พันธุ์ไม้เหล่านี้มีอัตราเสี่ยงในการที่จะสูญพันธุ์สูงเนื่องจากแต่ละชนิดมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่ช่วยในการรักษาโรคได้อย่างดี แต่อัตราการเกิดและการอยู่รอดที่จะเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกทำลายมีมาก พื้นที่ของป่าชุมชนก็มีจำนวนจำกัด ดังนั้นชุมชนจึงมีความจำเป็นและต้องเข้าใจในการที่จะเพาะขยายพันธุ์เพื่อที่จะนำไปปลูกทดแทนในป่า และส่งเสริมให้มีการปลูกตามหัวไร่ปลายนาในชุมชนต่อไป
ชื่อท้องถิ่น ตูมกา ขี้กา มะตูมกา
ชื่อสามัญ ตูมกาขาว
ชื่ออื่นๆ กล้อวูแซ กล้ออึ กล๊ะอึ้ ชี้กา ปลูเวียต มะติ่ง มะติ่งต้น มะติ่งหมาก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Strychnos nux-blanda A.W.Hill
ชื่อวงศ์ STRYCHNACEAE
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 25 เมตร ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่กว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาว 10-14 เซนติเมตร ดอกช่อออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ผลสดรูปทรงกลม ขนาดใหญ่กว่าพญามูลเหล็ก เมื่อสุกสีส้ม เมล็ดกลมแบนคล้ายกระดุม
การใช้ประโยชน์
ต้นและรากต้มน้ำดื่มหรือฝนทาแก้ปวดข้อ แก้อักเสบจากงูกัด แก้ไข้มาลาเรีย ใบตำพอกแก้ฟกบวม
การขยายพันธุ์ ขั้นตอนการขยายพันธุ์
1. เก็บผลตูมกาที่สุกและแก่เต็มที่จะมีลักษณะผลสีส้ม ผลสุกจะนิ่มสามารถแกะเอาเมล็ดได้โดยเมล็ดมีลักษณะกลมแบนคล้ายกระดุม ลูกตูมกา 1 ลูกจะมีเมล็ดภายในผลประมาณ 20 -30 เมล็ด
2. นำเมล็ดที่ได้นำมาล้างน้ำให้สะอาดและนำมาตากแดดให้แห้งประมาณ 2-3 แดด
3. เตรียมถุงดำที่กรอกส่วนผสมของวัสดุเพาะโดยมีส่วนผสมของแกลบสุกทำการผสมกับดินร่วมปนทรายในอัตรา 1:1 สถานที่เพาะร่มลำไรแดดสามารถส่องถึงได้ประมาณ 40 % ของความเข้มข้นของแสง
4. นำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้นำมาหยอดใส่ถุงเพาะชำหยอดลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มอยู่ตลอดเวลา 3-5 วัน/ครั้งสังเกตอย่าให้เปียกหรือแฉะจนเกินไปจะทำให้เมล็ดพันธุ์เน่าเสียได้
5. ทำการดูแลรักษารดน้ำสม่ำเสมอประมาณ 45-60 วันเมล็ดก็จะเริ่มงอก
6. เมื่อต้นกล้าโตขนาด ความสูง 5-10 เซนติเมตรให้ย้ายต้นกล้าออกที่โล่งแจ้งจะทำให้ต้นกล้าแข็งแรงยิ่งขึ้น
สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ 2537
สงวนลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ ถ่ายสำเนา หรือคัดลอกข้อความ หรือรูปที่ปรากฏในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดในเอกสารนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมูลนิธิสุขภาพไทย เป็นลายลักษณ์อักษร