เรื่อง เห็ด มีเรื่องราวอะเมซิ่ง (amazing) มีเห็ดอยู่กลุ่มหนึ่งพบได้ในพื้นที่ป่า ซึ่งมักเติบโตจากโคนตอไม้ที่เน่าเปื่อย มีลักษณะตั้งตรงยาว ส่วนที่พ้นมาจากพื้นดินมักจะมีลักษณะเหมือน “นิ้ว” ที่ถูกไฟไหม้ บวม ดำ และมีรูปทรงคล้ายมือที่ยื่นเอื้อมขึ้นไปบนท้องฟ้า มีผู้คนตั้งชื่อเห็ดในกลุ่มนี้แนวสยองขวัญว่า “เห็ดนิ้วมือคนตาย” หรือ Dead Man’s Fingers เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามลักษณะที่เหมือนกับว่ามีคนถูกฝังอยู่ใต้ดิน
“เห็ดนิ้วมือคนตาย” นี้จัดอยู่ในวงศ์ Xylariaceae สกุล Xylaria โดยที่สกุล Xylaria มีรายงานว่าในประเทศไทยพบเห็ดในสกุลนี้ถึง 40 ชนิด มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำการศึกษาเห็ดในสกุลนี้ในสวนปาล์ม พบถึง 13 ชนิด จำแนกออกเป็นกลุ่มตามวัสดุที่ขึ้นได้ 3 กลุ่ม คือ 1) ขึ้นบนท่อนไม้ผุและกิ่งไม้ 2) ขึ้นบนทางปาล์มน้ำมัน และ 3) ขึ้นบนดินหรือบนรังของแมลง หลายท่านคงมีคำถามว่า เห็ดในสกุลนี้กินได้หรือใช้ทำยาได้หรือไม่ ?
เห็ดในสกุลนี้มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ โดยสร้างเอนไซม์สลายสารอินทรีย์ต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของซากพืช และซากสัตว์ที่มีอยู่ในปริมาณมากในระบบนิเวศตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถสร้างสารสำคัญในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคใบไหม้และราสนิมของข้าวได้ มีรายงานว่าเห็ดในสกุลนี้กินได้เพียงชนิดเดียว คือ Xylaria polymorpha (Pers.) Grev. เห็ดชนิดนี้พบเห็นได้ตลอดปีในป่าที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ มีความชื้นพอสมควร พบมากที่สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ยุโรปแผ่นดินใหญ่ และบางส่วนของอเมริกาเหนือ ส่วนเห็ดที่มีรายงานว่าใช้เป็นยาได้ คือ เห็ดชนิด Xylaria nigripes (Klotzsch) Cooke หรือที่คนไทยเรียกว่า “น้ำเต้าใต้ดิน”
ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีข่าวครึกโครมข่าวหนึ่งที่ชาวบ้านถูกจับเนื่องจากเก็บน้ำเต้าใต้ดินจากป่าไปขาย คำว่าน้ำเต้าใต้ดินอาจเป็นคำใหม่สำหรับประชาชนทั่วไป น้ำเต้าใต้ดินเป็นเห็ดราชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นลูกกลมหรือรีคล้ายน้ำเต้า เห็ดชนิดนี้มักขึ้นอยู่ตามรังปลวกที่เป็นรังร้าง เดิมทีน้ำเต้าใต้ดิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Xylaria nigripes (Klotzsch) Cooke ที่นักวิชาการจัดอยู่ในกลุ่มเห็ด “เห็ดนิ้วมือคนตาย” แต่ต่อมาในฐานข้อมูลของเห็ดโลก (Index Fungorum) ได้เปลี่ยนน้ำเต้าใต้ดิน ให้มีชื่อวิทยาศาสตร์ใหม่ว่า Podosordaria nigripes (Klotzsch) P.M.D. Martin
ในข่าวที่ชาวบ้านถูกจับนั้นสื่อต่าง ๆ ยังอ้างอิงว่าน้ำเต้าใต้ดินเป็นสมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาแผนโบราณของไทย โดยจัดอยู่ในกลุ่มธาตุวัตถุ มีรสเย็นจืด ดับพิษฝี พิษอักเสบ แก้ปวด ฝนทาแก้คางทูม แต่จากการสืบค้นในเวลานี้ยังไม่พบว่าอยู่ในตำรับยาใดที่เป็นทางการตามที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็น ตำราการแพทย์แผนไทยและตำรับยาแผนไทยของชาติ แต่มีผู้รู้บางท่านบอกว่าเคยพบเห็นในตำรับยาพื้นบ้านซึ่งจะต้องสืบค้นต่อไป แต่ที่แน่ ๆ น้ำเต้าใต้ดินใช้เป็นยาแผนโบราณของจีน เชื่อกันว่าเชื้อราชนิดนี้ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและการสร้างเม็ดเลือด นอกจากนี้ยังใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ปมบาดแผลหรือความชอกช้ำทางจิตใจ (trauma) ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และยาบำรุงประสาท
น้ำเต้าใต้ดินมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า Wu Ling Shen มีงานวิจัยเป็นจำนวนมากจากประเทศจีนและไต้หวัน ที่แสดงให้เห็นศักยภาพทางยาของน้ำเต้าใต้ดิน โดยมีผลในการต้านอนุมูลอิสระ ปรับภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ปกป้องตับ ต่อต้านเนื้องอก ป้องกันความจำเสื่อมถอย มีฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู เพิ่มความไวต่ออินซูลิน และมีฤทธิ์ปกป้องระบบประสาท ในประเทศจีนได้มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยง นำเส้นใยมาบดใส่แคปซูลขายเป็นการค้า ส่วนใหญ่ใช้เป็นยาช่วยให้นอนหลับ
ในปี พ.ศ. 2564 นักวิทยาศาสตร์ไทยทำการศึกษาเห็ดในรังปลวกที่ภาคอีสาน ค้นพบว่า เห็ดในสกุล Xylaria ชนิด Xylaria nigripes อาศัยอยู่ในรังปลวก (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำเต้าใต้ดิน แต่ในทางวิชาการได้เปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์ไปแล้ว) การศึกษานี้นอกจากพบชนิด Xylaria nigripes แล้วยังพบชนิดใหม่อีก 11 ชนิดและ 1 วาไรตี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของเห็ดในสกุลนี้ที่อาศัยอยู่ในรังปลวก และอาจเป็นไปได้ว่าเห็ดที่พบใหม่ทั้งหมดนี้ มีศักยภาพในการใช้เป็นยาได้เหมือนกับชนิด Xylaria nigripes หรือคนไทยเรียกน้ำเต้าใต้ดิน ซึ่งต้องทำการศึกษาต่อไป
เพื่อให้เข้าใจตรงกัน เห็ดในวงศ์ Xylariaceae สกุล Xylaria ที่เรียกกันว่า“เห็ดนิ้วมือคนตาย” จะเป็นเห็ดที่ขึ้นบนท่อนไม้ผุและกิ่งไม้ พบว่าโผล่มาบนผิวดินเหมือนนิ้วมือคนโผล่ขึ้นมาให้แปลกตา ส่วนน้ำเต้าใต้ดินเป็นเห็ดราที่คนไทยพูดถึงกันเวลานี้ จะขึ้นในรังปลวก
การเก็บหาน้ำเต้าใต้ดินจำเป็นต้องขุดเจาะพังทลายจอมปลวก แล้วนำเห็ดไปขายในสนนราคากิโลกรัมละ 1,500 – 2,000 บาท มักจะมีพ่อค้าคนกลางรับซื้อเพื่อนำไปขายต่อต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดสมุนไพรในประเทศจีนและกัมพูชา การขุดเอาน้ำเต้าใต้ดินจากจอมปลวกถือว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างร้ายแรง คนที่ไปขุดน้ำเต้าใต้ดินจึงถูกจับเพราะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 55(5) ว่าด้วย “เก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ”
เห็ดในกลุ่มนี้กำลังเป็นที่สนใจและมีการศึกษาประโยชน์ทางยาเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐพิจารณาหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาปกป้องระบบนิเวศและการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ให้ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน.