เอ่ยถึง ตุ๊กแก สัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งที่หลายคนไม่ชอบไปถึงขั้นกลัวหรือออกอาการรังเกียจทีเดียว แต่ด้วยธรรมชาติสร้างให้ส่วนของตีนตุ๊กแกมีลักษณะพิเศษ เกาะผนังได้อย่างเหนียวแน่น ใครที่เคยพลาดพลั้งเจอตุ๊กแกโจมตีกระโดดมาเกาะร่างกายก็จะรู้ว่าความลำบากสาหัสมาเยือน เพราะเหนียวหนึบ จนคนทั่วไปเรียกผลิตภัณฑ์ประเภทเทปหรือผ้าที่นำมาใช้สำหรับติดเสื้อผ้าสิ่งของชนิดหนึ่งว่า เทปตีนตุ๊แก (เมจิกเทป, เวลโครเทป)
แต่ตีนตุ๊กแกในที่นี้ คือ ไม้ประดับชนิดหนึ่งที่คนไทยกลับนิยมไม่รังเกียจ เพียงเรียกชื่อให้เทียบเคียงความยึดเกาะเพราะปลูกให้เลื้อยไปตามกำแพงจึงเรียกชื่อ “ตีนตุ๊กแก” แต่ทางราชการเรียกว่า “เดื่อเถา” ซึ่งชื่อนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นไม้อยู่ในกลุ่มมะเดื่อ ตีนตุ๊กแกมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Climbing fig หรือแปลเป็นไทยได้ว่า มะเดื่อเถา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus pumila L.คำว่า pumila มาจากภาษาลาตินที่แปลว่า แคระ เพราะไม้ชนิดนี้เมื่อยังอ่อนมีใบขนาดเล็กมาก เป็นรูปหัวใจ
ตีนตุ๊กแกมีถิ่นกำเนิดในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เมียนมาร์ ลาวและเวียดนาม เป็นไม้ประดับเกาะเลื้อย ลำต้นมีเนื้อแข็ง กิ่งก้านเล็ก สีน้ำตาลเข้ม มีรากออกตามข้อใบเพื่อใช้เลื้อยเกาะ คืบคลานไปงอกงามได้ถึงระดับความสูง 1400 เมตร ลักษณะใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีถึงรูปไข่ ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแดง ใบแก่สีเขียวเข้ม ผิวหยาบและสากมือ ดอกอยู่ภายในฐานดอกที่ขยายออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบหรือใต้ใบ ผลสีเขียวรูปร่างคล้ายระฆังมีติ่งที่ก้นผล ผลที่เป็นหมันเป็นปมรูปกลม ๆ ผลที่สมบูรณ์เป็นรูปลูกแพร์ถึงรูปไข่กลับมีขนสั้นนุ่มกระจาย เมื่อสุกมีสีดำ
คนไทยอาจไม่รู้ว่า คนไต้หวันนิยมนำเอาผลตีนตุ๊กแกมาประกอบอาหาร โดยผ่าผลเป็น 2 ซีก ลอกผิวออก แล้วขูดเอาเมล็ดออกให้หมด กลับเอาด้านในออกมา นำมาตากให้แห้ง เมล็ดที่ขูดออกมา นำมาสกัดเอาเจลออกมาด้วยน้ำ ตั้งทิ้งไว้จะได้เจลลี่ คนไต้หวันเรียกว่า “อ้ายอวี้” (aiyu jelly หรือ aiyuzi) คนไทยเราเรียกตามแห่งที่มาให้เกียรติต้นแบบว่า “วุ้นไข่กบไต้หวัน” ส่วนในสิงคโปร์เรียกว่า เจลลี่น้ำแข็ง (ice jelly) ในบางประเทศนำผลมาทำเป็นแยมกินด้วย
การปลูกต้นตีนตุ๊กแกไว้ตามกำแพงควรรู้ไว้ด้วยว่า ยางจากต้นตีนตุ๊กแกก็คล้ายยางของพืชชนิดอื่นในตระกูลขนุน (Moraceae) ที่จะแพ้ได้ ใครที่สัมผัสกับน้ำยางต้นตีนตุ๊กแกแล้วไปถูกแดดอาจทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังที่รุนแรง ที่ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า phytophotodermatitis (ผื่นแพ้แสงจากพืช) แม้ว่าโดยทั่วไปพืชชนิดนี้จะไม่เป็นพิษ แต่ก็มีการจัดให้อยู่ในบัญชีฐานข้อมูลพืชมีพิษขององค์การอาหารและยาในบางประเทศเช่นกัน คงให้ระวังไม่ให้สัมผัสกับยาง
ในประโยชน์ทางสมุนไพร ที่ฟิลิปปินส์ใช้รักษาโรคหลายชนิด เช่น ใช้ต้นและใบนำมาต้มดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนม ปรับสมดุลของเลือด ภาวะโลหิตจาง ท้องเสียเรื้อรัง ประจำเดือนมาไม่ปกติ ริดสีดวงทวาร ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด ไขข้ออักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ส่วนของใบยังใช้ตำพอกรักษาฝีฝักบัวได้ด้วย ในกรณีที่เกิดภาวะท้องมาน ให้ใช้ขี้เถ้าจากต้นตีนตุ๊กแกลูบท้อง ผลใช้เข้ายารักษาอาการปัสสาวะรดที่นอน อัณฑะอักเสบ ในฐานข้อมูลสมุนไพรของฟิลิปปินส์พบว่า ส่วนของผลขนาด 9-24 กรัม นำมาต้มรวมกับต้นและใบแห้งขนาด 9-15 กรัม สามารถรักษาโรคไขข้อ ข้ออักเสบ และแก้ปวดเนื่องจากเคล็ดขัดยอกได้ ในนิวกีนีใช้รักษาไข้มาลาเลียและลดอาการอาเจียน
ในจีนในตำรับยาแผนโบราณของจีนใช้ส่วนของใบและลำต้นเข้ายาแก้ไข้ ใช้เป็นยาบำรุง ในฐานข้อมูลสมุนไพรจีนยังพบว่ามีการนำใบมาใช้แก้อาการปวดและบวม รักษาอาการท้องเสีย ปัสสาวะเป็นเลือด ฝีฝักบัว ทุกส่วนของพืชนำมาต้มดื่มแก้อาการหลั่งอสุจิออกมามากเกินไปหรือหลั่งออกมาแบบไม่รู้ตัว และยังใช้บำรุงน้ำนม รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ น้ำคั้นจากต้นตีนตุ๊กแกใช้รักษาโรคผิวหนังด้วย
ในญี่ปุ่นใช้ใบชงเป็นเครื่องดื่มรักษาเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะชาวโอกินาว่า ดื่มชาบำรุงสุขภาพที่ได้จากต้นและใบของต้นตีนตุ๊กแก มานานกว่า 500 ปี ซึ่งเรียกชื่อตีนตุ๊กแกด้วยภาษาพื้นเมืองว่า โอออยตาบิ Ooitabi) เรียกชานี้ว่า “อิชิมากิ” ซึ่งมีความเชื่อว่าสามารถลดความดันโลหิตได้ จากภูมิปัญญาดั้งเดิมญี่ปุ่นนี้นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นจึงได้ทำการทดลองกับผู้ป่วยและคนทั่วไป พบว่าการดื่มชา“อิชิมากิ” ทำให้ดัชนีมวลกายและความดันลดลง ทำให้สุขภาพดีขึ้น จากการศึกษาพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระในตีนตุ๊กแกเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความดันลดลง ทำให้ระบบเผาผลาญไขมันดีขึ้น และยังช่วยลดอาการโรคเก๊าท์ได้ด้วย ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2021 หรือ พ.ศ. 2564 ในวารสาร Journal of Human Nutrition and Dietetics
ฐานข้อมูลสมุนไพรของจีนบันทึกว่าตีนตุ๊แกช่วยรักษาอาการประจำเดือนผิดปกได้ นักวิทยาศาสตร์จีนจึงทำการทดลองในหนู พบว่าสารสกัดจากต้นตีนตุ๊กแกให้ผลในการควบคุมระดับฮอร์โมนเพศ ซึ่งแสดงถึงศักยภาพในการรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติได้ งานวิจัยนี้ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2016 หรือ พ.ศ. 2559 ในวารสาร Tropical Journal of Pharmaceutical Research นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกอย่างน้อย 16 รายการที่เกี่ยวกับสรรพคุณทางยาของต้นตีนตุ๊แก
ชาวบ้านในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของเทือกเขาหิมาลัยก็นิยมปลูกตีนตุ๊กแกให้เป็นรั้วแบ่งอาณาเขต และยังใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์เลี้ยงด้วย คนไทยเราโดยเฉพาะชุมชนเขตเมืองนิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามกำแพงหรือผนังบ้านกัน หากมาช่วยกันศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นอาหาร เครื่องดื่มและยาสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองหรือพัฒนาสู่รายได้ก็น่าจะดี นอกจากนี้ในวงการเกษตรใช้ต้นตีนตุ๊กแกเป็นต้นตอปลูกมะเดื่อฝรั่ง (Ficus carica L.) เพื่อต้านทานโรคหนอนไชรากได้ดีด้วย
ตุ๊กแกในบ้านคงไม่ค่อยสบายใจ แต่ต้นตีนตุ๊กแกน่าจะช่วยให้สุขภาพกายใจเราดีขึ้นได้.