“ฟ้าทะลายโจร” เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะมีสารสำคัญที่มีฤทธิ์กระตุ้นหรือเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในบัญชียาหลักของชาติมีข้อบ่งใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอและแก้ท้องเสีย ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 60-100 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ที่ จ.นครปฐม ราชบุรี อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุพรรณบุรี สุรินทร์ ปราจีนบุรี และสระแก้ว ได้ผลผลิตสดประมาณ 2-2.5 ตันต่อไร่ แต่การผลิตยังมีปัญหาไม่สม่ำเสมอของผลผลิตและปริมาณสารสำคัญ ศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและพัฒนาการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้
นายจรัญ ดิษฐไชยวงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ทางศูนย์ได้ศึกษาปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การทดสอบสายพันธุ์ การพรางแสง ความหนาแน่นในการปลูกที่ผลต่อผลผลิตและปริมาณสารสำคัญ การให้น้ำและช่วงเวลาให้น้ำต่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ พร้อมศึกษาระยะการเจริญเติบโตและส่วนต่างๆ ของฟ้าทะลายโจรที่ให้สารแอนโดรกราโฟไลด์สูง และศึกษาขนาด รูปร่างที่เหมาะสมของแปลงทดลอง เพื่อให้ได้วัตถุดิบฟ้าทะลายโจรคุณภาพและมีมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม
ผลการวิจัยพบว่า สายพันธุ์ทะลายโจรที่เหมาะแก่การปลูกในพื้นที่ จ.พิจิตร คือ สายพันธุ์พิษณุโลก 4-5 ถ้าปลูกในฤดูหนาวจะให้ผลผลิตน้ำหนักสด 1,774 กิโลกรัม/ไร่ น้ำหนักแห้ง 391 กิโลกรัม/ไร่ ปริมาณแล็กโตนรวม 11.79 กรัม/น้ำหนัก 100 กรัม หากปลูกในฤดูฝนจะให้ผลผลิตน้ำหนักสด 4,178 กิโลกรัม/ไร่ น้ำหนักแห้ง 960 กิโลกรัม/ไร่ ปริมาณแล็กโตนรวม 10.74 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม
ก่อนการปลูกฟ้าทะลายโจรควรทำการวิเคราะห์ดิน โดยต้องปรับความอุดมสมบูรณ์ของดินให้มีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 3.5% สำหรับดินเหนียว ค่า ph ระหว่าง 5.5-8.08 สำหรับความหนาแน่นของการปลูกพบว่า การปลูกแบบย้ายกล้าใช้ระยะปลูก 30×60 เซนติเมตร เก็บผลผลิตระยะออกดอก 50% จะให้ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์สูงสุด ระยะปลูก 30×40 เซนติเมตร ให้ผลผลิตสูงสุด ปริมาณสารสำคัญผันแปรตามสภาพแวดล้อม หากปลูกในช่วงฤดูแล้งแนะนำให้ปลูกระยะ 30×40 เซนติเมตร หรือประมาณ 13,333 ต้น/ไร่ ให้นำหนักสดสูงสุด 3,070 กิโลกรัม/ไร่ น้ำหนักแห้งสูงสุด 776.6 กิโลกรัม/ไร่ ช่วงฤดูฝนควรใช้ระยะปลูก 30×60 เซนติเมตร หรือประมาณ 8,888 ต้น/ไร่ ให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์สูงสุด 6.98 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม
นอกจากนั้นยังพบว่าการปลูกให้น้ำประมาณ 48 ลิตร/พื้นที่ปลูก 1 ตารางเมตร ฟ้าทะลายโจรจะให้ผลผลิตและสารสำคัญสูงสุด โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและฤดูร้อน พืชต้องได้รับน้ำปริมาณที่เพียงพอสม่ำเสมอตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ทั้งยังพบว่าการปลูกฟ้าทะลายโจรแบบพรางแสงให้ผลผลิตลดลงถึง 50% ทั้งนี้ มีข้อพึงระวังในการปลูกคือ ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีสารอินทรีย์และอนินทรีย์ที่มีพิษปนเปื้อน ไม่เป็นแหล่งที่มีน้ำท่วมขังและแหล่งปลูกที่มีลมพัดแรง มีแนวบังลมเพื่อป้องกันต้นหักล้ม
นายจรัญกล่าวถึงผลการศึกษาส่วนต่างๆ ของฟ้าทะลายโจรที่ให้สารแอนโดรกราโฟไลด์สูง ซึ่งวิเคราะห์สารสำคัญโดยสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ส่วนต่างๆ ของฟ้าทะลายโจรให้ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์แตกต่างกัน โดยเก็บเกี่ยวส่วนยอด 25 เซนติเมตร ที่ระยะออกดอก 25-75% ให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์สูงสุด และการศึกษาขนาดพื้นที่เก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของฟ้าทะลายโจรสำหรับใช้เป็นมาตรฐานในการทำงานทดลองไม่ควรน้อยกว่า 5.76 ตารางเมตร เป็นสี่เหลี่ยมมุมฉาก ไม่จำกัดรูปร่าง
ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรได้ถ่ายทอดผลงานวิจัยนี้ไปสู่เกษตรกรผู้ผลิตฟ้าทะลายโจรใน จ.ปราจีนบุรี ซึ่งสามารถใช้งานได้จริงในฟาร์ม อาทิ การให้น้ำฟ้าทะลายโจรไม่เกิน 80% ของค่าการระเหย ทำให้เกษตรได้ผลผลิตและปริมาณแล็กโตนรวมสูงสุด การเก็บผลผลิตฟ้าทะลายโจรแบบแยกส่วน ได้แก่ ตัดส่วนยอด 25 เซนติเมตร และตัดส่วนเหนือดินห่างโคนต้น 4 ข้อ การเพาะกล้า การจัดการแปลงปลูก และการอบแห้ง เป็นต้น ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตแห้งเพิ่มขึ้นจากเดิม 144 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 668 กิโลกรัม/ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า และปริมาณสารแล็กโตนรวมตั้งแต่ 9-11 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน สามารถใช้เป็นแนวทางในการผลิตวัตถุดิบฟ้าทะลายโจรในเชิงพาณิชย์ได้
หากผู้ใดสนใจข้อมูล “วิจัยและพัฒนาการผลิตฟ้าทะลายโจรเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร จ.พิจิตร โทร.0-5699-0035 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มาข้อมูล : ไทยโพสต์ออนไลน์ http://www.thaipost.net/x-cite/180612/58383