ปัจจุบันสังคมไทยทุกภูมิภาคยังคงมีการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ และมีหมอพื้นบ้านกระจายตัวอยู่ทุกภาค มีการสำรวจพบหมอพื้นบ้านมากว่า 25,000 คน หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นชาย บางส่วนเป็นพระสงฆ์ ส่วนใหญ่หมอพื้นบ้านมีอาชีพเกษตรกรรม ค้าขายและรับจ้าง และมีรายได้เสริมจากการนวดพื้นบ้าน หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่เรียนวิชาจากครูอาจารย์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษหรือผู้รู้ที่เป็นหมอพื้นบ้านรุ่นเก่า
หมอพื้นบ้านมีบทบาทในการดูแลโรคทางกาย โรคทางจิตและจิตวิญญาณ เพื่อความสมดุลและอยู่เย็นเป็นสุขของสมาชิกชุมชน โดยการใช้ยาสมุนไพร การนวด การใช้เฝือกไม้ การเสี่ยงทาย การดูดวงชะตา และพิธีกรรม ชาวบ้านในชุมชนมักเรียกชื่อหมอพื้นบ้านตามวิธีการรักษาโรค ตัวอย่างเช่น หมอกระดูก หมอยาสมุนไพร หมอนวด หมอตำแย หมองู หมอดู เฒ่าจ้ำ หมอขวัญ หมอรำผีฟ้า มะม๊วด เป็นต้น โรคที่หมอพื้นบ้านให้การรักษาในชุมชน คือ โรคเด็ก (ตาล ซาง หละ อีสุกอีใส ไข้) กลุ่มอาการกระดูกหักและข้อ ปวดกล้ามเนื้อและปวดเคล็ดเฉพาะที่ (กษัยเส้น เส้นตึง เส้นจม) กลุ่มอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคงูสวัด ไฟลามทุ่ง แมลงสัตว์กัดต่อย งูกัด แมงมุมกัด โรคประดง ผื่นคัน โรคสตรี (โรคไข้ทับระดู อาการผิดสำแดง เลือดลมผิดปกติ) โรคเบาหวาน โรคริดสีดวง
อย่างไรก็ตามหมอพื้นบ้านมีประสบการณ์และความสามารถแตกต่างกัน ประชาชนในชุมชนยังคงใช้ประโยชน์จากการแพทย์พื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์และมีคุณธรรม ไม่คิดแสวงหารายได้แต่เน้นการช่วยเหลือผู้คน แสดงให้เห็นว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพยังคงมีประโยชน์ต่อชีวิตและสุขภาพของชุมชน ที่สัมพันธ์กับระบบความเชื่อ วัฒนธรรมของท้องถิ่น และระบบนิเวศน์ชุมชน.