เงื้อง่าราคาแพงมาหลายปีในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรไทยก็กล้าแสดงเจตน์จำนงปลดปล่อยกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษเป็นของขวัญต้อนรับปีหนู การปลดล็อคกระท่อมน่าจะล้ำหน้ากว่ากัญชาในแง่ที่ไม่ติดล็อคกฎหมายโลก เพราะอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษของสหประชาชาติระบุประเภทพืชยาเสพติดไว้แค่ 3 ตัว คือ ฝิ่น กัญชา และโคคา เท่านั้น ในโลกใบนี้น่าจะมีแต่พี่ไทยที่ล็อคพืชกระท่อมไว้ในกฎหมายยาเสพติดให้โทษ ในขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมจ่อจดสิทธิบัตรกระท่อมในไทยหลังจากจดไปเรียบร้อยแล้วในญี่ปุ่นและอเมริกา ที่น่าเจ็บก็คือญี่ปุ่นเขาใช้ใบกระท่อมไทยและนักวิชาการไทยไปช่วยเขาวิจัยด้วย ส่วนมาเลเซียก็กำลังแซงหน้าไทยโดยจดสิทธิบัตรยาพืชกระท่อมของเขาเอง
ขอบอกว่าในโลกใบนี้มีแต่เมืองไทยเท่านั้น ที่มีประวัติการใช้พืชกระท่อมเป็นยาในวิถีพื้นบ้านเชิงประจักษ์มายาวนาน และเป็นยาในคัมภีร์หลวงไม่น้อยกว่า18 ตำรับ ปัจจุบันยอมรับกันว่ากระท่อมพันธุ์ไทยมีสารอัลคาลอยด์ออกฤทธิ์มากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นสารมิตรายินีน(Mitragynine) หรือสารสเปซิโอยินีน(Speciogynine) อันเป็นที่มาของชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa Korth.
กระท่อมติดล็อคกฎหมายไทยมาตั้งแต่ปี 2486 ก็เพราะไม่ต้องการให้กระท่อมเป็นคู่แข่งกับยาฝิ่น ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมากระท่อมถูกจับอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ระดับเดียวกับกัญชา ทั้งๆที่ฤทธิ์เสพติดของกระท่อมก็ไม่มากไปกว่าอัลคาลอยด์อะโรโคลีน(Arocoline) ในหมากหรือคาเฟอีนในกาแฟ หรือน้อยกว่านิโคตินในบุหรี่ด้วยซ้ำ ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว โทษของคาเฟอีนในกาแฟถ้าเสพมากเกินขนาดอาจก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน แต่กฎหมายไม่ได้ตีตรวนกาแฟเป็นยาเสพติดให้โทษที่ต้องคุมเข้มการปลูก ผลิต จำหน่าย ครอบครอง หรือระวางโทษหนักแบบพืชเสพติดประเภท 5 แต่เรื่องตลกร้ายก็คือ คาเฟอีนเป็นสิ่งเสพติดที่เพิ่งเข้ามาในวิถีชีวิตคนไทย ที่ใช้เสพเพื่อนันทนาการการหรือชูกำลังเป็นหลักโดยที่ไม่เคยมีเงื่อนไขว่าต้องพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ทางยาก่อนจึงนำมาเสพได้ ในขณะที่กระท่อมมีประวัติการใช้เป็นยาแผนโบราณและอยู่ในวิถีวัฒนธรรมบริโภคของชุมชนมายาวนาน แต่ต้องโดนตั้งเงื่อนไขให้เริ่มต้นนับหนึ่งด้วยการผ่านการวิจัยทางยาก่อนปลดโซ่ตรวนให้ที่ละเปราะ
ในวิถีวัฒนธรรมชีวิตไทยโบราณไม่เคยจัดการเสพกระท่อมเป็นอบายมุขเหมือนการดื่มเหล้า เมากัญชา ยาฝิ่น ดังในเรื่อง”ขุนช้างขุนแผน”ตอนที่นางศรีประจันต์ถามนางทองประศรีที่มาสู่ขอนางพิมพิลาไลยลูกสาวว่า พลายแก้ว “ลูกชายนั้นดีฤาอย่างไรไม่เล่นเบี้ยกินเหล้าเมากัญชา ฝิ่นฝามันสูบบ้างหรือไม่” ส่วนกระท่อมนั้นเป็นยาขยันของผู้ชายวัยทำงาน โดยเฉพาะชาวใต้ที่สร้างเนื้อสร้างตัวได้ก็เพราะกินใบกระท่อม ดังสะท้อนอยู่ในบทเพลงของหนุ่มปักษ์ใต้ยุคนี้มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า
“กินท่อมมาตั้งแต่วัยรุ่น ขอบอกคุณคุณว่าได้ดีเพราะท่อม สวนยางเป็นร้อยไร่
ผมสร้างมันได้เพราะผมกินท่อม กินกระท่อมแล้วทำงาน สร้างหลักสร้างฐานกันด้วยใบท่อม”
และท่อนเนื้อร้องที่จับใจมากก็คือคำอุทธรณ์จากใจคนใต้ว่า “ใบท่อมก็เพียงใบไม้ ขอร้องเถอะนายอย่าจับพวกผม”
กระท่อมไม่ใช่ต้นไม้เฉพาะถิ่นใต้เท่านั้น มีการปลูกและเป็นไม้ขึ้นเองทั่วไป รวมทั้งในบางกอกด้วย คุณหมอเสงี่ยม พงษ์บุญรอด ผู้เขียน “ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณของยาเทศและยาไทย” ได้เล่าเรื่องถิ่นกระท่อมในกรุงและวิถีการกินกระท่อมทั้งที่เป็นยาและเพื่อนันทนาการตามวิถีชาวบ้านในประสบการณ์ของท่านเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า กระท่อม “มีปลูกกันตามบ้านและเคยพบขึ้นเองตามริมคลองบางกอกน้อยประปราย…..ใบกระท่อมนี้เป็นสินค้าที่ซื้อขายรับประทานกันแพร่หลาย เท่าที่ข้าพเจ้าเคยใช้มาและเคยได้สังเกตคนที่รับประทานใบกระท่อม คือเขาเลือกเอาใบกระท่อมงามๆมาลอกเอาก้านและเส้นใบออก แล้วเคี้ยวให้ละเอียด รับประทานน้ำชาอุ่นๆ กลั้วกลืนลงไป ทำดังนี้ครั้งละ 3-4 ใบ ก็ทำให้มีความสบายไปได้ 4-5 ชั่วโมง…..แล้วอีกวิธีหนึ่งคือ เอาใบกระท่อมตากให้แห้งกรอบแล้วป่นเป็นผง รับประทานกับน้ำชาครั้งละ 1 ช้อนกาแฟพูนๆ เมื่อได้รับประทานแล้วทำให้ประสาทมึนชา หายจากการปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ มีความสุข ทำการงานดีมาก แต่ไม่ชอบถูกฝนเลย……ประโยชน์ทางยา แพทย์ตามชนบทใช้ใบกระท่อมปรุงเป็นยาแก้บิด แก้ปวดมวน ปวดเบ่ง แก้ปวดท้อง แก้ท้องร่วง แก้ปวดเมื่อยร่างกาย ระงับประสาท”
เกร็ดที่น่าสนใจคือคุณหมอเสงี่ยมยังเล่าว่าในช่วงมหาสงครามแม้รัฐบาลยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยจะออกกฎหมายแบนพืชกระท่อมแล้ว แต่เนื่องจากขาดแคลนยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาบิด ท้องร่วงซึ่งเป็นหนึ่งโรคระบาดในเวลานั้น ทั้งหมอแผนโบราณและชาวบ้านก็ต้องละเมิดกฎหมายใช้ใบกระท่อมทั้งในรูปยาเดี่ยวและยาตำรับประสะกระท่อมรักษาได้ผลดีทัดเทียมกับยาฝรั่งในเวลานั้นที่มีราคาแพงมาก
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างตำรับยาเก่าที่เข้าใบกระท่อมสำหรับแก้ “บิดหัวลูก”ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์เวชศาสตร์วัณ์ณณาของพระยาประเสริฐศาสตร์ดำรง(หนู)ปรมาจารย์แพทย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่า “บิดหัวลูก” หมายถึง โรคบิดที่เกิดขึ้นกับหญิงมีครรภ์แก่จวนคลอด นับเป็นภาวะโรคที่อันตรายมากทั้งแก่แม่และทารก เครื่องยาในตำรับนี้มีไม่กี่อย่างทำได้ง่ายๆ ดังนี้ “ใบพลู 3 ใบ ปิ้งให้เกรียม ใบกระท่อมปิ้งให้เกรียม กระเทียมสุก บดแทรกฝิ่นทำแท่งละลายน้ำปูนใส น้ำกระชายกินแก้บิดหัวลูก หายดีนัก”
ข้างต้นล้วนมีชื่อสมุนไพรฤทธิ์แรง โดยเฉพาะฝิ่นและใบกระท่อม แต่ตัวยาหลักได้แก่ ใบพลู กระเทียม รวมทั้งใบกระท่อม ท่านให้ฆ่าพิษด้วยการปิ้งให้เกรียมหรือเผาให้สุกเสียก่อน นำมาบดแทรกยางฝิ่นนิดเดียวปั้นกับน้ำผึ้งเป็นแท่ง ส่วนยางฝิ่นนั้นจะไม่ใช้ก็ได้ เพราะน้ำกระชายที่ใช้เป็นน้ำกระสายยาสามารถแทนฝิ่นได้ ตรงนี้ต้องการแสดงให้เห็นภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยว่า สามารถนำใบกระท่อมหรือแม้แต่ฝิ่นมาปรุงยารักษาหญิงมีครรภ์แก่ได้ หากใช้ให้ถูกวิธี
แม้กฎหมายไทยจะมัดตราสังข์กระท่อมไทยไว้ยาวนานเกือบ 80 ปี แต่ก็ยังไม่สายเกินไป ในปีหนูทอง ขอโอกาสเพราะภูมิปัญญาสมุนไพรไทยนั้นตายยาก หากเปิดโอกาสเมื่อไรก็เติบโตได้เมื่อนั้น โดยเฉพาะโอกาสของผู้ใช้แรงงานซึ่งจะสามารถเข้าถึงสมุนไพรบำรุงกำลังได้ใกล้มือ ไม่ต้องซื้อหา เพียงแต่อย่าหาเรื่องสกัดกระท่อมเพราะเหตุว่าอาจจะเป็นคู่แข่งกับเครื่องดื่มบำรุงกำลังผสมคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฉกเช่นในอดีตที่รัฐไทยแบนกระท่อมเพราะกลัวจะหาประโยชน์จากการผูกขาดฝิ่นไม่ได้.