นักโภชนาการมหิดลแนะวิธีกินผัก ‘เพียงพอ-พอดี’

แม้คนไทยยุคใหม่เริ่มหันมาใส่ใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น จนเกิดเป็นเทรนด์ “รักสุขภาพ” รณรงค์อย่างจริงจัง เน้นการออก กำลังกายและทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง

จากรายงานของ “โครงการศึกษาวิจัยแผนการลงทุนด้านสุขภาพในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554)” ระบุว่า คนไทยมากกว่าร้อยละ 75 บริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน ทั้งๆที่เห็นได้ชัดว่าผู้คนในสังคมจำนวนมากต่างขานรับเทรนด์สุขภาพอย่างพร้อมเพรียง

รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานจัดการประชุมวิชาการแห่งชาติด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพครั้งที่ 1 กล่าวถึงกรณีข้างต้นว่า พฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้ของคนไทยยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ จากอดีตที่วัฒนธรรมการบริโภคอาหารไทยมักมีผัก โดยเฉพาะผักพื้นบ้านเป็นส่วนประกอบ

“ก่อนหน้านี้คนไทยนิยมกินผักในรูปของเครื่องเคียงจิ้มน้ำพริกและผักในแกงต่างๆ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนไปเป็นการบริโภคอาหารจานด่วนที่ไม่มีผักเป็น ส่วนประกอบเป็นหลัก ทำให้ขาดความสมดุลของสารอาหาร ซึ่งการบริโภคผักและผลไม้น้อยในคนไทยเป็นสาเหตุของภาระโรคอันดับต้นๆ ที่ก่อให้เกิดผลเสียทางสุขภาพ ส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง”

สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ ดร.วิสิฐพูดถึงข้างต้น มีตั้งแต่โรคเบาหวาน, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคกระเพาะอาหาร, โรคมะเร็ง เป็นต้น
จากการศึกษาวิจัยจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า การบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน ซึ่งในปริมาณ 400 กรัมที่ว่านี้จะประกอบไปด้วยเมล็ดธัญพืชและถั่วไม่น้อยกว่า 30 กรัม (ไม่รวมผักที่มีแป้งมากอย่างมันฝรั่งและมันสำปะหลัง) สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ถึง ร้อยละ33 และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับคนที่บริโภคผักและผลไม้น้อยกว่า

ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร หัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพัฒนาการแพทย์ทางเลือกแบบ บูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงโรค ไม่ติดต่อเรื้อรังว่า เป็นปัญหาสุขภาพที่พบมาก และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตถึง ร้อยละ 35 ของอัตราการเสียชีวิตในแต่ละปี

ดังนั้น การบริโภคผักและผลไม้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะนอกเหนือจากลดอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแล้ว ยังมีประโยชน์ในการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางชนิดด้วย ซึ่งผักและผลไม้ในประเทศไทยหลายชนิดก็มีสรรพคุณในการต้านกลุ่มโรคดังกล่าว อาทิ มะรุม, ผักชีลาว, มะเขือเทศ, หม่อน, มะม่วงหิมพานต์, เสาวรส และมะม่วง จะมีฤทธิ์ปกป้องสมองจากโรคหลอดเลือดสมอง และโรคทางระบบประสาทที่เกิดจากการเสื่อมหรือการตายของเซลล์ประสาท ในขณะที่ข้าวโพดและผลหม่อน มีฤทธิ์ต้านต้อกระจก รวมถึงเร่งการฟื้นคืนสภาพ ของเส้นประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน ส่วนสารสกัดจากขิงและพิเพอรีนจากพริกไทยดำมีฤทธิ์ลดความอ้วน

ดร.นันทวัน บุณยะประภัศร จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ ดร.ศิริพร ตันติโพธิ์พิพัฒน์ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยกตัวอย่างของผักผลไม้เพิ่มเติมอีกหลายชนิด ได้แก่

ใบบัวบก ช่วยรักษาแผล ลดอาการอักเสบ ลดอาการทางประสาท ฟื้นความทรงจำ, ลูกยอ สามารถลดตัวชี้วัดการอักเสบและอนุมูลอิสระในเซลล์, ส้ม ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ป้องกันเส้นเลือดเปราะ ยับยั้งการจับตัวของ เกล็ดเลือด, สับปะรด ต้านอนุมูล อิสระและเพิ่มภูมิคุ้มกัน, กล้วย ลดความดัน ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และ มะละกอ ชะลอภาวะสมองเสื่อม ขยายหลอดเลือด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สุจิตต์ สาลีพันธ์ นักวิชาการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวเตือนว่า การทานผลไม้มีข้อควรระวังอยู่เช่นกัน ในจุดที่ไม่ควรเลือกผลไม้ที่มีรสหวานจนเกินไป เนื่องจากกลุ่มนี้จะให้พลังงานแก่ร่างกายที่มากจนเกินพอดี แตกต่างจากผักที่สามารถทานได้ไม่จำกัด เพราะส่วนใหญ่จะให้พลังงานน้อยหรืออาจจะไม่ให้พลังงานเลย

“แม้ประเทศไทยจะมีผักผลไม้ที่สามารถทานได้กว่า 330 ชนิด แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการเลือกทานผักผลไม้คือแหล่งที่มา เพราะอาจมีผลต่อการปนเปื้อนสารบางชนิดที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หากไม่พิถีพิถัน แทนที่จะได้ประโยชน์จากการทานผักผลไม้ก็จะกลายเป็นได้รับผลเสียเข้าไปแทน”
แต่ก็ใช่ว่าการทานผักผลไม้ 400 กรัมต่อวันจะเหมาะสมกับบุคคลทุกเพศ ทุกวัยเสมอไป

ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปริมาณการทานผักผลไม้ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลสำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปเท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัยทุกสถานะ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการทานมากเกินความจำเป็นนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาโภชนาการขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรทานให้พอดีกับวัยของตนเองจึงจะถูกต้องที่สุด “จากการสำรวจพบว่า คนไทยยิ่งอายุมากขึ้นจะยิ่งทานผักน้อยลง ซึ่งพฤติกรรมการทานดังกล่าวควรปรับเปลี่ยน ด้วยหลักการง่ายๆ สำหรับทานผักผลไม้ อย่างการทานต่อมื้อให้เท่ากับขนาดหนึ่งกำมือของตนเอง เพราะจะเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุดตรงที่คนตัวใหญ่ก็อาจจะต้องทานมากหน่อย ส่วนคนตัวเล็กก็ทานน้อยลงตามขนาดตัว”

ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีร่างกาย แข็งแรงสมบูรณ์เต็มร้อย คนรักสุขภาพคงต้องพิถีพิถัน และหันมาเริ่มทานผักผลไม้กันให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เสียแล้ว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 30 ม.ค.57

บทความที่เกี่ยวข้อง

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand