นางสุณี เพชรศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลระโนด จ.สงขลา กล่าวว่า จากการศึกษา เรื่อง “ประสิทธิผลของการนวดเท้าที่มีผลต่ออาการชาเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน” ที่มารับบริการคลินิกเบาหวานของโรงพยาบาลระโนด มีประวัติเป็นโรคเบาหวานมากกว่า 1 ปี มีอาการชาเท้าโดยการตรวจด้วยเครื่อง monofilament อุปกรณ์ตรวจเท้าที่ใช้ตรวจรับความรู้สึกของเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน อย่างน้อย 1 จุด ซึ่งสามารถตอบคำถามได้เองและยินดีเข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวน 15 คน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเบาหวานมา 6-10 ปี มีโรคแทรกซ้อนคือความดันโลหิตสูง ร่วมกับมีอาการเท้าชา ส่วนใหญ่ไม่เคยมีประวัติการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น และไม่เคยมีประวัตินอนโรงพยาบาลด้วยแผลที่เท้า ทั้งนี้ได้ทำแบบบันทึกการตรวจอาการชาเท้าก่อนนวดเท้า ขณะนวดเท้า และหลังนวดเท้าจนครบ 7 ครั้ง เป็นเวลา 330 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่นวดแผนไทยที่ผ่านการอบรมการนวดไทยของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยการนวดครั้งละ 45 นาทีทุกสัปดาห์
“ผลการนวดพบว่า การนวดเท้าทำให้อาการเท้าชาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยอาการชาเท้าซ้ายดีขึ้นร้อยละ 86.67 และอาการชาเท้าขวาดีขึ้นร้อยละ 73.33 ผลการวิจัยดังกล่าวจึงสรุปได้ชัดเจนว่า การนวดเท้าในผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการเท้าชา สามารถลดอาการชาเท้าได้ดี จึงส่งผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาเท้าไปนวดที่แผนกแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาล และทุกครั้งที่ส่งผู้ป่วยไปนวด หากญาติมาด้วยก็ให้สอนวิธีการนวดแก่ญาติด้วย เพื่อให้สามารถนวดกันเองที่บ้าน นอกจากลดค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย” นางสุณี กล่าว
อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ประเทศไทยจากการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ปี 2554 พบผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่กว่า 300,000 คนโดย 1 ใน 3 ไม่รู้ตัวว่าป่วยและพบคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเสี่ยงป่วยเบาหวานอีก 2.4 ล้านคน สาเหตุที่คนไทยป่วยเป็นเบาหวานมาก เนื่องจากบริโภคน้ำตาลสูงถึงคนละ 29.6 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งสูงเกินกว่ามาตรฐานถึง 3 เท่าตัว
ที่มา : คมชัดลึก 19 มี.ค.2557