จากข้อมูลการทำงานของ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ภายใต้ “โครงการรณรงค์ป้องกันภัย อาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว” ที่ได้จากสำรวจการปนเปื้อนสารตะกั่วของเด็กไทยในพื้นที่ของ ตำบลแม่จันและตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตากในปี พ.ศ. 2553 พบว่า เด็กวัย 3-7 ปี ถึงร้อยละ 26 มีระดับตะกั่วในเลือดสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน และในปีถัดมาได้สำรวจอีกครั้งใน เด็กวัย 1-7 ปี พบตัวเลขที่น่าตกใจว่า มีสารตะกั่วในเลือดเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ถึงร้อยละ 63 (มากกว่า 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร) สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า “สารตะกั่ว” ยังเป็นภัยคุกคามสำหรับสุขภาพของเด็กไทย และประชาชนที่ยังไม่อาจมองข้ามหรือละเลยความสำคัญไปได้ โดยเฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง
พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ เปิดเผยว่าข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยในบางพื้นที่ยังมีความเสี่ยงต่อพิษของสารตะกั่ว สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการเล่นบนพื้นดินของเด็ก และการเลือกใช้ภาชนะทำอาหารหรือบรรจุอาหารที่มีตะกั่วเป็นส่วนผสม ทางสถาบันฯ จึงได้ดำเนิน “โครงการปกป้องเด็กและครอบครัว ห่างไกลพิษสารตะกั่ว” ซึ่งเป็นการทำงานต่อเนื่องจากโครงการเดิม เพื่อสำรวจสถานการณ์การสัมผัสสารตะกั่วของเด็กไทยในแต่ละภูมิภาค และให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ห่างไกลจากการสัมผัสสารตะกั่ว “องค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้จากการดำเนินงาน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯจะจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายในการจัดการปัญหาพิษสารตะกั่วอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องเด็กไทยและครอบครัวห่างไกลจากพิษสารตะกั่ว พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมมือกับรพ.นพรัตน์จัดทำคู่มือแนวทางการดูแลรักษาเด็กและผู้ใหญ่ที่มีการสัมผัสสารตะกั่ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดการเฝ้าระวังและป้องกันพิษภัยจากสารตะกั่วอย่างเป็นระบบของประเทศ” พญ.ศิราภรณ์ กล่าว
ประชาชนสนใจในเรื่องพิษภัยของสารตะกั่ว สามารถดาวน์โหลด “คู่มือการดูแลรักษาเด็กและผู้ใหญ่ที่มีการสัมผัสสารตะกั่ว” ได้ที่ www.childrenhospital.go.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ 1415
ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุริจ 4 ต.ค.2557