บัวหลวง สูงสุดบูชาพระ ดีต่อสุขภาพกายใจ

บัวเป็นพืชที่มี 2 วงศ์ คือ วงศ์บัวหลวง (Nelumbonaceae) และวงศ์บัวสาย (Nymphaeaceae) ทั้ง 2 วงศ์มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน บัวหลวงมีก้านแข็ง ดอกโผล่พ้นน้ำได้สูง ในขณะที่บัวสายมีก้านที่อ่อนกว่าและดอกส่วนใหญ่ลอยอยู่บนผิวน้ำหรือชูพ้นน้ำได้เล็กน้อย

ในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ใช้ดอกบัวหลวงเป็นเครื่องบูชา ซึ่งมีชื่อสามัญเรียกกันสื่อความหมายในภาษาอังกฤษว่า Sacred Lotus ส่วนอียิปต์โบราณกล่าวไว้ว่าบัวหลวงเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ ในวรรณกรรมไทยส่วนใหญ่มีการกล่าวถึงบัวหลวงในหลาย ๆ ชื่อ เช่น ปทุม โกมุท สัตตบัน สัตตบงกช บุณฑริก เป็นต้น ทำให้เกิดความสับสนว่าชื่อบัวเหล่านี้เป็นชนิดเดียวกันหรือไม่ เมื่อสืบค้นในฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว แสดงให้เห็นว่าในวงศ์บัวหลวงมีสมาชิกเพียงสกุลเดียว คือ Nelumbo ซึ่งมีการกระจายอยู่ในเขตร้อนทั่วโลก ในสกุลบัวหลวง (Nelumbo) มีสมาชิกเพียง 2 ชนิด คือ บัวหลวงเม็กซิโก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo lutea (Willd.) Pers. และบัวหลวงเอเชีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera Gaertn. ถึงแม้การศึกษาทางด้านพันธุกรรมแสดงหลักฐานให้เห็นว่าบัวหลวงที่คนไทยคุ้นเคยหรือบัวหลวงเอเซียนี้มีเพียงชนิดเดียว แต่ด้วยลักษณะภายนอกที่เห็นด้วยตาเปล่ามาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันสามารถแยกบัวหลวงออกได้เป็น 4 กลุ่มย่อย ดังนี้

1)บัวหลวงพันธุ์ดอกสีชมพู มีชื่อว่า ปทุม ปัทมา โกกระนต หรือโกกนุต ดอกขนาดใหญ่ ดอกตูมเป็นรูปไข่ คล้ายการพนมมือ ปลายดอกเรียวสีชมพู กลีบดอกชั้นนอกมี 4-5 กลีบ เป็นรูปไข่มีขนาดเล็กเรียงตัวกัน 2 ชั้น ส่วนกลางของกลีบมีรูปร่างโค้งป่อง ตรงกลางสีชมพูอมเขียว ส่วนกลีบดอกชั้นกลางและชั้นในสีชมพูเข้ม โคนกลีบดอกสีขาวนวล มีประมาณ 13-14 กลีบ เรียงตัวเป็นชั้น ประมาณ 3 ชั้น อยู่โดยรอบฐานดอก กลีบชั้นนอกและชั้นในมีสีและรูปร่างคล้ายชั้นกลางแต่เล็กกว่ากลีบในชั้นกลาง บัวหลวงชนิดนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป นิยมนำดอกมาบูชาพระ ส่วนของเกสรนำมาเข้าตำรับยาบำรุงหัวใจ ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังว่าการเก็บเกสรบัวมาทำยา ต้องรอให้ดอกบัวโรย เมื่อเกสรตกลงน้ำ จึงจะช้อนขึ้นมาแล้วนำไปผึ่งลมให้แห้ง จึงจะนำมาทำยาได้

2)บัวหลวงพันธุ์ดอกสีขาว มีชื่อว่า บุณฑริกหรือปุณฑริก ดอกขนาดใหญ่เป็นรูปไข่ ปลายเรียว
คล้ายบัวพันธุ์ปทุมหรือบัวหลวงดอกชมพู แต่เป็นดอกมีสีขาวประกอบด้วยกลีบดอกชั้นนอกสีขาวอมเขียว ส่วนกลีบในชั้นกลางและชั้นในสีขาวปลายกลีบดอกสีชมพูเรื่อ ๆ รูปร่างของกลีบและการเรียงตัวของกลีบดอกคล้ายดอกบัวพันธุ์ปทุม ชนิดนี้เหมือนกับชนิดแรกที่นิยมนำมาบูชาพระ

3)บัวหลวงพันธุ์ดอกสีชมพูซ้อน กลีบสั้น ป้อม มีชื่อว่า สัตตบงกช ดอกมีขนาดใหญ่ ดอกตูม
เป็นทรงเกือบกลมป้อม สีชมพู ประกอบด้วยกลีบนอกเป็นรูปรี มี 4-7 กลีบ กลีบเล็กเรียนซ้อนกันเป็นชั้น 2-3 ชั้น สีเขียวอมชมพู กลีบในสีชมพูตลอด ส่วนโคนกลีบที่ติดกับฐานรองดอกมีสีขาวอมเหลือง กลีบในมีประมาณ 12-16 กลีบ กลีบในชั้นนอกและชั้นในมีขนาดเล็กกว่าชั้นกลาง เป็นรูปไข่ที่มีส่วนกว้างอยู่ด้านบน เกสรตัวผู้ชั้นนอก ๆ เป็นหมัน โดยมีก้านชูที่เป็นเกสรตัวผู้ที่เป็นแผ่นบาง ๆ สีชมพูคล้ายกลีบในแต่มีขนาดเล็กกว่า ไม่มีอับเรณู แต่ปลายกลีบมีส่วนยื่นออกมาที่มีฐานเรียวเล็ก ส่วนปลายพองใหญ่ มีสีขาวนวล

4)บัวหลวงพันธุ์ดอกสีขาวซ้อน ลักษณะคล้ายสัตตบงกช (ชนิดที่ 3) แต่มีสีขาว มีชื่อว่า
สัตตบุตย์ หรือในพระไตรปิฎกเรียกว่า ชาตบุด ซึ่งอาจมีการเขียนหลายแบบ เช่น ชาดบุด ชาตบุศย์ เป็นบัวที่ดอกมีขนาดใหญ่ ดอกตูมเป็นรูปไข่ทรงป้อม คล้ายบัวพันธุ์สัตตบงกช ดอกมีสีขาว ซ้อนกันหลายชั้น ดอกประกอบด้วยกลีบดอกสีเขียวอมขาว ส่วนกลีบชั้นในสีขาวตลอด ส่วนรูปทรงและการเรียงตัวของกลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายกับบัวพันธุ์สัตตบงกช

บัวหลวงเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อชีวิตของคน ทุกส่วนของบัวหลวงตั้งแต่รากใช้เป็นอาหาร ในบางประเทศกินใบอ่อนเป็นผัก ใบเพสลาด(กลางอ่อนกลางแก่) ใช้ห่อข้าวแล้วเอาไปนึ่ง หรือใช้ห่อสิ่งของต่าง ๆ เหมือนใบตอง เมล็ดกินได้หรือนำมาประกอบอาหารและของหวานและใช้ทำเป็นแป้งได้ดี เหง้าบัวหลวงหรือหนายบัวก็นำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ทั้งคาวหวานได้เช่นกัน

ที่น่าสนใจและมีความสำคัญในวงการยาไทยคือ ส่วนต่าง ๆ ของบัวหลวงสามารถนำมาใช้เข้ายาได้เกือบทุกส่วน เช่น ดีบัว (คือไส้สีเขียวที่อยู่ในเมล็ด คือ ต้นอ่อนในเมล็ด) มีสารที่เรียกว่า เมธิลคอรีพอลลีน (Methylcorypalline) ซึ่งเป็นตัวทำให้เส้นเลือดขยาย สรรพคุณที่กล่าวไว้แต่โบราณให้กินแก้อาการหงุดหงิดนอนไม่หลับ บำรุงหัวใจ แก้กระหายน้ำ ปัจจุบันได้เชื่อมความรู้แต่อดีตกับงานศึกษาใหม่ก็พอสรุปได้ว่า ดีบัวช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ช่วยบรรเทาอาการในโรคเส้นเลือดหัวใจตีบให้ดีขึ้น และพบว่าช่วยลดความดันโลหิต ทำเองได้หาดีบัวมาล้าง ตากแห้งแล้วให้อบหรือคั่วให้แห้งสนิท ใช้ครั้งละ 1 หยิบมือ ใส่แก้วเติมน้ำร้อนแบบชงชา ทิ้งไว้ให้ยาละลายออกฤทธิ์สัก 15 นาที กินครั้งละ 1 แก้ว เช้าเย็น ผงดีบัวแห้งเก็บใส่ภาชนะมีฝาปิดเก็บได้นานเป็นปี

ส่วนของใยจากก้านใบและก้านดอกใช้แก้ท้องเดิน แก้เสมหะ และภูมิปัญญาดั้งเดิมเวลาที่ต้องการฆ่าพิษหรือที่เรียกว่าสะตุยาจากรงทอง (Garcinia hanburyi Hook.f.) ก็จะต้องใช้ใบบัวหลวงห่อรงทองเอาไว้ 7 ชั้น ก่อนนำไปย่างไฟอ่อน ๆ เพื่อสะตุยาหรือฆ่าพิษ
ส่วนของบัวหลวงที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางคือส่วนของดอก โดยเฉพาะเกสรตัวผู้ใช้เข้ายาขับปัสสาวะ มีรสฝาดสมาน และยังมีสรรพคุณใช้แก้ไข้ตัวร้อน แก้อ่อนเพลีย ขับเสมหะ บำรุงหัวใจ เกสรบัวหลวงนำมาเป็นเครื่องประกอบยาหรือใช้เกสรอย่างเดียวก็ปรุงเป็นยาหอม ชูกำลัง ทำให้ชื่นใจ ช่วยสงบประสาท ช่วยให้จิตใจสงบเย็นบ้าง และนำรากบัวมาต้มน้ำ ก็เป็นเครื่องดื่มช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้อย่างดี เขาว่าหน้าร้อนกำลังจะลาจากแต่หน้าฝนจะทิ้งช่วง ทำให้คนไทยยังต้องรับความร้อน ไปอีก บัวหลวงจึงเป็นอาหารและสมุนไพรใกล้ตัวที่ช่วยได้

บัวเป็นทั้งอาหาร ยา เครื่องบูชา เครื่องดื่ม ฯลฯ ที่ดีต่อสุขภาพและสร้างเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ได้ หากคนรุ่นใหม่รุ่นเก่าเรียนรู้บัวให้ลึกซึ้ง ช่วยกันสานเสริมย่อมเกิดพลังของแท้ ซอฟต์พาวเวอร์ !

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand