรัฐบาลตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะส่งผลให้ไทยประกาศใช้ CL ได้ยากขึ้น เพราะเปิดช่องให้เจ้าของสิทธิสามารถโต้แย้งหรือฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการได้ จนกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน เนื่องจากประเทศสมาชิกและนักลงทุนข้ามชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและล้มการทำ CL ได้
นิมิตร์ กล่าวว่า ในงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้นได้รวมค่ายาอยู่ด้วยทั้งในส่วนของผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และยังมีค่ายาสำหรับโรคเฉพาะอีกปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มียาต้นแบบหรือยาที่ติดสิทธิบัตรอยู่ ซึ่งหากเป็นยาที่มีความจำเป็นก็จะถูกบรรจุเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วยและต้องจัดซื้อในราคาของยาต้นตำรับ
“บางคนบอกว่ายังทำ CL ได้เหมือนเดิม เราก็เข้าใจว่ายังทำได้เหมือนเดิม แต่มันมีเงื่อนไขเหล่านี้อยู่ ซึ่งในอนาคตถ้าเราจำเป็นต้องใช้ยาที่ติดสิทธิบัตร โอกาสที่รัฐจะทำ CL ได้ก็คือเป็นศูนย์ เพราะจะทำให้รัฐไทยหรือหน่วยงานที่มีสิทธิประกาศ CL ไม่กล้าทำ ไม่พร้อมจะทำ เพราะถ้าถูกทักท้วงจากเจ้าของสิทธิหรือประเทศสมาชิกใน CPTPP เมื่อไหร่ เราถูกฟ้องทันที แต่ถ้าไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ตามกฎหมายและความตกลงที่ไทยผูกพันอยู่เดิม เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นเพียงพอ ประเทศไทยสามารถทำ CL ได้เลย” นิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลของ สปสช. พบว่าตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ไทยสามารถประหยัดค่ายาจากการทำ CL ได้ถึง 71,265 ล้านบาท แต่หากอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ CPTPP จะทำให้กลไกในการเข้าถึงยาราคาถูกทำได้ยากยิ่งขึ้น
‘เครือข่ายหมอพื้นบ้าน’ ห่วงสมุนไพรไทยสูญพันธุ์
ขณะเดียวกัน เครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2563 เพื่อคัดค้านการเข้าร่วมสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP
รณเกียรติ คำน้อย ตัวแทนเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค ระบุว่า หากรัฐบาลจะเข้าร่วมเจรจาเพื่อเป็นสมาชิก CPTPP จะนำความเสียหายต่อพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพอย่างใหญ่หลวง เปรียบเสมือนการตกเป็นเมืองขึ้นทางภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ เพราะพืชพันธุ์ที่บริษัทเอกชนได้สิทธิครอบครองไปนั้น เข้าข่ายการผูกขาดและทำลายวิถีชีวิตและสิทธิดั้งเดิมของบรรพชนที่เคยปลูกต้นไม้ไว้ให้ลูกหลานใช้เป็นอาหารและยา และใช้ประกอบสัมมาอาชีพต้องสูญสลายไป เครือข่ายหมอพื้นบ้านจึงขอคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- ความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียพันธุ์กรรมพืชสมุนไพร
การที่ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP จะต้องยอมรับการเข้าร่วมในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ อนุสัญญายูปอฟ 1991 (UPOV 1991) ซึ่งเป็นการคุ้มครองคล้ายกฎหมายสิทธิบัตร ดังนั้น UPOV 1991 จะส่งผลกระทบต่อการปรับปรุงสายพันธุ์พืช และส่งผลต่อสิทธิของผู้ปรับปรุงพันธุ์ของพืชทั้งอาหารและสมุนไพร
การให้สิทธิคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้นนำมาจากพันธุ์พืชตามธรรมชาติหรือพันธุ์ที่เกษตรกร หมอพื้นบ้าน ได้ช่วยกันคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์มาอย่างยาวนาน แต่เมื่อบริษัทนำไปปรับปรุงกลับได้สิทธิผูกขาดไปทันที วิถีปกติที่เก็บพันธุ์จากสวนไร่นาป่าเขาเพื่อนำมาเพาะขยายพันธุ์และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ต่อไปได้นั้นจะไม่สามารถทำได้อีก ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียความมั่นคงของพันธุ์พืชสมุนไพรไป
- ความสุ่มเสี่ยงการผูกขาดตลอดห่วงโซ่การผลิตสมุนไพร
ขอบเขตการให้สิทธิคุ้มครองใน UPOV1991 ไม่เพียงได้สิทธิครอบครองพันธุ์พืชที่มีการปรับปรุงใหม่ไปแล้ว หรือเรียกว่าได้ ‘ผูกขาด’ พันธุ์พืชและห้ามใครนำไปปลูกต่อแล้ว UPOV1991 ยังได้สิทธิผูกขาดไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนของพันธุ์พืชที่มีผู้ถือสิทธิครอบครองไว้ก็จะสามารถตามมาเอาผิดทางกฎหมายได้อีก ดังนั้นเกษตรกรไทย หมอพื้นบ้าน ผู้ผลิตยาสมุนไพร จะเป็นเพียงผู้ปลูกที่ซื้อเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์ไปตลอด ห้ามนำพันธุ์ไปปลูกต่อ และหากนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ก็ต้องจ่ายผลประโยชน์ให้กับเจ้าของพันธุ์ด้วย ดังนั้น UPOV1991 จะพาวิถีชีวิตของเกษตรกรและหมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นนักปลูกพืช นักขยายพันธุ์พืช และนักผลิตผลิตภัณฑ์ที่สืบต่อมาแต่บรรพบุรุษดำดิ่งลงสู่ความหายนะอย่างแน่นอน
- ความไม่น่าเชื่อถือของแนวทางเข้าเจรจา หากไม่พอใจก็ไม่ต้องเข้าร่วม
แม้ว่ามีข้าราชการ นักวิชาการ และนักลงทุนจำนวนหนึ่งพยายามสื่อสารเสนอแนวทางให้เข้าร่วมการเจรจาเป็นทางเลือกที่ดีกว่าไม่ร่วมเจรจานั้น โดยเสนอทำนองว่าการเจรจาอาจนำไปสู่การต่อรองไม่รับในสิ่งที่ประเทศไทยเสียเปรียบหรือส่งผลกระทบต่อไทยได้ ทางเครือข่ายฯ ได้ศึกษาจากบทเรียนในประเทศที่เข้าร่วม CPTPP แล้ว พบว่าทุกประเทศไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มีแต่ต้องยอมรับ UPOV1991 จะทำได้เพียงขอผ่อนผันการบังคับใช้ แต่ถึงที่สุดประเทศเหล่านั้นไม่สามารถหลุดรอดจาก UPOV1991 เช่น นิวซีแลนด์และบรูไน ขอผ่อนผัน 3 ปี มาเลเซียและเม็กซิโก ขอผ่อนผัน 4 ปี ฉะนั้น ใครก็ตามที่อ้างให้เข้าสู่การเจรจาก่อนนั้นจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ เครือข่ายฯ จึงมีความกังวลและห่วงใยที่จะพาประเทศสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอิสรภาพและการพึ่งตนเองทางอาหารและสมุนไพร
เครือข่ายฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะมีความตระหนักและไม่อนุมัติให้ประเทศไทยไปเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เพราะจะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงอย่างที่ไม่สามารถจะฟื้นคืนได้ต่อพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพของไทย
……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
กมธ. CPTPP จี้ถามกรมวิชาการเกษตร หลังพบความผิดปกติในเว็บไซต์ UPOV ระบุให้ประเทศไทยเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการ ทั้งที่ไม่เคยแสดงเจตจำนง หวั่นรัฐบาลแอบยื่นเรื่องขอเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991
https://www.thairath.co.th/news/business/1895467
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 63 คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบรายงานจากคณะอนุกรรมาธิการด้านการเกษตร ที่ขอคำชี้แจงจากสำนักเลขาอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ในประเด็นข้อกฎหมายในการป้องกันผลกระทบซึ่งจะเกิดกับเกษตรกร
โดย รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อนุกรรมาธิการเกษตร แจ้งต่อคณะกรรมาธิการว่า พบความผิดปกติในเว็บไซต์ UPOV ในสถานะของประเทศไทยที่ระบุว่า เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการที่อยู่ระหว่างการขอให้ทางสำนักเลขาธิการ UPOV ช่วยพัฒนากฎหมาย และยังได้รับสิทธิ์ให้เข้าร่วม 4 การประชุมสำคัญอนุสัญญา ซึ่งในเว็บไซต์ของทาง UPOV ระบุอย่างชัดเจนว่า การได้รับสถานะดังกล่าว ประเทศนั้นได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการ แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก UPOV แล้ว โดยยังได้ตอบอีเมลระบุว่า เจ้าหน้าที่ในกรมวิชาการเกษตรคนหนึ่ง เป็นผู้ประสานงานหลัก
นายนิกร จำนง รองประธานอนุ กมธ.เกษตร กล่าวเสริมว่า ทางอนุ กมธ.มีความกังวลว่า รัฐบาลไปยื่นเรื่องขอเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 แล้วหรือไม่ ต้องให้ได้ความกระจ่างในเรื่องนี้
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กมธ. มองว่า เป็นความผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จะขอเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ความตกลงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขององค์การการค้าโลก ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่กรณีนี้ไม่เคยมีมติ ครม.เรื่องนี้เลย
ด้านนางสาวธิดากุญ แสงอุดม ผอ.กลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ประเทศไทยยังไม่เคยแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการ นี่เป็นสถานะที่ทาง UPOV ให้เอง
นายเกียรติ สิทธีอมร กมธ. ชี้ว่า นี่เป็นสาระสำคัญ เพราะองค์กรระหว่างประเทศเช่นนี้ มีกติกาหรือ Charter ที่ชัดเจนในการให้สถานะประเทศใด ถ้าไทยไม่เคยส่งหนังสือแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการ ทางกระทรวงเกษตรฯ ต้องทำหนังสือไปยัง UPOV ให้แก้ไขสถานะไทยให้ถูกต้อง แล้วนำมารายงานคณะ กมธ. “สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ต้องกลับไปคิดและปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่าใช้วิธีแบบนี้ เพราะในที่สุดจะมีผลกระทบในสถานะของประเทศไทย”