สังคมไทยมีอะไรพิเศษที่หาได้ไม่ง่ายในสังคมวัฒนธรรมประเทศอื่น ๆ พื้นฐานคนไทยเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกถึง”รอยยิ้มสยาม” และความมีน้ำใจเอื้ออารี สิ่งเหล่านี้ในยามปกติก็เหมือนปกติทั่วไป แต่ยามวิกฤติวัฒนธรรมไทยนี้เป็นจุดแข็งที่คอยโอบอุ้มผู้คนให้ผ่านพ้นความยากลำบากไปด้วยกันอย่างน่าชื่นใจ
“ตู้ปันสุข ปันกันอิ่ม” ที่มีของกินของใช้กระจายเกือบทั่วประเทศช่วยเหลือเรื่องปากท้องเฉพาะหน้าได้อย่างดีแล้ว แต่ชาวบ้านหลายพื้นที่มีวิสัยทัศน์ไปไกลกว่า คิดช่วยกันทำเรื่องปากท้องในอนาคตด้วย ซึ่งยังอยู่ในแนวคิดเอื้ออาทรต่อกันนั่นเอง “ตู้ปันเมล็ดพันธุ์” จึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น ชาวบ้านแถวตำบลปากนคร จ.นครศรีธรรมราช รับมือกับวิกฤติและยังวิเคราะห์ปัญหาตนเองว่า โควิด-19 จะอยู่ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจะกระทบถึงชาวบ้านจำนวนมาก ทำให้ขาดรายได้ คนจะยากจนเพิ่ม และค่าใช้จ่ายครัวเรือนก็จะสูงขึ้น ชาวบ้านรวมกลุ่มระดมสมองและทำการเก็บข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายเรื่องผัก พบว่า เช่นหมู่บ้านหนึ่ง 420 ครัวเรือน ใช้จ่ายซื้อผักเฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งหมู่บ้านก็ราว 420,000 บาทต่อเดือน
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สร้างปัญหาต่อสุขภาพและสังคมหนักหนา แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ชุมชนเร่งสร้างภูมิคุ้มกันทางชีวิตและสังคมได้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะแหล่งอาหารและสมุนไพร ซึ่งเป็นสองของปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อชีวิต หากสังเกตให้ดี “ตู้ปันเมล็ดพันธุ์” ของชาวบ้านแม้จะดูเหมือนเป็นแค่เรื่องผัก แต่พืชผักหลายชนิดก็คือสมุนไพรที่เป็นทั้งอาหารและยา เช่น พันธุ์ขี้เหล็ก หรือผักเค็ท เป็นไม้ล้มลุกลำต้นสูงประมาณ 1.5 เมตร ดอกมีสีเหลืองเหมือนดอกขี้เหล็กบ้าน ใช้ยอดอ่อน ดอก มาปรุงอาหารจำพวกแกงเลียง แกงเผ็ด หรือผัดรสชาติหวานอมมัน และชาวบ้านนำมาใช้ทางยาสมุนไพร คือ รากใช้ดับพิษร้อนในร่างกาย ใบนำมาต้มน้ำอาบ แก้ผื่นคัน รักษาแผลได้ เป็นต้น
หลายคนอาจนึกว่าผักเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้เลื้อยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังมี “ผักยืนต้น” ด้วย โอกาสที่โควิด-19 มาข้องเกี่ยวในชีวิตเรายาวนานก็น่าจะหันมาปลูกผักยืนต้นด้วย ยกตัวอย่างต่อเนื่องจากผักขี้เหล็กหวาน ก็ควรปลูกขี้เหล็กที่เป็นไม้ยืนต้นด้วย ขี้เหล็กเป็นไม้พื้นเมืองในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว หากนำไปปลูกแซมไม้ผล ปลูกเป็นแนวรั้ว แนวกันลมกันไฟก็ได้ และช่วยป้องกันการพังทลายของดินได้ด้วย และที่สำคัญซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ขี้เหล็กเป็นพืชตระกูลถั่ว ปลูกแล้วช่วยฟื้นฟูดิน เพิ่มไนโตรเจนให้กับดินได้ด้วยเช่นกัน การปลูกใช้วิธีเพาะเมล็ดในถุงก่อนนำลงไปปลูกในดินก็จะสะดวก และเป็นต้นที่ปลูกง่าย ไม่ต้องการการดูแลพิเศษอะไร ขี้เหล็กปรุงอาหารจำพวกแกง หรือเป็นผักจิ้มน้ำพริกก็ได้ ในสรรพคุณสมุนไพรแนะนำให้กินแกงขี้เหล็กจะช่วยให้นอนหลับ และช่วยเป็นยาระบายแก้ท้องผูกด้วย
นอกจากปลูกผักขอแนะนำให้ปลูกสมุนไพรไม้ยืนต้นในฤดูฝนนี้ด้วยเลย เช่น มะตูม ซึ่งปกติเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือตามหัวไร่ปลายนา แต่ระยะหลัง ๆก็หดหายไปมาก มะตูมจึงน่าปลูกไว้สักต้นสองต้นในพื้นที่ ปลุกด้วยการเพาะเมล็ดง่ายมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าอัตราการงอกไม่สูงมากนัก แต่ก็งอกได้ ให้เก็บเมล็ดจากผลสุก นำมาล้างแล้วตากแดด อาจแช่นน้ำร้อนก่อนนำไปเพาะจะช่วยกระตุ้นการงอกได้ดียิ่งขึ้น ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เมล็ดจะงอก พอกล้าอายุ 2-3 เดือนก็นำไปลงดินได้ หรือวิธีลัด คือ ไปดูข้างๆ ต้นมะตูมจากธรรมชาติ หรือบ้านใครปลูก ก็ไปลองดูกล้าที่งอกจากผลแก่ที่ร่วงหล่นตามโคนต้น นำมาขยายพันธุ์ปลูกต่อได้เลย
มะตูมยังถือเป็นไม้มงคล ดอกและใบมีกลิ่นหอมปลูกไว้ได้กลิ่นชื่นใจ ผลหรือลูกออกปีละครั้ง มะตูมสุกเก็บมาทำอาหารได้ ในการใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพร นิยมใช้มะตูมแห้ง 2-3 ชิ้น ต้มกับน้ำ 1 แก้ว ดื่มน้ำมะตูมวันละ 4 ครั้ง ๆ ละ 1 แก้ว หรือกินเนื้อมะตูมสุกตามธรรมาติก็ได้ กินครั้งละ 1 ลูก เช้าเย็นก็ได้ หรือบางท่านนิยมต้มน้ำมะตูมดื่มกินเป็นประจำก็ถือเป็นยาบำรุงหรือยาอายุวัฒนะด้วย
แนะนำอีกสักต้น เพราะมูลนิธิสุขภาพไทยเคยลงพื้นที่ในหมู่บ้านก็พบชาวบ้านปลูกต้นทองพันชั่งไว้เกือบทุกบ้าน และปลูกเป็นแนวรั้วอย่างสวยงาม ทองพันชั่งเป็นไม้พุ่มที่ปลูกแล้วสูงใหญ่ได้ถึง 2 เมตร แต่ส่วนมากคนปลูกจะตัดกิ่งไม่ให้สูงเกินไปนัก ก็จะได้ต้นทองพันชั่งเป็นพุ่มงามและได้ดอกสีขาวออกเป็นช่อ มีสีขาวรูปร่างคล้ายนกกระยาง ซึ่งให้ความสวยงามดี การปลูกทองพันชั่งง่าย ๆ นิยมใช้วิธีปักชำมากกว่าเพาะเมล็ด ให้เลือกกิ่งแก่ที่มีตาติดอยู่ 2-3 ตา เด็ดใบออก แล้วนำไปปักชำในถุงก่อนก็จะดูแลง่าย เมื่อกิ่งแตกกิ่งก้านใบใหม่ดีแล้วค่อยนำลงดิน ทองพันชั่งเป็นพืชตายยาก ปลูกแล้วอยู่ได้หลายปี ทองพันชั่งมีชื่อเสียงในทางยาคือ นำใบแห้งมาชงชาดื่มต่างน้ำ เพื่อแก้พิษไข้ และเป็นยาบำรุงหรือยาอายุวัฒนะ และใช้เป็นยาภายนอก นำใบมาแช่กับเหล้าหรือแอลกอฮอล์ เก็บไว้ 1 สัปดาห์ กรองเอาแต่น้ำยามาทาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และผดคันต่าง ๆ
พันธุกรรมพืชผักและสมุนไพรอันหลากหลายในเมืองไทยเป็นต้นทุนของชีวิตและทางสังคมที่สำคัญยิ่งของไทย เมื่อร่วมกับหัวใจ “ปันกัน” ก็ยิ่งช่วยให้เมืองไทยน่าอยู่และมีความมั่นคงทางอาหารและสมุนไพรแน่นอน.