ความรู้หรือภูมิปัญญาดั้งเดิมมากมายหลายอย่างที่นำมาใช้ประโยชน์ในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะสมุนไพรหรือประโยชน์จากต้นไม้ใบหญ้า ความรู้ที่อยู่ในพระไตรปิฎกและเรื่องราวพระพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลก็มีผู้ศึกษาค้นคว้านำมาใช้ในโลกนี้มากมายเช่นกัน วันนี้จะนำภูมิปัญญาที่น่าสนใจตั้งแต่โบราณมานำเสนอชวนให้คิดและศึกษา จากการวิเคราะห์การดำรงชีวิตของพระสงฆ์ในอินเดียสมัยพุทธกาล พบว่าในยุคนั้นมีความรู้อย่างหนึ่งในการทำน้ำให้สะอาด ซึ่งเป็นสุขอนามัยที่ชาญฉลาดมาก
นั่นคือการนำเอาเมล็ดของต้นคะตะกะ (Kataka) มาแช่ในน้ำจะทำให้น้ำที่ขุ่นใสขึ้นมาได้ เมื่อสืบค้นเพิ่มเติมจึงทราบว่า ต้นคะตะกะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strychnos potatorum L.f. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Clearing Nut ซึ่งชื่อสามัญในภาษาอังกฤษแสดงให้เห็นความพิเศษหรือสรรพคุณของสมุนไพรต้นนี้ ที่พระภิกษุสมัยพุทธกาลใช้เมล็ดของพืชนี้ช่วยทำน้ำขุ่นให้ใสได้ และจากชื่อวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบว่าต้นคะตะกะนี้อยู่ในสกุลเดียวกับต้นตูมกาในบ้านเรา จึงขอเรียกต้นนี้ว่า ตูมกาน้ำใส เพื่อให้เข้าใจง่าย และตามข้อมูลเอกสารพบว่าคนอินเดียและคนพม่ามีความรู้ในการนำเอาเมล็ดของต้นตูมกาน้ำใสมาทำให้น้ำใสได้มานานนับเป็นพันปีมาแล้ว
ต้นตูมกาน้ำใส เป็นต้นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 12 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ มีใบหนาแน่น ใบเรียงตรงข้าม มีเส้นใบ 3-5 เส้นจากโคน รูปไข่ถึงรูปไข่กลับ สีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบบาง ไม่มีขน ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบหลายช่อ มีก้านดอก ช่อดอกมีเพียงไม่กี่ดอก สีขาวถึงเขียวอมเหลือง ผลทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 20 มิลลิเมตร เมื่อสุกเป็นสีม่วงดำ คล้ายองุ่น เปลือกแข็ง เมล็ดมี 1-2 เมล็ด จากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว กล่าวว่าตูมกาน้ำใสมีถิ่นกำเนิดในอาฟริกาตะวันออก มาดากัสกา ศรีลังกา อินเดียและเมียนมา ส่วนใหญ่พบตามริมฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงความสูง 1,600 เมตร เหนือน้ำทะเล
ความรู้ตูมกาน้ำใสเป็นความรู้ที่มีสายธารสืบมาแต่ดั้งเดิมที่ยังใช้ถึงในปัจจุบัน เพราะถ้าใครไปท่องเที่ยวในชุมชนอินเดียและพม่าก็จะพบว่าเมล็ดตูมกาน้ำใสมีจำหน่ายตามตลาดพื้นเมืองทั่วไป นอกจากนี้คนพื้นเมืองยังนำเอาผลและเปลือกมาบดเพื่อใช้เป็นยาเบื่อปลาด้วย ผลอ่อนรับประทานได้และนิยมนำมาทำเป็นแยม และในศาสตร์อายุรเวทก็นำสมุนไพรนี้มาใช้แทนกาแฟด้วย
ในมุมมองทางการแพทย์แบบอายุรเวท นำใบมาตำพอกใช้รักษาอาการตาพร่ามัวและปวดตา และใช้ใบเป็นยาต้ม รักษาโรคลมบ้าหมู รากมีฤทธิ์ในการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ รากนำมาต้มให้ได้ไอน้ำขึ้นมาใช้สูดดมเพื่อรักษาโรคหวัดและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รากและใบนำมาต้มรวมกันดื่มแก้ไอ เมล็ดใช้รักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ มากมาย รวมถึงอาการที่ส่งผลต่อตับ ไต และกระเพาะอาหาร โรคหนองใน โรคตกขาว โรคหลอดลมอักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง แก้อาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ แก้นิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ และช่วยบรรเทาเบาหวาน
ในอินเดียยังมีการแพทย์ดั้งเดิมอีกระบบหนึ่งเรียกว่า การแพทย์อูนานี กล่าวถึงเมล็ดตูมกาน้ำใสมีรสขม ใช้เป็นยาฝาดสมานลำไส้ เป็นยาปลุกอารมณ์ทางเพศ บำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ และดีต่ออาการผิดปกติของตับและไต รักษาโรคหนองใน และอาการปวดเกร็ง รากรักษาโรคผิวหนังขาว ส่วนผลมีประโยชน์ในการรักษาโรคตา แก้อาการกระหายน้ำ แต่มีความเป็นพิษ จะทำให้ประสาทหลอน ดังนั้นต้องเป็นผู้รู้จริงในการใช้และมีการใช้อย่างระมัดระวัง
จากงานศึกษาวิจัยพบว่าในต้นตูมกาน้ำใสมีสารอินโดลอัลคาลอยด์โมโนเมอร์และไดเมอร์จำนวนมาก โดยพบมากในเปลือกราก และพบว่ามีสารแคนท์เลย์อีน (cantleyine) ซึ่งเป็นอัลคาลอยด์โมโนเทอร์พีน ที่แยกได้จากเปลือกรากมีผลต่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลม และอาจเป็นส่วนประกอบที่ออกฤทธิ์ซึ่งมีหน้าที่ในการต่อต้านอาการไอและต่อต้านโรคหอบหืด และยังมีสารเรียกว่า นอร์มาคูซีน บี (Normacusine B) ซึ่งเป็นอัลคาลอยด์โมโนเมอร์ในกลุ่มคอรีแนนธี (corynanthe) ซึ่งสารนี้ยังพบได้ในระย่อม (Rauvolfia) ต้นพุด (Tabernaemontana) และแพงพวย (Vinca) spp. ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้แรงกว่ายารีเซอร์พีน (reserpine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง
สารสกัดอัลคาลอยด์ทั้งหมดที่พบในเมล็ด เปลือกและใบ มีฤทธิ์ในระดับสัตว์ทดลองมีผลลดความดันโลหิตอย่างเห็นได้ชัดและแสดงฤทธิ์กดประสาทต่อกล้ามเนื้อหัวใจด้วย และมีการทดลองในสัตว์โดยใช้ผงจากเมล็ดและสารสกัดจากเมล็ดที่สกัดด้วยน้ำ สามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะได้โดยพบว่ามีการลดการหลั่งกรดและเพิ่มการหลั่งของเมือก และยังมีการทดลองพบว่าสารสกัดจากเมล็ดที่สกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ในการปกป้องตับได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนสารสกัดที่ได้จากการสกัดด้วยเมทานอลจากเมล็ดมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะและต่อต้านอาการท้องร่วงที่เกิดจากน้ำมันละหุ่งด้วย
ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมนำเอาเมล็ดมาถูรอบ ๆ ด้านในของภาชนะดินเผาแบบหยาบ แล้วใส่เมล็ดนั้นลงในไปในภาชนะที่มีน้ำบรรจุอยู่ พบว่าทำให้สิ่งสกปรกส่วนใหญ่ในน้ำจมลงไปที่ก้นภาชนะหลังจากนั้นสามารถเทน้ำสะอาด ๆ ที่อยู่ด้านบนออกไปใช้ได้ เหตุผลที่อธิบายด้วยวิทยาการปัจจุบันพบว่าในเมล็ดของตูมกาน้ำใสมีสารโพลีอิเล็กโทรไลต์ที่สามารถใช้เป็นสารตกตะกอนเพื่อทำให้น้ำขุ่นใสขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการย่างน้อย 5 รายการจากประเทศอินเดีย ในช่วงปี ค.ศ. 2021-2022 ที่ทำการกรองน้ำผิวดินที่ขุ่นโดยใช้เมล็ดตูมกาน้ำใสเป็นสารตกตะกอน ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้นและจุลินทรีย์ก็ลดลงอย่างมาก และยังนำไปใช้จริงกับน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคในที่พักอาศัยที่อยู่ห่างไกล
เนื้อไม้ของต้นตูมกาน้ำใสมีสีเทาอมเหลือง มีลายไม้สีขาวเด่นชัด ลายไม้ละเอียด แข็งมาก ทนปลวก แต่แตกง่ายเหมาะใช้ทำเกวียน ด้ามคันชัก เครื่องมือการเกษตร ด้ามเครื่องมือ ฯลฯ ตูมกาน้ำใสจากสมัยพุทธกาลมีประโยชน์มากมายสู่โลกอนาคตได้.