คุณคิดว่า เด็กหนุ่มวัย 24 ที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยและทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ค่อนข้างมั่นคง น่าจะใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ไปกับเรื่องอะไรกันบ้าง…
นอนพักยาวๆ ตื่นสายๆ ให้หายเหนื่อยจากการทำงานตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หาความรื่นรมย์ให้กับตนเองด้วยการดูหนัง ฟังเพลง หรือนัดกินข้าวกับเพื่อน?
สำหรับ คุณณัฐวัฒน์ พรหมสถิต หรือ ดิว ก็เป็นเหมือนทุกคน ที่ปรารถนาให้วันว่างวันมีค่าเป็นช่วงเวลาที่ได้อิ่มเอมกับความสุข เพียงแต่ว่า ความสุขของเขาอาจแตกต่างไปจากแบบฉบับที่คนส่วนใหญ่นึกถึง
แม้ว่าเพิ่งเริ่มเข้ามาเป็นอาสาสมัครสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์บ้านพญาไท ในปี 2556 แต่เขาคุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้มาก่อนแล้ว
“บ้านผมอยู่แถวๆ นี้ ตอนเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่พามาเลี้ยงอาหารและเอาของมาบริจาคน้องบ่อยมาก พอมาสมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็มักเลือกมาทำกิจกรรมที่บ้านนี้ ถึงเวลาวันเกิดก็จะชวนเพื่อนๆ หุ้นกันมาเลี้ยงอาหารกลางวัน มันก็เหมือนเป็นความผูกพัน ได้เห็นน้องบางคน ซึ่งเราจำได้ แล้วเขายังไม่ได้ออกไป มีความรู้สึกว่า อยากให้เขาไปได้ดี” ชายหนุ่มเล่าถึงความผูกพันอันยาวนานเกือบตลอดชีวิตที่มีกับสถานสงเคราะห์แห่งนี้
ขณะเดียวกัน เขายังเป็นนักกิจกรรมอาสาในรูปแบบอื่นๆ ด้วย
“ผมเป็นคนชอบทำกิจกรรมจิตอาสา สมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็ทำกิจกรรมมาตลอด ไปสร้างฝาย ไปสอนหนังสือเด็กตาบอด โดยเป็นแกนนำชวนเพื่อนๆ ไปทำ กับมูลนิธิสุขภาพไทยก็เคยทำกิจกรรมด้วยครั้งหนึ่ง ตอนนั้นไปทำกระเป๋าให้เด็กต่างจังหวัด ถ้าใบไหนสวยเขาก็จะเอาไปประมูล แต่ถ้าใบไหนขายไม่ได้ก็เอาไปแจก จากกิจกรรมนี้ทำให้ได้รู้ว่า มูลนิธิฯ มีโครงการนวดสัมผัสเด็ก ซึ่งก็สนใจเหมือนกัน แต่ว่าข้ามๆ ไปก่อน เพราะว่าช่วงนั้นยังไม่พร้อม”
ต่อเมื่อพร้อมและโครงการเปิดรับอาสาสมัครฯ เขาจึงไม่รีรอที่จะมาเป็นพี่อาสาฯ
“ที่นี่ผมมาทุกวันเสาร์ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง จับคู่ดูแลน้อง เล่นกับน้อง น้องที่ผมดูอายุ 2 ขวบกว่า เป็นเด็กผู้ชาย ผิวดำ ผมหยิก ตัวเล็ก ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็นลูกครึ่งหรือเป็นต่างชาติเต็มๆ นะ”
แน่นอนว่า การเป็นพี่อาสาฯ ที่จะต้องดูแลน้องแบบตัวต่อตัวต่อเนื่องยาวนานตลอด 4 เดือน ย่อมแตกต่างจากการเดินเข้ามาบริจาคสิ่งของหรือเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กแน่นอน
“พอมาวันแรกเจอน้องไม่พูด ไม่ยิ้ม นั่งเฉยๆ ก็เริ่มกังวลนะ เพราะเท่าที่เคยมาบริจาคของหรือมาเลี้ยงอาหาร น้องๆ จะมายิ้มมาคุย อยากมาเล่น แต่นั่นเราไม่ได้ดูแลน้องเฉพาะคน” โชคดีที่มีพี่อาสาฯ รุ่นเก่าๆ ที่มีประสบการณ์หลายคนคอยช่วยให้คำแนะนำและแบ่งปันความรู้กันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
“ก่อนรับน้องออกจากบ้านจะมีช่วงเหมือนชั่วโมงโฮมรูม ให้พี่ๆ มาคุยกันก่อน แล้วหลังรับน้องก็จะมาคุยกันอีกรอบ ทุกครั้งที่เราจะแชร์ประสบการณ์และปัญหาร่วมกัน พี่ๆ จะให้ความรู้ได้ว่า น้องเป็นยังไง ควรจัดการอย่างไร ในกลุ่มพี่อาสาฯ เอง ก็จะมีการอัพเดตกันผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กตลอดเวลาว่า วันนี้ไปอ่านเรื่องนี้มา ถ้าน้องเป็นอย่างนี้ๆ ควรทำอย่างนี้ๆ เช่น ถ้าน้องงอแง ควรสร้างทางเลือกที่ชัดเจนให้น้อง แล้วให้เขาเลือกเอง ตรงนี้ก็ช่วยเราได้เยอะ แต่บางครั้งเราก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์ด้วยเหมือนกัน
“สำหรับผมเลือกใช้วิธีดึงเขาออกมาเล่นกับเพื่อนๆ จากตอนแรกๆ เล่นกับน้องคนเดียว แต่พอหลังๆ เราสังเกตว่า พอน้องเขาได้เล่นกับเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย พัฒนาการเขาดี มีการตอบโต้มากขึ้น เขาได้เรียกชื่อเพื่อน จึงสร้างโอกาสให้เขาได้มาเล่นด้วยกัน มาแชร์กัน เล่นบอลก็ไม่ได้เล่นคนเดียว ได้โยนให้คนนั้นคนนี้ แบ่งๆ กัน”
ตลอด 3 ชั่วโมงที่อยู่กับน้อง กิจกรรมหลักๆ ที่ทำคือ การเล่น
“เราไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนว่าจะสอนอะไรน้อง แต่ตั้งใจทำให้น้องมีความสุขที่สุด เช่น ถ้าน้องเขาอยากทำอะไร ก็ตามใจเขา อยากวิ่งเล่นก็ให้วิ่ง แล้วเราก็คอยดูสภาพแวดล้อมว่าพี่อาสาฯ คนอื่นๆ เขาทำอะไรกัน ถ้าน้องอยากเข้าไปมีส่วนร่วม เราก็พาเขาเข้าไป แต่ถ้าให้ไปเรียน ABC ก.ไก่ ข.ไข่ ซึ่งน้องยังเด็กเกินไป เขาไม่อยากทำ เราก็ไม่ฝืนใจเขา เพราะอยู่ในบ้านน้องเขาก็มีความจำกัดมากพออยู่แล้ว ถ้าได้ออกมา ก็อยากให้เขาได้ทำอะไรอย่างที่เขาอยากทำ”
กว่าน้องจะเริ่มมีปฏิกิริยาตอบโต้ และยิ้มได้อย่างทุกวันนี้ เขาบอกว่าต้องใช้ความพยายามอยู่นานเป็นเดือนทีเดียว
“วันที่มีความสุขที่สุดคือ วันที่ได้เห็นน้องยิ้ม เพราะใช้ระยะเวลานานมากกว่าน้องจะยิ้ม จะพูด…“จำได้ว่า ตอนนั้นพาน้องเล่นชิงช้า แล้วมีเพื่อนเล่นด้วย เราจับได้ว่าน้องเขาเอาอะไรเข้าปาก เราก็ ‘อ๊ะ เห็นนะ ห้ามเอาเข้าปาก’ พอเขาถูกจับได้ก็ยิ้ม แล้วก็หัวเราะออกมา”
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของน้องทำให้เกิดกำลังใจและพร้อมที่จะทุ่มเทมากขึ้น
“ตั้งแต่เป็นพี่อาสาฯ มายังไม่เคยขาด เพิ่งมีสัปดาห์ที่แล้วที่ต้องไปสัมมนากับที่ทำงาน มีขาดอีกครั้งตอนที่น้องไม่สบาย เจ้าหน้าที่โทรแจ้งก่อนว่าไม่ต้องมา…ผมไม่อยากเริ่มต้นใหม่ เพราะเห็นพี่อาสาฯ บางคนหายไป 2-3 สัปดาห์ พอมาอีกทีน้องเขางอน แล้วก็ต้องมาเริ่มต้นความสัมพันธ์กันใหม่”
การพาน้องออกนอกสถานที่เป็นครั้งแรกไม่ได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่น้อง แต่พี่เองก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน
“เตรียมขนมมาเต็มเลย แต่แม่ที่ดูแลประจำบ้าน ไม่ค่อยยอมให้กิน เพราะกลัวน้องอาเจียนในรถ แล้วก็เตรียมทั้งทิชชูเปียก ทิชชูแห้ง เตรียมทุกอย่างที่ทำได้ และที่สำคัญคือ เตรียมใจ มีพี่ๆ ขู่ไว้ว่า น้องบางคนร้องไห้ตั้งแต่ขึ้นรถไปจนถึงที่หมายเลย เราก็กลัว
“โชคดีว่าน้องเราไม่ร้อง แต่กลัว ตอนจะเข้าไปดูตู้แสดงสัตว์น้ำ เพราะบรรยากาศมันมืดๆ น้องเห็นก็ร้องไห้เลย เราต้องคอยปลอบ กลยุทธ์ของผมคือ ให้เขาจับมือเพื่อนไว้ เหมือนกับว่า เขาสนิทกับใครก็ให้เขาดูเพื่อนคนนี้ว่า เขายังเห็นไม่เป็นอะไรเลย ให้จับมือกันไปพร้อมๆ กัน เขาก็โอเค หรือช่วงมาเยี่ยมปกติ บางทีหมดเวลาแล้ว น้องยังไม่ยอมเข้าบ้าน เหมือนจะอยู่กับเราต่อ ก็ใช้กลยุทธ์เรียกเพื่อนมาเลย เอาคนที่เขาสนิท แล้วบอกว่าให้รีบจับมือกับเพื่อน แล้วเดินเข้าบ้านไปด้วยกัน”
เขาสะท้อนความรู้สึกต่อประสบการณ์ 4 เดือนกับการเป็นพี่อาสาฯ ว่าเหมือนการเปลี่ยนชีวิต ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น โดยเฉพาะยามที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานประจำตลอดจันทร์-ศุกร์ แต่เมื่อนึกถึงว่า พรุ่งนี้จะได้เจอน้อง โลกดูสดใสและมีความหวังสำหรับเขาเสมอ
“วันธรรมดาเราเครียดกับงานค่อนข้างมาก แต่พอนึกถึงว่า เดี๋ยวจะได้เจอน้อง ได้เห็นว่าน้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้นก็มีความสุขแล้วครับ การมาที่นี่เหมือนเป็นงานประจำที่เราต้องมา รู้สึกว่าต้องมาให้ได้ทุกครั้ง ส่วนหนึ่งคือ ผูกพันกับน้อง กลัวน้องงอแง เพราะถ้าเราไม่มา เขาเห็นเพื่อนคนอื่นได้ออกจากบ้านไปเล่น เขาคงเสียใจ”
ประสบการณ์ใหม่นี้ยังเชื่อมโยงไปสู่การประเมินคุณค่าตามมุมมองที่ถูกบ่มเพาะมาจากสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา
“ผมเรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์ เวลาผมคิดอะไรก็จะคิดแบบหลักเศรษฐศาสตร์ คือยึดหลักประโยชน์ สูงสุด พยายามทำให้เกิดขึ้นกับทุกๆ อย่าง เช่น ถ้าไม่ชอบดูหนัง แต่คุณแม่อยากไปดู เมื่อสิ่งนั้นทำให้แม่มีความสุข ได้ข้อสรุปว่าเกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ผมก็จะพาแม่ไปดูทั้งที่เราไม่อยากดู หรือเวลาไปทำงาน มีรถบริการรับส่ง ถ้าเรามัวแต่นั่งพับผ้าห่มอาจไม่ทัน ผมก็จะมุ่งไปที่การขึ้นรถให้ทันก่อน เพราะถ้าไม่ทันรถ เราก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เสียเวลาเพิ่ม แต่ถ้าผ้าห่มยับไม่เป็นไร เป็นต้น
“เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ผมมองว่าประโยชน์สูงสุดอย่างแรกคือ น้องเขาจะได้ออกมานอกบ้าน เพราะถ้าเป็นน้องเล็กๆ เขาจะได้อยู่แต่ในบ้าน ต่อมาคือน้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เราเองก็ได้ช่วยแบ่งเบาภาระแม่ที่ดูแลน้องแต่ละบ้าน แล้วอย่างน้อยช่วงที่น้องอยู่กับเรา เราก็ได้มีโอกาสปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้กับเขา “ประโยชน์สุดท้ายที่ได้ คือ กับตัวเองเพราะเราทำแล้วมีความสุข”
ความสุขที่ว่านี้ก็คือ การได้เห็นน้องเติบโตด้วยพัฒนาการที่ดีอย่างรอบด้าน
“มาแรกๆ งงว่า น้องเขามีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการเดินหรือเปล่า เพราะเดินไม่ค่อยแข็ง แต่จริงๆ เขาไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ว่าไม่ค่อยได้ออกมาข้างนอก พอเรามาพาน้องออกไป ให้เขาได้วิ่งเล่น ได้เล่นสไลเดอร์ เล่นชิงช้า เตะบอล มันก็ทำให้น้องเขาแข็งแรงขึ้น
“ด้านจิตใจ คือ น้องยิ้มแย้ม ร่าเริง และที่คิดว่าสำคัญและดีต่อน้องมากก็คือ เขาได้เห็นสังคมวงกว้างขึ้น ไม่ใช่อยู่แต่ในบ้าน แต่ออกมา ได้เจอเรา ได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ อาสาฯ คนอื่นๆ ทำให้เขามีมนุษยสัมพันธ์ มีการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ มากขึ้น เวลาเดินผ่านใครเขาก็จะทักทายกัน”
เมื่อถามว่าเคยรู้สึกกลัวกับความผูกพันตรงนี้บ้างไหม เขายอมรับว่ากลัว แต่ถึงที่สุดแล้วก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ สำคัญที่ว่าประโยชน์สูงสุดอยู่ตรงไหน
“ในความรู้สึกของผม คือ ต้องยินดีกับน้อง หากน้องมีพ่อแม่บุญธรรม ความเสียใจหรือผูกพันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แต่ว่าถ้าน้องเขาไปมีอนาคตที่ดี เราก็ต้องสนับสนุน ถามว่าผูกพันไหม…ผูกพันนะ แต่สุดท้ายผมเป็นคนที่ยึดหลักประโยชน์สูงสุด คือ ถ้าน้องมีความสุข พี่ก็มีความสุข
“ประโยชน์สูงสุดที่อยากเห็นคือ น้องมีพัฒนาการที่ดีในทุกๆ ด้าน แล้วเติบโตไปเป็นคนดีของสังคม แค่นี้พอแล้ว ไม่ต้องเก่งก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดีก็พอ แล้วน้องจะได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ต่อไปว่า ถึงเป็นเด็กที่ไม่มีพ่อแม่แต่ก็สามารถเติบโตในสังคมได้ ซึ่งสังคมทุกวันนี้ค่อนข้างอยู่ยาก “ถ้าเราทำให้เขาเป็นคนดีของสังคมได้ เขาก็น่าจะแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นได้”
ทุกวันนี้ นอกจากจะทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับน้องแล้ว เขายังอาสาช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ให้คนรอบข้างได้รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
“เวลามีกิจกรรมอะไร เช่น มาทำความสะอาดก็จะไลน์บอกเพื่อน ส่งอีเมล์ ช่วยหาอาสาสมัครให้ นี่ก็ได้เพื่อนที่จะมาเป็นอาสาสมัครในรุ่นต่อไปมาแล้วหนึ่งคน จะเริ่มเดือนตุลาคม และผมเองก็จะเป็นพี่อาสาระยะยาวต่อไปเรื่อยๆ”
เขาฝากถึงเพื่อนๆ ที่สนใจงานอาสาสมัครว่า ถ้าสะดวกและมีเวลาก็อยากให้ลอง
“วันนี้กิจกรรมอาสาฯ มีมากมาย เครือข่ายสังคมก็มีมากขึ้น กิจกรรมทางเฟซบุ๊กก็มีหลากหลาย โดยเฉพาะน้องๆ วัยมหาวิทยาลัย อยากให้เริ่มตั้งแต่สมัยเรียน จะได้ปลูกฝังตัวเองในการช่วยเหลือสังคม การอยู่ร่วมกันในสังคม ช่วยกันพัฒนาสังคมให้มันดีขึ้น อย่างง่ายๆ เลย เช่น ถ้าอยู่ใกล้ๆ โรงเรียนสอนคนตาบอดก็ไปสอนหนังสือ หรือจะไปเซ็นทรัลเวิลด์ ไปอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้น้องฟังที่ร้านบีทูเอสก็ได้ คือทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองมีความสุขพร้อมๆ กับทำให้สังคมดีขึ้น”
ท้ายสุด หนุ่มน้อยเฉลยบทสรุปนิยามแห่งความสุขในแบบฉบับของตนเองว่า
“มุมมองในชีวิตของผมคือพยายามทำให้ตัวเองมีความสุขก่อน โดยไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่โชคดีว่า ความสุขของผมก็คือการได้เห็นความสุขของคนอื่นด้วย”