เมื่อเอ่ยชื่อไพล (Zingiber montanum )ใคร ๆ ก็นึกถึงส่วนเหง้าปรุงเป็นยาภายนอกใช้ทา ถู นวดแก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก ช่วยลดอาการอักเสบ ปวดบวม แก้เส้นตึงตามร่างกาย ลดผดผื่นคัน ใช้ทาแผลป้องกันการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาดั้งเดิมใช้น้ำต้มเหง้าไพลแช่อาบตัวหญิงหลังคลอดบุตรแทนการอยู่ไฟเพื่อให้แม่ลูกอ่อนฟื้นฟูสุขภาพได้เร็วขึ้น แต่สำหรับหมอแผนไทยอาจจะคุ้นเคยกับตำรับยาประสะไพลใช้กินแก้ปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขับน้ำคาวปลา ขับโลหิตร้ายในสตรี เป็นต้น
แต่ยังมีสรรพคุณเด่นอีกประการหนึ่งของไพลใกล้ตัว ที่คนมองข้าม คือ สรรพคุณช่วยรักษาอาการหอบหืด ภูมิแพ้ รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแรงให้ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นระบบที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต คนเราถ้าขาดอากาศหายใจน่าจะอยู่ได้ไม่เกิน 4-5 นาที หลักการพยุงชีวิตในช่วงระยะสุดท้ายของแพทย์แผนโบราณ คือ หากธาตุดินยังพอทรงตัวอยู่ได้ ท่านจะพยุงธาตุลมอัสสาสะปัสสาสะหรือลมหายใจเข้า-ออกเอาไว้ชั่วระยะหนึ่ง พอให้ผู้ไข้ได้มีแรงสั่งเสียลูกหลานบริวารก่อนสิ้นลม ดังกรณีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือคิงมงกุฎในเวลาใกล้สวรรคต พระโอสถสุดท้ายที่ข้าหลวงเดิมถวายเพื่อพยุงพระชนม์ชีพของพระองค์ท่านคือ “พระโอสถไพล” นั่นเอง ดังมีหลักฐานบันทึกพระราชกระแสรับสั่งและวาระสุดท้ายของรัชกาลที่ 4 ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้
“…จึงรับสั่งว่า ทรงพระประชวรครั้งนี้เห็นจะเหลือมือหมอหลวงแล้ว ถ้าเพลี่ยงพล้ำลง ผู้มีความสามิภักดิ์และข้าหลวงเดิมจะเสียใจว่าพยาบาลไม่เต็มมือ จึงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสว่าผู้ใดมีหมอยาก็ให้ถวายเถิด ขณะนั้นพระราไชศวรรยา เจ้ากรมพระคลังในซ้ายซึ่งเป็นข้าหลวงเดิม รับฉลองพระเดชพระคุณประกอบพระโอสถไพลกับเกลือ เจือด้วยเวทมนตร์คาถา ครั้นทรงเสวยแล้ว พระอาการที่แน่นพระอุระก็ถอยลง จึงมีพระบรมราชโองการรับสั่งให้หาเจ้าต่างกรมและขุนนางผู้ใหญ่มาพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม(องค์เดิมภายในพระบรมมหาราชวัง)…”
ปุจฉาคือ “พระอาการที่แน่นพระอุระ” คืออาการอย่างไร ในที่นี้วิสัชนาตอบได้ว่า คือ อาการแน่นหน้าอกอันเกิดจากอุระเสมหะ (เสมหะจุกอก) กล่าวคือ มีเสมหะอุดตันในหลอดลมและในช่องปอด หรือลมจุกเสียดแน่นหน้าอก หรือหลอดลมตีบหายใจลำบาก ซึ่งอาจสรุปได้ว่าเป็นอาการหอบหืด ข้อสังเกตคือ โดยทั่วไปแล้วตำรับยาของหมอหลวง จะประกอบด้วยสมุนไพรชุดใหญ่หลายชนิด แต่พระโอสถสุดท้ายถวายคิงมงกุฎกลับเป็นแค่พืชวัตถุตัวเดียว คือ “ไพลกับเกลือเจือด้วยเวทมนตร์คาถา” ซึ่งสามารถพยุงพระชนม์ชีพอยู่ต่อไปได้ถึง 5 วันแบบไม่ติดเตียงได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยทรงสามารถว่าราชการแผ่นดินสำคัญ เช่น ทรงมีกระแสพระราชดำริถึงผู้สืบราชสมบัติ ทรงแต่งพระคาถาขอขมาพระสงฆ์ราชาคณะทุกพระอารามหลวง ทั้งทรงขอขมาพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี และยังทรงมีพระมหากรุณาฯ พระราชทาทองคำแก่หมอนวดหมอยาเป็นจำนวนมากที่เข้าไปถวายการพยาบาลพระโรค ทั้งนี้โดยไม่มีแพทย์แผนตะวันตกเลย
ที่สำคัญคือ รัชกาลที่ 4 ทรงดำรงพระมรณานุสสติในวาระสุดท้าย โดยรับสั่งห้ามมิให้ข้าราชบริพารร้องไห้ และตรัสว่า “กายของฉันแม้กระสับกระส่ายอยู่ จิตจะไม่เป็นของกระสับกระส่าย ศึกษาอยู่อย่างนี้ ทำความไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้” และทรงปลงสังขารในท่าบรรทมสีหไสยาสน์ ตรัสว่า”เขาตายกันดังนี้” และเสด็จสวรรคตในวันมหาปวารณา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประสูติพอดี การที่รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระกำลังประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญในช่วง 5 วันสุดท้ายแห่งชนม์ชีพ ให้สำเร็จได้ด้วยดี ทั้งที่ทรงพระประชวรมีพระปรอทสูงด้วยเชื้อมาลาเรียแบบขึ้นสมองจากตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับ “พระโอสถไพล” ซึ่งปีจจุบันได้มีงานวิจัยทางคลินิก ศึกษาการออกฤทธิ์ของสารสำคัญของเหง้าไพล ได้แก่สารกลุ่มฟินิลบิวทินอยด์ และสารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์ ที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคหืดหอบ และภูมิแพ้ได้ผลดีมาก
โรคหอบหืด (Asthma) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายใน และจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ ส่งผลให้หายใจไม่สะดวกและมีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอาจเสียชีวิตได้หากอาการรุนแรง หอบหืดไม่ใช่โรคติดต่อ แต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ ยกตัวอย่างการศึกษาฤทธิ์ของไพล ในการรักษาผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหืด โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเพื่อศึกษาดูผลการรักษาของไพลในขณะที่ผู้ป่วยเด็ก 8 ราย มีอาการหอบหืด และไม่ได้รับยาชนิดใดมาก่อน ผู้ป่วยรับประทานไพลขนาด 250 มิลลิกรัม พบว่าค่าเฉลี่ยของผู้ป่วยหลังการให้ไพลมีอาการหอบลดลง สมรรถภาพปอดดีขึ้น ในขณะที่ชีพจร และความดันโลหิต เป็นปกติ
ช่วงที่สองได้ศึกษาผลของไพล ในการรักษาโรคหืดในระยะยาว โดยศึกษาในผู้ป่วย 12 ราย ให้ผู้ป่วยรับประทานยาไพลครั้งละ 1 แคปซูล (มีผงไพล 130 มิลลิกรัม) หลังอาหารเช้าและเย็น เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าระหว่างการใช้ไพล ผู้ป่วยมีอาการหอบลดลง และการทดสอบฤทธิ์ของไพลเพื่อป้องกันอาการหอบหืดในผู้ป่วยโรคหืดเรื้อรัง ที่มีอาการของโรคในขนาดปานกลางจำนวน 22 ราย โดยใช้ยาในขนาด 500, 750 และ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน กับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวระหว่าง 35-50, 50-55 และตั้งแต่ 55 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ยาโดยแบ่งให้กินวันละ 2 ครั้ง ผลการศึกษาพบว่า ไพลทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ตั้งแต่น้อยถึงมากเป็นจำนวน 19 ราย และไม่ได้ผล 3 ราย แต่อาการแทรกซ้อนเนื่องจากยาจากสมุนไพรไพลมีน้อยมาก
ในหลายพื้นที่ทั่วไทย กําลังประสบปัญหาสุขภาพอันเกิดจากฝุ่น PM 2.5 ที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง ได้แก่โรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด ไพลจึงเป็นสมุนไพรทางเลือกตัวหนึ่งที่ตอบโจทย์นี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กำลังร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เพื่อต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมยาสมุนไพรชนิดแคปซูลไพลซึ่งมีสรรพคุณรักษาอาการโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจ ที่มีประสิทธิภาพแต่มีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศ
ระหว่างรอผลิตภัณฑ์ยาไพลมาตรฐาน เราสามารถปรุงยาไพลอย่างเดียวกับ”พระโอสถไพล”ที่ถวายรัชกาลที่4 โดยนำเหง้าไพลสดมาตำคั้นเอาน้ำไพลปริมาณ 50 มิลลิลิตร ผสมเกลือสมุทรปลายช้อนชาดื่มวันละครั้ง จะช่วยให้ระบบทางเดินหายใจโล่ง มีกำลังงวังชาขึ้น.