โลกแคบและการเกษตรก้าวไกลไปมาก เมื่อสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมาได้มีโอกาสมาเดินเที่ยวตลาดนัดของเกษตรกรหรือที่คนพื้นเมืองเรียกว่า Farmer Market ในหลาย ๆ เมืองของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พบว่ามีผักชนิดต่าง ๆ มากกว่าร้อยละ 50 ที่คล้าย ๆ ผักเมืองไทย
เมื่อสิบกว่าปีก่อนจะหากะเพราแท้ ๆ ในอเมริกายากเย็นแสนเข็ญต้องใช้โหระพาทำหน้าที่แทน”ผัดกะเพรา” แต่เดี๋ยวนี้มีกะเพราแท้ขายในทุกตลาดแล้ว ทั้งกะเพราแดงและกะเพราขาว แม้กระทั่งยอดอ่อนมะรุม ยอดฟักทอง ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกชนิดต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนหลักการตลาด Demand และ Supply หรือ อุปสงค์ อุปทาน ที่คนแถบเอเชียเมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในอเมริกาเป็นจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินเดียและจีนที่ดูไปแล้วจะมีมากกว่าคนอเมริกันพื้นเมืองด้วยซ้ำไป คนเอเชียก็อยากกินอาหารเอเชียเป็นธรรมดา พ่อค้าแม่ขายก็ย่อมหาสินค้ามาจำหน่ายหลากหลายมากขึ้น
ในขณะที่เดินสำรวจตลาดผักเหลือบเห็นผักกองโต รูปร่างหน้าตาเหมือนหญ้าขัดมอญมาก แต่เมื่อพิจารณาใกล้ ๆ จึงเห็นว่าเป็น ปอกระเจา ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corchorus olitorius L. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Jute mallow or Jew’s mallow หรือ Nalita jute ชื่อท้องถิ่นในภาษาไทย เช่น ปอเส้ง เส้ง (ภาคอีสาน) กาเจา กระเจา ปอกระเจา ปอกระเจาฝักยาว (ภาคกลาง) ปอ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)
ยังไม่ชัดเจนว่า ปอกระเจา หรือ Corchorus olitorius L. มีต้นกำเนิดในแอฟริกาหรือเอเชีย ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า มาจากบริเวณอินโด-พม่า หรือจากอินเดีย รวมถึงสายพันธุ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ให้เห็นว่าในแอฟริกามีความหลากหลายทางพันธุกรรมและมีสายพันธุ์ป่าของพืชในสกุล Corchorus มากกว่าที่อื่นในโลก แต่ไม่ว่าจะมีต้นกำเนิดจากที่ใด ปอกระเจาได้รับการเพาะปลูกมาเป็นเวลานานมากในทั้งสองทวีป คาดว่าน่าจะเป็นคนยิวที่ทำการเพาะปลูกปอกระเจาเป็นกลุ่มแรก เพื่อใช้ใบเป็นอาหาร มีหลักฐานพบว่ามีการใช้ปอกระเจาเป็นอาหารมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณด้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ปอกระเจา เป็นไม้ล้มลุกที่มีกิ่งก้านค่อนข้างยาวและสูงประมาณ 1.5 เมตร และถ้าปลูกเพื่อผลิตเส้นใยอาจสูงได้ถึง 4 เมตร ระบบรากแก้วที่ดีจะทำได้ลำต้นที่แข็งแรงและไม่มีขน ลำต้นมีสีเขียว สีแดงอมน้ำตาลอ่อน และบางครั้งลำต้นในส่วนที่อยู่ระดับพื้นดิน จะเปลี่ยนเป็นเนื้อไม้เล็กน้อย ใบแหลมขอบหยัก มีดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อดอกสองดอกตรงข้ามกับใบ ดอกจะอยู่ที่ปลายลำต้น มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ และหลอดเกสรตัวผู้ 10 อัน ผลมีลักษณะเป็นกระสวย แตกออก มีสีตั้งแต่สีน้ำเงินเทาไปจนถึงสีเขียวหรือสีน้ำตาลอมดำ ภายในแบ่งออกเป็นห้อง ในแต่ละห้องจะมีเมล็ดอยู่ 25 ถึง 40 เมล็ด ซึ่งรวมแล้วจะมีเมล็ดได้ 125 ถึง 200 เมล็ดต่อผล ปอกระเจาจัดเป็นพืชพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง พบขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี อ่างทอง กรุงเทพฯ พังงา พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามบริเวณที่ชื้นแฉะ ทนทานน้ำท่วมได้ดี
ส่วนที่ใช้รับประทานคือ ใบ กินได้ทั้งดิบหรือสุก ใบอ่อนนำมาใส่สลัด ส่วนใบแก่สามารถนำไปต้มเป็นสมุนไพรได้ ใบอ่อนจะกลายเป็นเมือกอย่างรวดเร็วเมื่อปรุงสุก มีโปรตีนสูง ใบแห้งสามารถใช้ทำเป็นสารเพิ่มความข้นในซุปและชงเป็นชาได้ โดยปกติจะเก็บเกี่ยวใบและยอดอ่อนเมื่อมีความยาวประมาณ 20 – 30 ซม. ผลที่ยังไม่สุกจะนำมาใส่ในสลัดหรือใช้เป็นสมุนไพรก็ได้
สรรพคุณสมุนไพร พบว่าในอินเดียใช้ใบซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้ ขับปัสสาวะ ลดไข้ และบำรุงร่างกาย ใช้รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง หนองใน และปัสสาวะลำบาก เชื่อกันว่าเมื่อนำใบมาผ่านการแช่เย็น (Cold Infusion) จะช่วยฟื้นฟูความอยากอาหารและเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย มีการศึกษาว่า สารโอลิโทริไซด์ (Olitoriside) ที่สกัดได้จากปอกระเจา เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายสามารถช่วยปรับปรุงภาวะหัวใจล้มเหลวได้อย่างเห็นได้ชัด และไม่มีคุณสมบัติสะสมในร่างกาย
ในการทบทวนงานวิจัยของนักวิชาการจากอียิปต์ ในปี ค.ศ. 2022 พบว่าปอกระเจาเป็นผักใบเขียวที่มีคุณค่าทางโภชนาการซึ่งนิยมกินเป็นซุปข้นในวัฒนธรรมแอฟริกันและตะวันออกกลาง คุณค่าทางโภชนาการพบว่า ใบปอกระเจาอุดมไปด้วยแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมและธาตุเหล็ก นอกจากนี้ยังมีวิตามิน B1, B2, โฟลิกแอซิด C และ E ในใบยังมีสารประกอบจำนวนมากที่มีผลทางชีวภาพหลายประการ รวมถึงคุณสมบัติต้านเบาหวานและต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ใบยังมีไฟโตเคมีคัลอื่น ๆ เช่น คาดิแอคไกลโคไซด์ เทอร์พีน ฟลาโวนอยด์ กรดไขมัน ไฮโดรคาร์บอนและฟีนอลิก นอกจากนี้สารสกัดต่าง ๆ ในปอกระเจามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ป้องกันตับ ลดไขมันในเลือดสูง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันเนื้องอก ต้านจุลินทรีย์ ป้องกันเบาหวาน ระงับปวด สมานแผล และปกป้องหัวใจ
การใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น เส้นใยที่ได้จากลำต้น ถือเป็นแหล่งหลักของปอ แต่เส้นใยที่ได้จะด้อยกว่า ชนิดปอกระเจาฝักกลม (Corchorus capsularis L.) เส้นใยปอกระเจาฝักยาวค่อนข้างหยาบและส่วนใหญ่ใช้ทำผ้ากระสอบ เป็นต้น ปอกระเจามีแนวโน้มแตกกิ่งทำให้การแยกเส้นใยทำได้ยากขึ้น การปลูกต้นให้ชิดกันจะช่วยป้องกันไม่ให้แตกกิ่งมากเกินไป ปอกระเจายังใช้ทำกระดาษนำเส้นใยไปต้มกับโซดาไฟเป็นเวลา 2 ชั่วโมง บดด้วยเครื่องบดแบบลูกกลิ้งเป็นเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง ทำกระดาษมีสีเทาหรือเหลืองอ่อน เนื้อไม้ปอกระเจาเบาและอ่อนมากใช้ทำไม้ขีดไฟกำมะถันได้เช่นกัน
น่าแปลกใจ คนไทยไม่นิยมบริโภคปอกระเจาทั้ง ๆ ที่เป็นพืชพื้นเมืองชนิดหนึ่งของไทยและมีคุณค่าทางอาหารมากมาย และยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรด้วย ชวน “พี่เชพ” และ“พี่กุ๊ก” ทั่วไทยโปรโมทเมนูอาหารและประโยชน์จากปอกระเจากันนะ อาหารและยาเพื่อคนไทย.